เคาะ 18 หุ้นลงทุนโค้งสุดท้ายปี 62 ชูกำไร Q4 โตเด่น-พื้นฐานแกร่ง-ปันผลสูง!

เคาะ 18 หุ้นลงทุนโค้งสุดท้ายปี 62 ชูกำไร Q4 โตเด่น-พื้นฐานแกร่ง-ปันผลสูง!


เข้าสู่โค้งสุดท้ายการลงทุนปี 2562 เชื่อว่านักลงทุนคงมองหากลุ่มหุ้นที่น่าลงทุนสำหรับไตรมาส 4/62 อย่างแน่นอน ดังนั้นทางทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมข้อมูลจากบทวิเคราะห์โบรกเกอร์ชั้นนำของไทยอาทิ บล.เอเซีย พลัส,บล.กรุงศรี และบล.โนมูระ พัฒนสิน ซึ่งคัดกลุ่มหุ้นที่มีกำไรโดดเด่นไตรมาส 4 น่าลงทุน 18 ตัว อาทิ GPSC, CPF, AOT, ERW, TASCO, EPG, SAWAD, MTC, JMT, BCH, CHG, BDMS,GFPT, AMATA,WHA, ADVANC, JMART, ICHI โดยมีปัจจัยหนุนหุ้นดังนี้

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลยุทธ์ลงทุนไตรมาส 4/62 แนะนำ Overweight กลุ่มท่องเที่ยว(ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ),กลุ่มอาหาร(วงจรราคากลุ่มโปรตีนขาขึ้น หนุนธุรกิจหมู ไก่ ในเอเชีย),กลุ่มนิคมฯ(ประโยชน์จากสงครามการค้า หนุนการย้ายฐานการผลิตระยะยาวสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้),กลุ่มปันผลสูง,กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำ,กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งค่าและหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่มีผลประกอบการฟื้นตัวเด่น แนะนำ 4Q19 Theme : Sign of recovery in earnings : CPF, GFPT, AOT, ERW, AMATA, WHA, ADVANC, JMART, ICHI  

 

บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คงมุมมองเป็นลบคาด SET Index มีโอกาสอ่อนตัวลงไปทดสอบแนวรับที่ระดับ 1,560 จุด อีกครั้ง ตลาดยังถูกกดดันจากหลายปัจจัยลบ โดยเฉพาะปัญหา Trade war ระหว่างจีนกับสหรัฐมีแนวโน้มยืดเยื้อหลังจาก โดนัล ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์ว่าการบรรลุข้อตกลงคงต้องรอหลังการเลือกตั้งของสหรัฐในเดือน พ.ย.ปีหน้า

นอกจากนี้ปัญหา Trade ยังมีแนวโน้มรุกรามไปสู่ประเทศคู่ค้าอื่นๆ หลังจากสหรัฐเตรียมประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากบราซิล และ อาร์เจนติน่า และเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากฝรั่งเศส ออสเตรีย, อิตาลี และตุรกี เพื่อตอบโต้ที่ประเทศเหล่านี้วางแผนจะเรียกเก็บภาษีกับกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีของสหรัฐ

กลยุทธ์การลงทุน: Selective Buy 

กลุ่ม Domestic Play AOT, ADVANC, INTUCH, BTS, BEM

กลุ่มที่คาดว่างบ 4Q19 จะเติบโตขึ้น ได้แก่ GPSC, CPF, ERW, TASCO, EPG, SAWAD, MTC, JMT, BCH, CHG

กลุ่ม Dividend Stock: KKP, TISCO, TTW

 

