โบรกฯยก GULF หุ้นท็อปพิค! รับอานิสงส์ต้นทุนน้ำมันลด ฟันธงกำไรโตยาว

โบรกฯยก GULF หุ้นท็อปพิค! รับอานิสงส์ต้นทุนน้ำมันลด ฟันธงกำไรโตยาว


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF หลังราคาหุ้นวานนี้ (22 เม.ย.) ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง โดยปิดตลาดที่ระดับ 39 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 6.85% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 5.34 พันล้านบาท

โดย นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบบทวิเคราะห์ว่า หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าถือว่าไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐ ขณะเดียวกันยังมีต้นทุนที่ลดลงจากก๊าซธรรมชาติและหากความต้องการใช้ไฟฟ้า (ดีมานด์) ในนิคมอุตสาหกรรมกลับมาปกติ ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยชื่นชอบ 2 บริษัท พร้อมแนะนำลงทุน คือ  GULF และ GPSC

ทั้งนี้ GULF จัดเป็นหุ้นที่ดี มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จำนวนเมกะวัตต์ (MW) เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 5 ปี กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 22% ซึ่งคอนเซนซัสให้ราคาเป้าหมายที่ระดับ 40 บาท/หุ้น 

นักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นที่ได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันลดลง ได้แก่ กลุ่มไฟฟ้า (BGRIM GPSC GULF) โดยต้นทุนหลักกว่า 70% มาจากก๊าซธรรมชาติซึ่งเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน โดยโรงไฟฟ้า SPP จะได้ประโยชน์ก่อนมีการปรับค่า Ft เพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิตใหม่

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.เอเอสแอล ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มโรงไฟฟ้า ในระยะสั้นที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 บล.เอเอสแอล ชอบโรงไฟฟ้า IPP (เช่น GULF EGCO) มากกว่า SPP (เช่น BGRIM GPSC) อย่างไรก็ตาม ประเด็นการปรับลดค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย.-มิ.ย. ตลาดได้ตอบรับกับปัจจัยลบนี้มากเกินไป เนื่องจากราคา gas ที่ลดลงด้วย จะช่วยบรรเทาผลกระทบนี้ แนะนำ “Neutral” กลุ่มโรงไฟฟ้า ส่วน Top pick ชอบ GULF EGCO

ส่วน นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีพื้นฐานที่น่าสนใจ จากทิศทางกำไร 8 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2570) คาดเติบโตทำ New High ทุกปีเฉลี่ยต่อปี 20% (CAGR) จากการรับรู้กำลังการผลิตในมือที่รอทยอยเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) อีกกว่า 5,080 เมกะวัตต์ (MW) จากทั้งหมดที่มี 7,781 MW  (COD ไปแล้ว 2,701 MW) แต่ราคามีโอกาสย่อตัว จากการเข้ามาเก็งกำไรก่อนการแตกพาร์ ดังนั้น แนะนำให้นักลงทุนหาจังหวะเข้าซื้อ เมื่อราคาอ่อนตัวจะปลอดภัยกว่า

รวมถึง นักวิเคราะห์บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ในกลุ่มโรงไฟฟ้า แนะนำ GULF โดยยังคงมีมุมมองเชิงบวกจากแนวโน้มกำไรปกติปี 2563 ที่คาดว่าจะเติบโต 33% และ 5-10 ปีข้างหน้าเติบโตโดดเด่นต่อ เนื่องจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่ทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) โดยมีสัญญา PPA รองรับ และมีศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตอีกจาก Potential Projects ต่าง ๆ โดยเชื่อว่าฐานะการเงินยังอยู่ในระดับจัดการได้ แม้จะมีการลงทุนสูงใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ความเสี่ยงจากโควิด-19 มีจำกัด จากสัดส่วนรายได้จากลูกค้าอุตสาหกรรมเพียง 11%

ด้านแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ของ GULF คาดว่ากำไรปกติจะกลับมาเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจากการซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าในกลุ่มบริษัทร่วมน้อยลง และเป็นกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิอาจถูกกระทบจากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน (FX Loss) ทางบัญชี จากค่าเงินที่อ่อนค่า

ดังนั้น คาดว่ากำไรปี 2563 ของ GULF อยู่ที่ 4,680 ล้านบาท เติบโต 33% จากปีก่อน จากการรับรู้รายได้เต็มปีของโรงไฟฟ้า SPP 4 โรง และโครงการโซลาร์เวียดนาม 2 โรง ปัจจุบันมีกำลังผลิต 2,701 เมกะวัตต์ ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 7,781 เมกะวัตต์ภายในปี 2570 คาดกำไรใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2567) โตเฉลี่ยต่อปี 39% ขณะที่ใน 10 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2572) โตเฉลี่ยต่อปี 19% นอกจากนี้บริษัทยังมีการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น

อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติรับทราบมาตรการเยียวยาการลดภาระค่าไฟฟ้าระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค. 2563 วงเงิน 23,688 ล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน

โดยถือเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตของประชาชนที่ร่วมมือกันดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ด้วยการทำงานที่บ้าน ตลอดจนขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. และทั้ง 3 การไฟฟ้า ที่ร่วมกันหารือเพื่อหาทางช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน สำหรับมาตรการดังกล่าวนั้นจะเป็นการช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยจำนวน 22 ล้านราย ด้าน

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากมติ ครม.ดังกล่าวนั้น เป็นเงินที่กกพ.ต้องบริหารจัดการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือเป็นภาระของโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP แต่อย่างใด โดยวงเงินดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ทางกทพ.เรียกเก็บจากการไฟฟ้าที่ไม่ได้ลงทุนตามแผน หรือ Call Back และส่วนหนึ่งอาจจะมาจากงบกลาง ดังนั้นจะไม่มีการเรียกเก็บจากภาคเอกชน จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

Back to top button