เงินบาทแข็งในรอบ 4 เดือน! โบรกฯแนะสอยหุ้นได้ประโยชน์-ระวังก่อนเข้าลงทุน!

เงินบาทแข็งในรอบ 4 เดือน! โบรกฯแนะสอยหุ้นได้ประโยชน์-ระวังก่อนเข้าลงทุน!


วานนี้ (11 มิ.ย.63) นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ค่าเงินบาทปิดวานนี้ที่ระดับ 30.95 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเปิดตลาดเช้าที่ระดับ 31.05 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 30.83-31.12 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามทิศทางไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ และแรงเทขายดอลลาร์ของผู้ส่งออก

ขณะเดียวกันหากเทียบค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 30.95 บาท/ดอลลาร์ ดังกล่าวถือเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือน ซึ่งนับจากวันที่ 28 ม.ค.63 ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.81บาท/ดอลลาร์

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลในภูมิภาค โดยนับตั้งแต่สิ้นเดือน พ.ค. ถึงปัจจุบัน (11 มิ.ย. 63) เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น 2.71% รองจากเงินรูเปียของอินโดนีเซีย และเงินวอนของเกาหลีใต้ สาเหตุหลักมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เงินทุกสกุลในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ.

สำหรับเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเงินไหลกลับของนักลงทุนที่เป็นทั้งนักลงทุนไทยและกองทุนต่างๆ ที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงก่อนหน้า ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในเดือนมิถุนายน แต่ยังไม่มาก

จากประเด็นดังกล่าวทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจข้อมูลกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากเงินบาทแข็งค่าขณะเดียวกันได้รวบรวมกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะมีผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่ามานำเสนอโดยอาศัยข้อมูลจากบทวิเคราะห์บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ดังนี้

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นราว 4.3% QTD สอดคล้องกับสกุลเงินในเอเชียอื่นๆ เป็นผลพวงจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า จากการคาดการธนาคารกลางสหรัฐฯจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากผลกระทบ COVID-19 รวมถึงการส่งออกทองคำปริมาณมากของไทย

ทั้งนี้แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามส่งสัญญาณเข้าแทรกแทรงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นไปมาก แต่ยังคงมีหลายปัจจัยสำคัญให้ติดตามซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวนในระยะถัดไป ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน, ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ, dot plots ชุดใหม่ของเฟด รวมไปถึงข้อมูลจากจีน เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจเดือน พ.ค. เป็นต้น

ความไม่แน่นอนในหลายปัจจัยส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในอนาคต อย่างไรก็ตามการที่ QTD ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากว่า 4.3% คาดส่งผลต่อผลประกอบการไตรมาส 2/63 ในหุ้น/อุตสาหกรรมที่จัดทำบทวิเคราะห์ดังนี้

สำหรับหุ้น/อุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จาก “ค่าเงินบาทแข็งค่า” 

กลุ่มสายการบิน THAI, AAV, BA มีโครงสร้างต้นทุนเป็นเงินสกุลดอลลาร์ราว 60% ค่าเงินบาทแข็งค่าจะทำให้ต้นทุนลดลง

กลุ่มพลังงาน เนื่องจากมีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้มีการบันทึก unrealized fx gain เรียงลำดับมากสุด ได้แก่ PTT, PTTGC, TOP ขณะที่ฝั่งรายได้และค่าใช้จ่ายจะเกิด natural hedge

กลุ่มโรงไฟฟ้า เนื่องจากมีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้มีการบันทึก unrealized fx gain เข้ามา อย่างไรก็ตาม รายการดังกล่าวเป็นเพียงรายการทางบัญชีและไม่ได้มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด ทั้งนี้หุ้นที่มี impact จากประเด็นดังกล่าวประกอบด้วย GULF, BGRIM, GPSC, RATCH, WHAUP, GUNKUL

อื่นๆ

-PRM แม้จะเกิด natural hedge จากฝั่งรายได้และค่าใช้จ่าย แต่บริษัทจะรับรู้ unrealized fx gain จากเงินกู้สกลุลดอลลาร์ ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าจะทำให้มี FX Gain ราว 40 ล้านบาท

TVO จะได้ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบที่ถูกลง (บริษัทนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศราว 75-80%) ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 3%

-TKN ประเมินจะได้ผลบวกเล็กน้อย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเป็นดอลลาร์มากกว่ารายได้เล็กน้อย

ทั้งนี้ หุ้นที่น่าสนใจจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยังชอบ PRM (ซื้อ/เป้า 9.70 บาท) จากแนวโน้มกำไรไตรมาส 2/63 ที่จะทำสถิติสูงสุดใหม่ และ TVO (ซื้อ/เป้า 28.50 บาท) อาจจะทำให้กำไรมีแนวโน้มดีกว่าคาดเดิม

 

ส่วนหุ้น/อุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะได้รับผลลบจาก “ค่าเงินบาทแข็งค่า” ซึ่งแนะนำให้ระมัดระวังการเข้าลงทุน ได้แก่

กลุ่มอิเลกทรอนิกส์ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก การแข็งค่าของเงินบาททุกๆ 1 บาท จะมีผลทำให้กำไรของ KCE ลดลง -6% และ HANA ลดลง -5%

กลุ่มอาหาร เนื่องจากมีรายได้ส่วนใหญ่จากต่างประเทศ โดยเรียงลำดับทุกการแข็งค่า 1 บาทจะส่งผลต่อกำไรลดลงดังนี้ STA -6%,TU -5%, CPF -5%, ASIAN -5%, GFPT -2%

อุตสาหกรรมอื่นที่ได้ผลกระทบเชิงลบจากค่าเงินบาทแข็งยังคงมีสาเหตุจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก ได้แก่

SMPC ประเมินทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าทำให้กำไรลดลง -8-10%

MEGA ประเมินทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าทำให้กำไรลดลง -7%

EPG ประเมินทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าทำให้กำไรลดลง -4%

 

บล.ทิสโก้ ระบุกลยุทธ์การลงทุนว่า การพักฐานเป็นจังหวะดีในการซื้อคืน แต่ต้องเทรดอย่างมีวินัย หลังจากที่แนะนำทยอยแบ่งขายลดพอร์ต-ถือเงินสดเพิ่มในช่วงก่อนหน้านี้ มอง SET พักฐานเป็นจังหวะในการซื้อคืน แต่ต้องเทรดอย่างมีวินัย แนะใช้ Stop เมื่อ SET ปิดต่ำกว่า 1390 แต่หากขึ้นทะลุ 1430 จะเป็นสัญญาณเชิงบวก โดยแนะนำหุ้นได้ประโยชน์บาทแข็ง ชอบ EGCO, PTT, PTTGC, TOP, COM7, SYNEX, TVO

 

บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า AOT (ปิด 66.5 ซื้อ/เป้าสูงสุด IAA Consensus 78 ) เก็งกำไรภาครัฐเตรียมพิจารณาอนุญาติให้เครื่องบินโดยสารเข้าประเทศไทยได้ หลังจากที่มาตรการห้ามบินดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในช่วงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ส่วนผลประกอบการระยะสั้นยังได้ Sentiment บวกจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้ AOT อาจมีกำไรจาก FX Gain เนื่องจากมีหนี้เป็นสกุลดอลลาร์และยูโรเป็นสัดส่วนหลัก

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button