เปิดกลยุทธ์ลุยหุ้นเดือนก.พ. พร้อมเคาะ 4 กลุ่มเด่นเน้นปัจจัยบวกหนุน!

เปิดกลยุทธ์ลุยหุ้นเดือนก.พ. จับตา 6 ประเด็นหลัก พร้อมเคาะ 4 กลุ่มเด่นเน้นปัจจัยบวกหนุน!


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับการลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์  เนื่องจากยังเป็นช่วงที่มีปัจจัยให้ติดตามหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และประเด็นของร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ของประเทศไทย ซึ่งยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทย

โดย บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ (3 ก.พ.63) โดยคาดการณ์เดือนกุมภาพันธ์ SET Index แกว่งตัวในกรอบ 1,470 – 1,550 จุด โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดดังต่อไปนี้

1) พัฒนาการของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งหากยอดจำนวนผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตยังไม่ถึงจุดสูงสุด คาดว่าจะเป็นปัจจัยกดดันราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป โดยเฉพาะตราสารและสกุลเงินในเอเชีย รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน เรายังคงมุมมองเดิมว่าจุดซื้อที่ดีที่สุดของกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงแรม สายการบิน สนามบิน โรงกลั่น ยังคงได้แก่การรอให้ทาง WHO ประกาศว่า เชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถที่จะถูกควบคุมได้อย่างเป็นทางการแล้ว

2) พัฒนาการของร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ซึ่งล่าสุดต้องรอผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังเกิดกรณีส.ส.เสียบบัตรแทนกัน หากศาลฯมีการตีตกร่างพ.ร.บ.ทั้งฉบับ มองเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยอย่างสำคัญ ซึ่งเราคาดว่าจะทำให้หน่วยงานต่างๆต้องออกมาปรับลดประมาณการการเติบโต GDP ปีนี้ลง จากเดิมที่ก่อนหน้านี้อยู่ราว 2.8% มองปัจจัยดังกล่าวเป็น Overhang ของกลุ่มที่เกี่ยวข้องต่อไป  เช่น รับเหมา ฐานราก วัสดุก่อสร้าง นิคมฯ เป็นต้น

3) การประชุมกนง.ในวันที่ 5 ก.พ. นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.25% ในสถานการณ์ที่เงินบาทกำลังอ่อนค่าเช่นนี้

4) การเข้ามาซื้อขายในตลาดของหุ้น CRC ซึ่งประเมินว่าจะทำให้ตัวหุ้นดังกล่าวเข้าเกณฑ์หุ้นที่สามารถถูกนำเข้าคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 ได้ทันที ทั้งนี้ จากการประเมิน Market cap ของสมาชิกดัชนีทั้งสองล่าสุด คาดว่าหุ้นที่จะถูกถอดออกจากดัชนี SET50 และ SET100 แทนก็คือ BPP และ AAV ตามลำดับ แนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นทั้ง 2 ตัวไปก่อนในช่วงนี้

5) ไม่เพียงแค่นั้น การเข้ามาของหุ้น CRC ด้วยแนวโน้ม PE ที่สูงกว่าตลาด จะทำให้ PE ของตลาดปรับตัวสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ผ่านประมาณการ EPS ที่ถูกลดทอนลง ทั้งนี้ จากการคำนวณของเราล่าสุด พบว่าประมาณการ EPS ของ SET ทั้งปี 2020 และ 2021 จะถูกปรับลงราว 1.5 -1.7 บาทจากเดิม หรือราว 1.5-1.6% ซึ่งจะทำให้ Upside ของ SET Index  ถูกจำกัดมากขึ้นไปอีก

6) ความเป็นไปได้ที่ทาง MSCI อาจมีการพิจารณาปรับลดน้ำหนัก KBANK ในดัชนี ในการประกาศ Quarterly Index Review ประจำเดือนกุมภาพันธ์นี้ (12 ก.พ.) หลังจากที่ธปท.มีการปรับลด NVDR Limit ของ KBANK ลงจาก 35% มาสู่ระดับ 25% ในช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่เกิดขึ้นในรอบนี้ คาดว่าอย่างช้าจะเกิดขึ้นภายในรอบการประกาศ Semi-Annual Index review ถัดไปวันที่ 12 พ.ค.นี้

ในเชิงกลยุทธ์: หลังเพิ่มน้ำหนักการลงทุนรอบใหม่ที่บริเวณดัชนี 1,500-1,520 จุด แนะนำถือครองหุ้นในส่วนดังกล่าวและยังไม่แนะนำให้เพิ่มการลงทุนใหม่ จนกว่าดัชนีจะปรับลงไปถึงแนวรับรอบใหม่ ทั้งนี้ ยังคงเน้นการลงทุนไปยังกลุ่มที่ปลอดภัยในช่วงนี้ได้แก่

