โบรกฯ แนะ “ซื้อ” TU มองดีมานด์อาหารกระป๋องยังโต เคาะเป้า 18.40 บ. อัพไซด์เกิน 40%

โบรกฯ แนะ "ซื้อ" TU มองดีมานด์อาหารกระป๋องยังโต เคาะเป้า 18.40 บ. อัพไซด์เกิน 40%


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้นบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU หลังนักวิเคราะห์หลายแห่ง กำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” โดยมีให้ราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 18.40 บาทต่อหุ้น โดยมองว่า ธุรกิจอาหารทะเลกระป๋องยังมีการเติบโต เป็นผลจากการกักตุนอาหารช่วงที่ภาครัฐมีมาตรการเข้มงวดเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลักดันยอดขายให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น และน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปตลอดไตรมาส 2/63

ขณะที่ราคาหุ้น TU วานนี้ (15 เม.ย.) ปิดตลาดที่ 13 บาท ลบ 0.10 บาท หรือ 0.76% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 164.79 ล้านบาท ยังคงมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายที่ 18.40 บาท ราว 42%

โดย นักวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น TU ประเมินราคาเป้าหมาย 18.40 บาท/หุ้น แม้ว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แต่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทยังแข็งแกร่ง การดำเนินงานและการขนส่งยังเป็นไปตามปกติ ทั้งนี้ยังมี Demand ที่แข็งแกร่งจากประเทศสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และญี่ปุ่น รวมถึงเงินบาทอ่อนค่าเป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการ

ทั้งนี้คาดว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 1,050 ล้านบาท ลดลง 18% เมื่อเทียบจากปีก่อน และลดลง 1% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน มาจากรายได้รวมอยู่ที่ 28,929 ล้านบาท ลดลง 2% เมื่อเทียบจากปีก่อน และลดลง 12% เทียบจากไตรมาสก่อน เนื่องจากปกติในช่วงไตรมาสแรกของปีเป็น Low Season ของธุรกิจ

รวมทั้งยังมีปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รายได้ที่ลดลงมาจาก  (1) กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง (สัดส่วน 40% ของรายได้รวม) ได้รับผลกระทบเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็น Food Service ในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และ สายการบิน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไวรัสโควิด-19 และ (2) ธุรกิจร้านอาหาร Red Lobster ได้รับผลกระทบจากการปิดร้านอาหารทั้งหมดในสหรัฐฯ เปิดบริการเพียง Delivery เท่านั้น  ส่งผลให้ยอดขายลดลงราว 70% – 80% แม้ในปกติ ไตรมาส 1 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของ Red Lobster

ดังนั้นจึงคาดว่าบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/63 แม้ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป (สัดส่วน 45% ของรายได้รวม) จะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการกักตุนอาหารของผู้บริโภคในหลายประเทศ (สหรัฐฯ และยุโรป) แต่ไม่สามารถชดเชยในส่วนที่ได้รับผลกระทบได้ทั้งหมด

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)  ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ทยอยซื้อ” ประเมินราคาเป้าหมายที่ 17.90 บาท/หุ้น สำหรับ TU เนื่องจากผลการดำเนินงานอาจไม่ดีอย่างที่คาด โดยเฉพาะการรับรู้ผลขาดทุนของ Red Lobster ที่เข้ามาเพิ่มขึ้น จากการปิดสาขาในสหรัฐ, แคนาดา, ฮ่องกง และจีน รวมถึงการดำเนินงานของ Avanti ในอินเดียจะได้รับผลกระทบจากธุรกิจกุ้งที่อ่อนแอเช่นกัน

ทั้งนี้ คาดว่ากำไรในไตรมาส 1/63 ของ TU จะอยู่ที่ 882 ล้านบาท ลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 24% จากไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลให้ยอดขายกลุ่มอาหารกระป๋องเพิ่มขึ้นมาก แต่กลุ่มอาหารแช่แข็ง ได้รับผลกระทบจากการปิดร้านอาหารส่งผลให้ช่องทางการขาย Food service ทั้งในไทยและต่างประเทศลดลงอย่างมีนัย

