เปิดกลยุทธ์รับมือกลุ่มแบงก์หลังเผชิญความเสี่ยง โบรกฯแนะ 2 ตัวเด่น-พื้นฐานแกร่ง

เปิดกลยุทธ์รับมือกลุ่มแบงก์หลังเผชิญความเสี่ยง โบรกฯแนะ 2 ตัวเด่น-พื้นฐานแกร่ง


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังจากที่มีกระแสข่าวลบเกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่อง เพื่อลดภาระของประชาชน และ SME

โดย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (8 ม.ค.62) ว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ มีกระแสข่าวว่า ธปท. ให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่อง เพื่อลดภาระของประชาชน และ SME ประกอบด้วย

  1. ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนเป็นงวด ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์บางแห่ง คิดค่าปรับจากวงเงินสินเชื่อ เกณฑ์ใหม่เป็นให้คำนวณจากจำนวนเงินต้นคงเหลือ
  2. ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม
  3. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด เดิมการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนฐานของเงินต้นคงเหลือ เกณฑ์ใหม่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น นอกจากนี้ให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้มีเหตุสุดวิสัย

ทั้งนี้ ถือเป็น Sentiment เชิงลบต่อกลุ่มฯ นอกจากประเด็นข้างต้น รายได้ค่าธรรมเนียมฯ (สัดส่วนราว 20% ของรายได้จากการดำเนินงานกลุ่มฯ) ในปี 2563 ยังเผชิญปัจจัยลบ จากการเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 ในปี 2563 ที่ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมในส่วนของ Loan Related Fee บางรายการ เช่น Front – End Fee  เปลี่ยนไปบันทึกในรายการดอกเบี้ยรับ และเปลี่ยนจากรับรู้ครั้งเดียวทั้งจำนวน เป็นทยอยรับรู้ตามอายุวงเงินสินเชื่อ

โดยธนาคารพาณิชย์ที่มีโครงสร้างสินเชื่อลูกค้า SME มากสุด นำโดย KBANK (สัดส่วนราว 34% ของพอร์ตสินเชื่อธนาคาร) ตามด้วย TMB (สัดส่วนราว 29%) และ BBL (สัดส่วนราว 28%) ตามตารางด้านล่าง

ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ มีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมฯ เทียบรายได้รวมงวด 9 เดือนแรกของปี 2562 เรียงตามลำดับ ดังนี้ KBANK (สัดส่วนราว 23% ของรายได้รวม) ตามด้วย BBL (สัดส่วน 22.6%), TMB (สัดส่วน 19%), KTB (สัดส่วน 18.3%) และ SCB (สัดส่วน 16.2% เนื่องจากมีรายได้จากการขาย SCB LIFE ในงวดไตรมาส 3/62 ทำให้ฐานรายได้รวมสูง) ทั้งนี้ ผลกระทบขึ้นอยู่กับโครงสร้างค่าธรรมเนียมของแต่ละธนาคาร ซึ่งฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและจะนำเสนอผ่านบทวิเคราะห์ในลำดับถัดไป

คงแนะนำ น้อยกว่าตลาด ช่วงสั้นแนะนำระมัดระวังการลงทุนหุ้นในกลุ่มธนาคาร นอกจากประเด็นค่าธรรมเนียมที่เผชิญปัจจัยลบ ตามเกณฑ์ของ ธปท. ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่สดใส ถือเป็น Downside ต่อการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มฯ และมีโอกาสส่งผลต่อเนื่องถึงคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด คำแนะนำ “Overweight” โดย ธปท. ปรับแนวปฏิบัติของธนาคารในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันในฝั่งรายได้ของธนาคาร โดยในระยะต่อไป แรงกดดันจาก ธปท. จะบีบให้ธนาคารต้องปรับรูปแบบโมเดลธุรกิจ เพราะเมื่อฝั่งรายได้ถูกกดดัน ธนาคารก็ต้องเร่งลดต้นทุนอย่างรีบด่วนเพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป ซึ่งในด้านนี้ พบว่ามีแค่ KBANK และ SCB เท่านั้นที่ยังสามารถจะลดต้นทุนลงได้อีก เนื่องจากลูกค้าของทั้งสองธนาคารมี mobility สูงจากการใช้งานบริการ mobile banking ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 65% ของยอดธุรกรรมทั้งหมดของธนาคาร สำหรับในระยะต่อไป คาดว่าจะเห็นการเร่งลดจำนวนสาขาและตู้ ATM

เผชิญแรงกดดันจาก ธปท.