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดเม็ดเงิน LTF ปีสุดท้าย06แต่ (หวัง) ไม่ท้ายสุด ช่วยพยุงตลาดแม้ตัวเลขหนี้สินต่อครัวเรือนคนไทยจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ตามรายละเอียดที่กล่าวไว้ข้างต้น) แต่ในมุมการออมเงินผ่านกองทุนประหยัดภาษีกลับได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดย 5 ปีหลังสุด มียอดซื้อ LTF สูงเกินกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี และล่าสุดในปี 2561 เป็นปีที่นักลงทุนซื้อ LTF มากที่สุดถึง 7.66 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้หากวิเคราะห์พฤติกรรมของนักลงทุนที่ซื้อ LTF ตามสถิติในอดีตย้อนหลัง 14 ปี พบว่า แรงซื้อ LTF มักกระจุกตัวอยู่ในเดือน ธ.ค. กว่า 45.1% ของยอดซื้อทั้งปี ตอกย้ำด้วยสถิติการซื้อขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนสถาบันฯ ย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ในเดือน ธ.ค. สถาบันฯมักซื้อสุทธิเฉลี่ยหุ้นไทย สูงสุดของปีถึง 1.31 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิ 9 ใน 10 ปี ดังนั้นความหวังช่วงโค้งสุดท้ายของปี ถูกฝากไว้กับแรงขับเคลื่อนจากเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาซื้อ LTF ก่อนสิ้นปี

และหากกลับมาพิจารณาภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือน พ.ย. 2562 แม้เผชิญกับหลากหลายปัจจัยลบ รวมถึงต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นไทย 4.5 พันล้านบาท(mtd) แต่ตลาดหุ้นไทยติดลบเล็กน้อยเพียง 0.24%(mtd)  เนื่องจากได้แรงหนุนจากนักลงทุนสถาบันฯที่ซื้อสุทธิ 3.8 พันล้านบาท และเชื่อว่าในเดือน ธ.ค. น่าจะเห็นแรงซื้อจากสถาบันฯ เร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ต้องติดตามเพิ่มเติมคือ รายละเอียดและความชัดเจนของกองทุน LTF ใหม่ จากกระแสข่าวเบี้องต้น คาดว่ามีการขยายระยะเวลาการถือครองจาก 7 ปี เป็น 10 – 15 ปี และกำหนดวงเงินลงทุนเมื่อรวมกับการลงทุนในกองทุน RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี หรือไม่เกิน 30% ของรายได้ เพื่อจูงใจให้คนรุ่นใหม่ออมระยะยาวมากขึ้น

โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนสิ้นปี 2562 นี้ หากเป็นตามข้อกำหนดนี้จริงจะกดดันให้แรงซื้อ LTF ในปีถัดไปลดลงอย่างมีนัยฯ แต่ยังมีความโชคดีจากในช่วงปี 2563 และ 2564 ไม่มีเม็ดเงิน LTF ที่ครบกำหนดขาย เนื่องจากผู้ที่ซื้อ LTF ปี 2559 มีการครบกำหนดขายได้อีกที่ในปี 2565 ทำให้ผู้จัดการกองทุนไม่จำเป็นต้องสำรองเม็ดเงินไว้รองรับการไถ่ถอน ดังเช่นทุกๆ ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเชื่อว่าในช่วงปลายปีนี้ จึงน่าจะเห็นแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันเข้ามาขับเคลื่อนตลาดหุ้นได้

โดยล่าสุดนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอเปลี่ยนแปลงรูปแบบกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะครบกำหนดภายในปี 62 นี้ เป็นกองทุนใหม่ภายใต้ชื่อ “กองทุนเพื่อการออมระยะยาวรูปแบบใหม่” หรือ Super Savings Fund (SSF) โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้นเป็น 30% (จากเดิม 15%) แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท แต่เมื่อรวมกับวงเงินลดหย่อนจากกองทุนอื่นแล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปีภาษี และกำหนดระยะเวลาการถือครอง 10 ปี จากเดิม 7 ปี

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ (RMF) โดยให้สามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้นเป็น 30% จากเดิม 15% ส่วนวงเงินยังคงต้องไม่เกิน 5 แสนบาทตามเดิม

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button