อีกทั้งใน 2 เดือนแรกได้รับผลจากเงินบาทแข็งค่า คาดว่าจะส่งผลให้ยอดขายลดลง 3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 13% จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาร์จิ้นจะปรับตัวดีขึ้นจากสัดส่วนการขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มอาหารกระป๋องที่มีมาร์จิ้นดีกว่ากลุ่มอาหารแช่แข็ง

ส่วน นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น TU ประเมินราคาเป้าหมายที่ 16.10 บาท/หุ้น แม้คาดกำไรไตรมาส 1/63 จะอยู่ที่ 864 ล้านบาท ลดลง 32.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 18.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ตามการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากธุรกิจ Red Lobster เข้ามาเพิ่มขึ้น  เนื่องจากร้านอาหารปิดให้บริการชั่วคราวในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนแบ่งขาดทุนทางธุรกิจในไตรมาสนี้ราว 300 ล้านบาท

ขณะที่อาหารทะเลแช่แข็ง ก็ได้รับผลกระทบจากการปิดร้านอาหาร ภัตตาคาร ส่งผลทำให้ยอดขายปรับตัวลดลง โดยอาหารทะเลแช่แข็งจากกลุ่มบริการอาหารคิดเป็นสัดส่วนราว 24% ของรายได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามธุรกิจอาหารทะเลกระป๋อง ยอดขายยังปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการที่ผู้คนกักตุนอาหารและวัตถุดิบไว้บริโภคภายในที่อยู่อาศัย ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจากการปิดเมืองในหลายประเทศ น่าจะส่งผลดีต่อยอดขายอาหารทะเลแปรรูปของ TU ไปจนถึงไตรมาส 2/63 ประกอบกับราคาพื้นฐานยังมีอัพไซด์อยู่ จากค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่า และการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องที่มีการเติบโตอย่างมาก

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น TU ประเมินราคาเป้าหมายที่ 16 บาท/หุ้น โดยมองว่าราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้น จากอาหารยังเป็นสินค้าจำเป็นและผู้ประกอบการอาหารพัฒนาระบบดิลิเวอรี่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีโอกาสใกล้ผ่านพ้นจุด Peak รวมถึงราคาหุ้นปัจจุบันสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว

ทั้งนี้ ประมาณการกำไรสุทธิของ TU ในไตรมาส 1/63 ที่ 898 ล้านบาท ลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 15% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากร้านอาหารและโรงแรมในสหรัฐฯ รวมถึงในยุโรป ตลอดจนในไทยต้องปิดตัวลงชั่วคราวเพราะโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.8% ในไตรมาส 1/63 จาก 14.9% ในปีก่อน เนื่องจากการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหารกระป๋อง ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ากลุ่มอาหารแช่แข็ง อันเนื่องมาจากภาวะการกักตุนอาหาร

สำหรับผลดีจากการกักตุนอาหารถูกลดทอนลงจากการปิดตัวลงของภาคโรงแรม ร้านอาหาร และการจัดเลี้ยง (Food service/ Horeca) โดย Food service สัดส่วนประมาณ 55% ของอาหารแช่แข็ง ซึ่งจำหน่ายให้กลุ่มร้านอาหาร และโรงแรม มียอดขายลดลง ส่วนอีก 45% ซึ่งเป็นยอดขายให้กลุ่มค้าปลีก เช่น Walmart, Costco, Tesco และ Makro มียอดขายเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันได้ปรับกำไรสุทธิปีนี้ลง 7% มาอยู่ที่ 4.75 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อน จากการปรับยอดขายลงจากเดิมโต 7.2% เหลือเป็นเติบโต 4% เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 ในไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลาหากภาคการท่องเที่ยว และร้านอาหารจะฟื้นกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบตามปกติ โดยยังมีมาตรการปิดเมืองตามจังหวัดต่าง ๆ และสถานการณ์การระบาดในสหรัฐซึ่งเป็นตลาดของ TU ประมาณ 40% ยังคงเป็นที่กังวลจากยอดผู้ติดเชื้อที่ยังค่อนข้างมาก

Back to top button