โบรกฯแนะ “ซื้อ” TU รับประโยชน์เงินบาทอ่อน-คนแห่สต๊อกอาหารหลังโควิดลามหนัก
โบรกฯแนะ “ซื้อ” TU รับประโยชน์เงินบาทอ่อน-คนแห่สต๊อกอาหารหลังโควิดลามหนัก
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมบทวิเคราะห์หุ้นบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU หลังราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสวนภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทย โดย นักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (23 มี.ค.) ว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2563 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกประกาศคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพิ่มเป็น 26 ประเภท เป็นระยะเวลา 22 วัน (22 มี.ค. – 12 เม.ย.) ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ให้เปิดแค่โซน super market/ ร้านยา/ธนาคาร ร้านขายอาหารและร้านสะดวกซื้อ ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้นห้ามนั่งกินที่ร้าน สำหรับร้านอาหารในโรงแรมให้บริการเฉพาะลูกค้าที่เข้าพัก
ทั้งนี้ ยังให้ปิดตลาดและตลาดนัดเหลือแค่ร้านขายของเพื่ออุปโภคบริโภค ของสด ของแห้ง รวมถึง ปิดร้านเสริมสวย คลีนิคเสริมความงาม และ ปิดศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรศการ นอกจากนั้น 5 จังหวัดปริมณฑล คือ สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นครปฐม, นนทบุรี และปทุมธานี มีการออกประกาศให้ใช้มาตรการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเช่นเดียวกับกทม.
โดยการออกมาตรการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 22 วัน เพิ่มเติมนี้ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) คาดว่าจะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงและหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น มีโอกาสมากที่จะเห็นการใช้มาตรการนี้กับจังหวัดอื่นเพิ่มเติม หรือหากสถานการณ์เลวร้ายลง มีโอกาสที่จะเห็นการใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ทั้งนี้มาตรการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ที่กรุงเทพฯ และ 5 จังหวัด เป็นระยะเวลา 22 วันนี้ จะส่งผลกระทบเป็นลบเป็นส่วนใหญ่กับหลายธุรกิจ เนื่องจากรายได้ที่ลดลง อย่างไรก็ตามมีบางธุรกิจที่จะได้รับผลบวกจากมาตรการนี้เช่นกัน
สำหรับธุรกิจและบริษัทที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกคือ 1) ซูเปอร์มาร์เก็ต+ร้านสะดวกซื้อ (BJC, MAKRO, CPALL) 2) ผู้ผลิตอาหาร (CPF, TU, ASIAN, TFMAMA) 3) ICT (ADVANC, TRUE, JAS, DTAC) 4) ประกัน (TQM)
ด้าน นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเด็นการแพร่ระบาด COVID-19 ในไทยยังเห็นการเร่งขึ้นของผู้ติดเชื้อส่งผลให้ กทม.สั่งปิดสถานที่เสี่ยง 26 แห่งเป็นเวลา 22 วัน เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด สำหรับกลุ่มรับประโยชน์ระยะสั้น เช่น ค้าปลีก (BJC, CPALL, MAKRO), อาหาร (CPF, TU), สื่อสาร (ADVANC, DTAC) ส่วนกลุ่มที่เสียประโยน์ระยะสั้น เช่น ร้านค้า (CPN, CRC, HMPRO, SF, GLOBAL, MAJOR, SPA), ร้านอาหาร (MINT, CENTEL, ZEN, M), รถไฟฟ้า (BTS, BEM)
ส่วน บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น TU ราคาเป้าหมาย 17.50 บาท/หุ้น โดยได้ Sentiment บวกค่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงิน Euro โดยมีรายได้จากการส่งออกคิดเป็น 75% ของรายได้รวมและส่วนใหญ่ส่งออกไปในกลุ่มประเทศในยุโรป ทุกๆ 1 บาทที่เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับ Euro จะเพิ่มกำไรให้กับ TU ประมาณ 600 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากข่าวบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 200 ล้านหุ้นมูลค่า 3 พันล้านบาท
เช่นเดียวกับ นักวิเคราะห์ บล.เอเอสแอล ระบุในบทวิเคราะห์ TU ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่า