1) กลุ่ม REIT&IFF ล่าสุด Bond yield สหรัฐฯและไทยทำจุดต่ำสุดใหม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ Dividend yield gap ของกลุ่มปรับตัวสูงขึ้นอัตโนมัติ

2) กลุ่มโรงพยาบาลที่มักเป็นกลุ่มที่ Outperform ตลาดในช่วงที่เกิดโรคระบาด เลือก BDMS และ BCH

3) กลุ่มสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร ที่ไม่มีความเกี่ยวโยงกับโรคระบาด และมีโอกาสซื้อสินทรัพย์ในราคาถูก ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เลือก BAM

4) กลุ่มอาหารที่ได้ประโยชน์จากราคาสัตว์บกที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่า เลือก CPF

 

ทั้งนี้ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ (3 ก.พ.63) พลิกมุมมองมาเป็นระมัดระวังมากขึ้นกับแนวโน้มดัชนี SET ในเดือนกุมภาพันธ์ เพราะคาดว่ากระแสเงินทุนน่าจะยังคงไหลออกเนื่องจาก 1) ปัจจัยลบด้านมหภาคจากผลกระทบของ Coronavirus ต่อภาคท่องเที่ยว และเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง 2) มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะมีการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนลงหลังช่วงประกาศงบไตรมาส 4/62 และ 3) เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกจากรายได้ภาคท่องเที่ยวที่ลดลง และดุลบัญชีเดินสะพัดที่อ่อนแอลง และมีโอกาสมากขึ้นที่ กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับปัจจุบันที่ 1.25%

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าความเสี่ยงทางลงของดัชนี SET น่าจะจำกัด เพราะถึงแม้ว่าเราจะใช้สมมติฐานว่ามีการปรับลดประมาณการ EPS ปี 2563 ลงจากระดับปัจจุบันอีก 5% แต่ earnings yield gap (EYG) ที่ระดับดัชนี SET แถว 1,500 จุดก็ยังคงสูงถึง 5.0% ซึ่งจากข้อมูลในอดีตชี้ว่าเป็นระดับสำคัญที่ตลาดหุ้นไทยจะรีบาวด์ได้ ดังนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ จึงแนะนำกลยุทธ์ซื้อสะสมเมื่อตลาดหุ้นย่อลงต่อ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ตามประเด็นข่าวของ Coronavirus ในโลกที่ยังเป็นลบ

หุ้นเด่นเดือนกุมภาพันธ์: เตรียมรับโหมดที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงสูง (risk-off) ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นในเดือนกุมภาพันธ์จะยังปรับลงต่อเนื่องเพราะผลกระทบจาก Coronavirus บวกกับความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนลง และกระแสเงินทุนไหลออก ดังนั้น เราจึงยังคงเน้นหุ้นขนาดกลางและหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว โดยกลุ่มแรก เราแนะนำหุ้นส่งออกที่จะได้อานิสงส์จากบาทอ่อน อย่างเช่น CPF*, HANA* และ TU* ถัดมาคือหุ้นรับเหมาก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ อย่างเช่น CK* และ STEC* เนื่องจากเรามองว่าพรบ. งบประมาณปี 2563 น่าจะเกิดความชัดเจนในแง่กฎหมายในเร็ว ๆ นี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาวะเศรษฐกิจถูกกดดันจากประเด็นการระบาดของ Coronavirus อย่างที่เป็นอยู่ กลุ่มที่สามที่เราเลือกคือหุ้นปันผลอย่างเช่น TISCO* ซึ่งมีความเสี่ยงด้านผลประกอบการต่ำเมื่อเทียบกับหุ้นธนาคารใหญ่ถ้าหาก กนง. ลดดอกเบี้ยลงอีกในระยะต่อไป สำหรับหุ้นตัวหลักๆ นั้น เราเน้นเพียงหุ้นกลุ่มที่ valuation ปรับลงมามากในช่วงที่ผ่านมา เช่นหุ้นธนาคารอย่าง KBANK* รวมทั้งหุ้น AOT* ซึ่งราคาหุ้นปรับลงรับรู้แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อ่อนแอลงเช่นกัน ขณะที่ผลกระทบต่อพื้นฐานบริษัทมีน้อยกว่าหุ้นสายการบินและหุ้นโรงแรม

 

 

Back to top button