ดักเก็บ CK รับผลดี 2 เด้ง! พ.ร.บ.งบฯปี 63 ไม่โมฆะ-ลุ้นบิ๊กโปรเจ็กต์ดัน Backlog แตะแสนลบ.
ดักเก็บ CK รับผลดี 2 เด้ง! พ.ร.บ.งบฯปี 63 ไม่โมฆะ-ลุ้นบิ๊กโปรเจ็กต์ดัน Backlog แตะแสนลบ.
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้น บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK โดยมีนักวิเคราะห์หลายแห่งกำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” เนื่องจากมองว่า CK ได้รับอานิสงส์ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ไม่เป็นโมฆะ ลุ้นสภาฯลงคะแนนใหม่ในวาระ 2 และ 3 ภายในสัปดาห์นี้ เชื่อรัฐบาลเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณเร็วกว่าคาดในเดือน มี.ค.63
ขณะที่ CK เตรียมเข้าร่วมประมูลบิ๊กโปรเจ็กต์ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก มูลค่า 1.47 แสนล้านบาท, โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 หลายหมื่นล้านบาท, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่า CK จะคว้างานใหม่ได้ ผลักดันมูลค่างานในมือ (Backlog) แตะเกือบแสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท ส่วนด้าน Valuation มองมีอัพไซด์น่าสนใจหากเทียบกับราคาพื้นฐาน ปัจจุบันหุ้น CK ยังเคลื่อนไหวต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของบริษัทลูกรวมกันอยู่ที่ 27.77 บาท/หุ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการประกาศแผนการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 10% วงเงิน 3 พันล้านบาทในวันที่ 2 มี.ค.-1 ก.ย.นี้ด้วย
ด้านนายประสิทธิ์ รัตนกิจกมล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า มีมุมมองเป็นเชิงบวกในหุ้น CK เนื่องจากได้รับอานิสงส์กรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ไม่เป็นโมฆะ และในสัปดาห์นี้น่าจะนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนใหม่ในวาระ 2 และ 3 ที่มีปัญหา ทำให้รัฐบาลมีโอกาสเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 ได้เร็วกว่าคาด หรือประมาณเดือน มี.ค.นี้ จากเดิมประเมินว่าอาจล่าช้าไปถึง 2 เดือน
สำหรับโครงการขนาดใหญ่คาดว่า CK จะเข้าร่วมประมูลทั้งหมด ซึ่งโครงการที่ CK ให้ความสำคัญและเชื่อว่ามีโอกาสชนะการประมูล ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ มูลค่า 1.47 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้วเป็นรูปแบบลงทุนแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งทาง CK น่าจะเข้าร่วมประมูลกับบริษัทลูก บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเดินรถไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 คาดจะทยอยประมูลแบ่งเป็นหลายเส้นทางมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
“ตอนนี้มองบวกกับ CK ยังคงแนะนำซื้อ แต่ยังไม่ได้ปรับประมาณการราคาพื้นฐานที่ปัจจุบันให้ไว้ 26 บาทต่อหุ้น เพราะต้องรอความชัดเจนก่อนว่า CK จะเข้าประมูลงานใหม่ และได้รับงานเป็นมูลค่ามากน้อยอย่างไร โดยสิ้นปี 62 CK มีปริมาณงานในมือ (Backlog) มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท ถ้าทยอยรับรู้เป็นรายได้แต่ละไตรมาสจะเฉลี่ย 5-6 พันล้านบาท ส่งผลให้รายได้ทั้งปีจะทำได้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าหาก CK ประมูลงานขนาดใหญ่เข้ามาได้ในช่วงครึ่งปีแรก ในครึ่งปีหลังก็มีโอกาสรับรู้รายได้เฉลี่ยต่อไตรมาสมากกว่า 5-6 พันล้านบาทได้เช่นกัน เป็นหนึ่งในตัวแปรสร้างอัพไซด์เชิงพื้นฐานของ CK ในระยะถัดไป” นายประสิทธิ์ กล่าว
ด้านบล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แม้ว่าในระยะสั้นแนวโน้มผลประกอบการปกติในช่วงไตรมาส 4/62 ของ CK อาจจะอ่อนแอ คาดกำไรปกติจะอยู่ที่ 118 ล้านบาท ลดลง 26% จากงวดปีก่อน และ 43% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากรายได้ของการก่อสร้างลดลง และไม่มีเงินปันผลจาก บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW แต่แนวโน้มในระยะถัดไปปริมาณงานใหม่ๆ มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นอกจากนี้ CK ยังได้เข้าร่วมธนโฮลดิ้งที่เป็นบริษัทร่วมของ CP Group เพื่อประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น
สำหรับมุมมองด้าน Valuation ยังมีความน่าสนใจเนื่องจากปัจจุบันราคาหุ้นของ CK ยังเคลื่อนไหวต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของบริษัทลูกรวมกันอยู่ที่ 27.77 บาท/หุ้น และมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ CK ประกาศแผนการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 10% วงเงิน 3 พันล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.-1 ก.ย.63
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปัจจุบัน CK มีปริมาณงานในมือ ประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่รอแบ่งงาน หากชนะประมูลน่าจะผลักดันมูลค่าปริมาณงานในมือแตะ 8.5-9 หมื่นล้านบาท แม้ว่ากำไรไตรมาส 4/62 จะไม่สดใสเพราะรายได้ก่อสร้างน้อย และต่อเนื่องมาถึงปี 63 จากความล่าช้าของการเซ็นงานใหม่ แต่คาดกำไรปกติปีนี้ยังเติบโตได้ดี คาดเพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับฐานกำไรปกติของปี 62 มีปัจจัยสนับสนุนจากส่วนแบ่งกำไรบริษัทลูก BEM, TTW และบมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP)
บล.บัวหลวง ระบุว่า หุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างเชื่อว่าจะกลับมาในทิศทางเชิงบวกอีกครั้ง โดยหุ้น CK เป็นหนึ่งในหุ้นของกลุ่ม แม้ว่าก่อนหน้านี้ปรับตัวลงมาจากความผิดหวังการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 ที่ล่าช้า แต่มองว่าได้สะท้อนข่าวลบไปมากแล้ว โดยคาดงบประมาณจะสามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงเดือนเม.ย.63 หรือก่อนสงกรานต์ ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อการเลื่อนการประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