เจาะทิศทางกลุ่มค้าปลีก! ชู 2 ตัวท็อปกำไรไตรมาส 4 โต-มีลุ้นปิดดีล “Tesco Lotus”
เจาะทิศทางกลุ่มค้าปลีก! ชู 2 ตัวท็อปกำไรไตรมาส 4 โต-มีลุ้นปิดดีล “Tesco Lotus”
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นกลุ่มค้าปลีก เนื่องจากในไตรมาส 4 ยอดขายยังชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ต้องจับตาคือการขายกิจการ “Tesco Lotus” ในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ต่างให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ (19 ธ.ค.62) ว่าภาพรวม SSSG update เดือน ต.ค.-พ.ย.62 กลุ่มค้าปลีกยังดูแผ่วลงต่อจากไตรมาส 3/62 แรงกดดันหลักมาจากทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจที่ทรงตัวต่ำ ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ผ่านมาเป็นขาลงต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ขณะที่มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สร้างผลบวกต่อผู้ประกอบการค้าปลีก modern trade รายใหญ่มากนัก เพราะติดเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการที่จำกัดจำนวนสาขาแต่ละบริษัทที่จะเข้าร่วม ทั้งนี้ BJC ยังเป็นผู้ประกอบการที่ SSS ยังติดลบมากสุดราว -5% ในช่วงต.ค.-พ.ย.19 (ไม่รวม ROBINS) ตามด้วย HMPRO ที่ -2% ในขณะที่ MAKRO ยังบวกได้ +4-5% ส่วนหนึ่งเพราะคาดเป็นผู้ประกอบการค้าส่ง ทำให้ช่วงเศรษฐกิจไม่ดีจะได้รับความนิยมมากขึ้น
ทั้งนี้ คาดกำไรปกติไตรมาส 4/62 ของกลุ่มค้าปลีกโตช้าลง เพราะแรงฉุดเกิดจากฝั่งรายได้ โดยนอกเหนือจากคาด SSSG ไตรมาส 4/62 กลุ่มค้าปลีก (ไม่รวม ROBINS) มีแนวโน้มอยู่ในแดนลบจากไตรมาส 3/62 ที่ +0.4% แล้ว คาดรายได้จากสาขาใหม่ในรอบปีก็มีจำกัดด้วย เพราะการขยายสาขาของกลุ่มค้าปลีกในปีนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบสาขาเล็ก ดังนั้น จึงให้น้ำหนักปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตในไตรมาส 4/62 จึงยังอยู่ที่อัตราทำกำไรที่จะดีขึ้นจากการปรับกลยุทธ์ต่างๆ เช่น เพิ่ม Mixed สินค้าเฮาส์แบรนด์หรืออาหารสด (HMPRO, CPALL, MAKRO), การคุมประสิทธิภาพ supply chain (HMPRO , BJC) และปัจจัยเฉพาะตัวได้แก่ CPALL ที่ผ่านพ้นช่วงครบรอบปีการปรับฐาน margin ของการใช้ฟรีค่าธรรมเนียมของ mobile banking
ส่วน HMPRO คาดขาดทุนสาขาในมาเลย์จะลดลง ทั้งนี้ คาดกำไรปกติไตรมาส 4/62 ของ HMPRO และ CPALL จะโตจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ดีกว่ากลุ่ม ขณะเดียวกัน คาด BJC และ ROBINS เป็นผู้ประกอบการที่จะรายงานกำไรปกติลดลงจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน เพราะ BJC มีปัญหาเกี่ยวกับการรักษาความสามารถในการทำกำไร (GPM ธุรกิจดั้งเดิมลงสวนทางกับ SG&A/sales ที่เร่งตัวขึ้น) ส่วน ROBINS ถูกฉุดจาก SSSG และกำไรของบริษัทลูกที่แย่ลง (Power buy, Super sport) ประมาณการ ROBINS ทั้งปีจึงมีโอกาสเกิด downside
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ (19 ธ.ค.62) ถึงกรณีที่ นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้าและโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่าได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ติดตามการรวมธุรกิจอย่างใกล้ชิดในกรณีการขายกิจการ “Tesco Lotus” ในประเทศไทย
โดยคาดว่าอาจมีการเปิดประมูลราคาซื้อขายช่วงต้นปี 63 ในเบื้องต้นสนค.ทราบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่หลายรายให้ความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการ ซึ่งการซื้อขายต้องขออนุญาตและต้องได้รับการอนุญาตจากกขค. ก่อนเนื่องจากเข้าข่ายเป็นการรวมธุรกิจตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 หากฝ่าผืนต้องถูกลงโทษปรับสูงสุดในอัตรา 0.5% ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ
สำหรับความเห็นของ บล.ดีบีเอส วิคเอคร์ส คาดว่ากลุ่มที่มีศักยภาพในการซื้อกิจการ Tesco Lotus ประเทศไทย คือ กลุ่มเซ็นทรัล, กลุ่มซีพี, กลุ่มบีเจซี (ของคุณเจริญ) โดยกลุ่มเซ็นทรัล เพราะถึงแม้ว่าจะมี Tops Supermarket แต่ก็เป็นคนละ Platform กับ Tesco Lotus
ส่วนกลุ่มซีพี ก็มี 7-11 และ MAKRO แล้ว แต่ MAKRO ก็เน้นค้าส่ง ขณะที่ Tesco Lotus เป็นค้าปลีก สำหรับ BJC ก็มี BigC ซึ่ง Platform ค่อนข้างใกล้เคียงกับ Tesco Lotus จึงมองว่า BJC มีโอกาสน้อยกว่ากลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มซีพีในการเข้าซื้อกิจการ Tesco Lotus
อย่างไรก็ดี การซื้อกิจการครั้งนี้ก็ต้องผ่านการพิจารณาของกขค.ว่ามีความขัดแย้งกับพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าหรือไม่ ส่วนความกังวลว่ากลุ่มผู้ซื้อจะมีการเพิ่มทุนหรือไม่ มองว่าเป็นผลกระทบแค่ช่วงสั้น เพราะสิ่งสำคัญ คือ ความถูกแพงของราคาซื้อขาย, Synergies ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต, อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน & ระยะเวลาคืนทุนของดีล ซึ่งหากเป็นดีลที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี แม้ต้องมีการเพิ่มทุนก็คุ้มค่าที่จะลงทุนเพิ่ม