ฟันธง! หุ้นได้-เสีย เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง
โบรกฯชี้เงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจะส่งผลดีผู้ส่งออกที่มีโครงสร้างรายได้ส่วนใหญ่เป็นเงินต่างประเทศ แต่ต้นทุนบางส่วนเป็นเงินบาทไทย โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตรงกันข้ามผู้ที่เสียประโยชน์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีหนี้สินเป็นต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (13 ส.ค.) ที่ 35.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่ารับผลจีนลดค่าเงินหยวน นักวิเคราะห์คาดยังมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง ล่าสุด ณ เวลา 12.16 น. ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่โบรกเกอร์ชี้กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลดีที่สุด ตรงข้ามกับบริษัทที่มีหนี้สินเป็นต่างประเทศ
นักบริหารเงินเปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเช้านี้อ่อนตัวต่อเนื่องจากการปรับค่าเงินหยวนของจีน ขณะที่ตลาดบ้านเราหยุดทำการวานนี้ เงินหยวนอ่อนค่ารวมแล้ว 4% ตั้งแต่ปรับค่าเงิน ส่งผลให้เงินบาทแกว่งตัวผันผวนและลงไปถึง 35.57 บาท/ดอลลาร์ก่อนจะดีดขึ้นมาได้บ้าง เช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคอ่อนตัวเช่นกันโดยเฉพาะริงกิตมาเลเซียร่วงลงมาก สำหรับทิศทางค่าเงินบาทวันนี้เชื่อว่ายังอ่อนค่าลงอีก โดยยังต้องติดตามการประชุมของทางการจีนเรื่องค่าเงินในช่วงบ่ายวันนี้
ขณะที่ล่าสุดธนาคารกลางจีนออกแถลงการณ์วันนี้ว่า ธนาคารกลางจะรักษาเสถียรภาพเงินหยวนให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล และมีความสมดุล หลังค่าเงินหยวนร่วงลงติดต่อกัน 3 วัน นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนจะเดินหน้าสนับสนุนการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนทั้งภายในและต่างประเทศ
ด้านนายหม่า จุน นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางจีน เปิดเผยว่าความผันผวนของเงินหยวนที่เกิดขึ้นขณะนี้ ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน ซึ่งมีปริมาณสูงที่สุดในโลก 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ จะช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนยังคงมีเสถียรภาพในระยะสั้น
ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยนั้น นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท. ) เปิดเผยว่า ปัญหาค่าเงินหยวนว่าจะส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาในระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในช่วงไตรมาส 2/58 ยังอยู่ในระดับที่ดีซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยในระยะยาวได้
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (13 ส.ค.) ว่า เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออกที่มีโครงสร้างรายได้ส่วนใหญ่เป็นเงินต่างประเทศ แต่ต้นทุนบางส่วนเป็นเงินบาทไทย โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
โดยบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ทุกๆ 1 บาท ที่อ่อนค่า กำไรปกติจะเพิ่มขึ้นราว 5.5% เนื่องจากโครงสร้างรายได้ 70% เป็นดอลลาร์ โครงสร้างต้นทุน 50% เป็นดอลลาร์ เช่นเดียวกับบริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI ทุกๆ 1 บาทที่อ่อนค่า กำไรปกติจะเพิ่มขึ้นราว 5.2% เนื่องจากโครงสร้างรายได้ 85% เป็นดอลลาร์ โครงสร้างต้นทุน 75% เป็นดอลลาร์ และบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ทุกๆ 1 บาท ที่อ่อนค่า กำไรปกติจะเพิ่มขึ้นราว 5.7% เนื่องจากโครงสร้างรายได้ 72% เป็นดอลลาร์ โครงสร้างต้นทุน 54% เป็นดอลลาร์ แต่ฝ่ายวิจัยยังคงแนะนำ ถือ
ส่วนบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA แม้จะได้ประโยชน์สูงสุด โดยทุกๆ 1 บาท ที่อ่อนค่า กำไรปกติจะเพิ่มขึ้นถึง 6.2% เนื่องจากโครงสร้างรายได้ 100% เป็นดอลลาร์ โครงสร้างต้นทุน 60% เป็นดอลลาร์ แต่ฝ่ายวิจัยเตรียมปรับประมาณการฯ ปี 58-59 ลงเฉลี่ย 25% เนื่องจากการลดลงของรายได้ อัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่าเสื่อมราคาของโรงงานใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 58 ส่งผลให้กำไรปกติปีนี้ลดลงราว 11% จากปีก่อน และอยู่ในระหว่างทบทวนคำแนะนำ
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มวัสดุก่อสร้างบางรายที่ได้รับประโยชน์เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกสุทธิ ได้แก่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC, บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ VNG ส่วนบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO แม้รายได้ส่วนใหญ่เป็นการส่งออก และได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าในแง่ของ Operation แต่เงินกู้สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน อยู่ในสกุลดอลลาร์เช่นกัน จึงมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น เมื่อเงินบาทอ่อนค่า และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ได้ประโยชน์ จากผู้รับเหมาที่เน้นรับงานจากต่างประเทศ ได้แก่บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) หรือ TTCL, บริษัท บีเจซี เฮฟวี่ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ BJCHI และบริษัท ศรีราชาคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SRICHA
ตรงข้าม ผู้ที่เสียประโยชน์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีหนี้สินเป็นต่างประเทศ ได้แก่บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL มีหนี้สินหลักอยู่ในสกุลยูโร หากเงินบาทอ่อนค่าจะมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่นเดียวกับบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) หรือ SIM เสียประโยชน์ เพราะนำเครื่องมือถือเข้ามาจำหน่าย (รับเงินเป็นดอลลาร์ 80% ของต้นทุน) แต่ขายเป็นบาท และธุรกิจสายการบินเสียประโยชน์ทั้งหมด เพราะต้นทุนราว (สัดส่วน 60%-70% ของต้นทุนรวม อาทิน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกัน ค่าเช่าเครื่องบิน) อยู่ในสกุลดอลลาร์ แต่ไม่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะชดเชยได้บางส่วนจากการทำ Natural Hedge จากที่มีรายได้บางส่วนเป็นเงินสกุล USD (ราวๆ 40%-50% ของรายได้รวม)
ที่มา: บทวิเคราะห์ Market Talk
ภาพประกอบหัวข่าว www.linkedin.com