ทั้งนี้ ธปท. ปรับแนวปฏิบัติของธนาคารในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับสินเชื่อส่วนบุคคล, SME, จดจำนอง และสินเชื่อผ่อนชำระ โดยตามเกณฑ์ใหม่นี้จะกำหนดให้สถาบันการเงิน 1.) คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ รวมทั้ง ให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน 2.) คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น แทนที่จะคิดบนฐานของเงินต้นคงเหลือ 3.) ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทนสำหรับบัตร ATM และบัตรเดบิต

สินเชื่อจดจำนอง และสินเชื่อ SME จะได้รับผลกระทบ

ตามปกติแล้ว อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจดจำนอง (ของทุกธนาคาร) จะกำหนดเป็นอัตราคงที่ในช่วง 1-3 ปีแรก หลังจากนั้นจะปล่อยลอยตัวโดยอิงกับ MRR ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะกำหนดไว้ที่ 15% โดยมักจะคิดจากเงินต้นคงเหลือทั้งก้อน ส่วนในกรณีของ SME อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะต่างกันไปในแต่ละธนาคาร และยังขึ้นกับประเภทของหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วย โดยสินเชื่อ SME ที่ไม่มีหลักประกันมักจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยเหมือนกับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 18% และถูกคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ 22-28% ถึงแม้ว่าธนาคารส่วนใหญ่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เอาไว้สูง แต่อัตราดอกเบี้ยที่คิดจริงน่าจะต่ำกว่านั้นมาก ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของ SCB ที่ระบุว่า yield ของสินเชื่อ SME อยู่ที่แค่ประมาณ 6.3% สินเชื่อจดจำนองอยู่ที่ 4.9% สินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 15.5% และสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 22.2% ซึ่งที่ระดับนี้ เราคิดว่าธนาคารที่จะถูกกระทบหนักสุดจากเกณฑ์ใหม่ของ ธปท . ได้แก่ KBANK ซึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อ SME สูงที่สุดที่ 38% SCB ที่มีสัดส่วนสินเชื่อจดจำนองสูงที่สุดที่ >30% และ TMB ในขณะที่ผลกระทบกับธนาคารอื่น ๆ ไม่น่าจะมากอย่างมีนัยสำคัญ

จำเป็นต้องเร่งลดต้นทุนอย่างรีบด่วน

แรงกดดันจาก ธปท. จะบีบให้ธนาคารต้องปรับรูปแบบโมเดลธุรกิจ เพราะเมื่อฝั่งรายได้ถูกกดดัน ธนาคารก็ต้องเร่งลดต้นทุนอย่างรีบด่วนเพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป ซึ่งในด้านนี้ เราพบว่ามีแค่ KBANK และ SCB เท่านั้นที่ยังสามารถจะลดต้นทุนลงได้อีก เนื่องจากลูกค้าของทั้งสองธนาคารมี mobility สูงจากการใช้งานบริการ mobile banking ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 65% ของยอดธุรกรรมทั้งหมดของธนาคาร สำหรับในระยะต่อไป เราคาดว่าจะเห็นการเร่งลดจำนวนสาขาและตู้ ATM

Risks

NPL เพิ่มขึ้น และต้องกันสำรองเพิ่ม, รายได้ค่าธรรมเนียมลดลงอย่างมาก, ค่าใช้จ่าย opex เร่งตัวขึ้น

 

Back to top button