8 หุ้นธุรกิจการบิน-โรงแรมตัวท็อป! รับอานิสงส์รัฐอัดงบกว่า 2 หมื่นล้านกระตุ้นท่องเที่ยว

8 หุ้นธุรกิจการบิน-โรงแรมตัวท็อป! รับอานิสงส์รัฐอัดงบกว่า 2 หมื่นล้านกระตุ้นท่องเที่ยว


วานนี้(16 มิ.ย.63)ครม.อนุมัติหลักการมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว 3 แพ็กเกจหลัก คือ 1) แพ็กเกจกำลังใจสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ ,2) แพ็กเกจเที่ยวปันสุข และ 3) แพ็กเกจไปเที่ยวกัน สำหรับประชาชนทั่วไป มีระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ ก.ค. – ต.ค. 63 โดยใช้งบอุดหนุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบวกให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

ดังนั้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมข้อมูลกลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวดังกล่าวมานำเสนอ โดยอาศัยข้อมูลบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ชั้นนำของไทยโดยมีหุ้นกลุ่มธุรกิจการบินและโรงแรม อาทิ AOT,AAV,NOK,BA ,MINT,CENTEL,ERW,CENTEL  ตามบทวิเคราะห์ระบุไว้ดังนี้

บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุกลยุทธ์ลงทุนว่า คาดดัชนีจะยังแกว่งตัวในแดนบวกให้กรอบการเคลื่อนไหวที่ 1,370 – 1,383 จุด ดัชนีฟื้นตัวเร็ว valuation ยังตึงตัว และตลาดยังมีความกลัวจาก covid-19 รอบสอง จึงเตือนให้นักลงทุนยังต้องใช้ความระมัดระวังการลงทุนโดยยังเน้นหุ้นในกลุ่ม Domestic play โดยเลือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐเป็นหลัก อาทิท่องเที่ยว (ERW CENTEL) และค้าปลีก (CPALL HMPRO และ DOHOME)

อีกทั้งวานนี้ ครม. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว ผ่าน 3 แพ็กเกจหลัก คือ 1) แพ็กเกจกำลังใจสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ ,2) แพ็กเกจเที่ยวปันสุข และ 3) แพ็กเกจไปเที่ยวกัน สำหรับประชาชนทั่วไป มีระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ ก.ค. – ต.ค. 63

 

บล.เอเชีย เวลท์ ระบุกลยุทธ์ลงทุนว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ไทยเที่ยวไทย  3 แพ็คเกจ ประกอบด้วย “เที่ยวปันสุข – ไปเที่ยวกัน – กำลังใจ” วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะเวลาดำเนินการในช่วง 4 เดือน  (ก.ค. – ต.ค. 63) มองเป็นบวกต่อกลุ่มที่เกี่ยวกับธุรกิจการบินและโรงแรม (AOT AAV MINT CENTEL และ ERW)

 

บล.ไทยพาณิชย์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ครม.อนุมัติ คาด ERW จะได้รับประโยชน์มากที่สุดในกลุ่มโรงแรม ส่วนในกลุ่มสายการบินจะเป็น BA ที่ได้ประโยชน์สูงสุด รองลงมาคือ NOK โดยมีตารางประกอบสัดส่วนรายได้ธุรกิจโรงแรมและการบินในประเทศดังนี้

บล.โนมูระ พัฒนสิน  ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ วงเงิน 2.2 หมื่นลบ.ระยะเวลา 4 เดือน (ก.ค.-ต.ค.20) มอง Positive ต่อกลุ่มการบิน 1) มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ 2) การผ่อนคลายมาตรการ Social Distancing บนเครื่องบิน (ที่ประกาศเมื่อสัปดาห์หน้านี้) และ 3)มาตรการ Travel bubble กับบางประเทศ (อยู่ระหว่างเจรจาและดูความเหมาะสม) จะช่วยหนุนผลประกอบการกลุ่มการบินฟื้นตัวเร็วขึ้น

โดยมอง AAV (REDUCE, TP 1.00 บาท) ได้ประโยชน์มากที่สุด แม้ AAV จะมีสัดส่วนรายได้เส้นทางบินในประเทศ 50% ของรายได้ตั๋วโดยสาร เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มฯ น้อยกว่า BA (REDUCE, TP 3.25 บาท) ที่มีสัดส่วนรายได้เส้นทางบินในประเทศ 60% ของรายได้ตั๋วโดยสาร แต่เชื่อว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของ AAV มีสัดส่วนเป็นผู้โดยสารชาวไทยมากกว่าขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของ BA (มากกว่า 70%) เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งยังมีข้อจำกัดในการเดินทางเข้าประเทศไทยอยู่ ส่วน THAI (Under Review) ได้ประโยชน์น้อยที่สุดเนื่องจากมีสัดส่วนรายได้เส้นทางบินในประเทศเพียง 6% น้อยที่สุดในกลุ่มฯ

เชื่อกลุ่มการบินผ่านจุดเลวร้ายที่สุดมาแล้ว สายการบินทยอยกลับมาบินเส้นทางในประเทศตั้งแต่เดือน พ.ค.63 และอาจเริ่มบินเส้นทางระหว่างประเทศตั้งแต่เดือน ก.ค.63 เมื่อรัฐบาลออกมาตรการ Travel bubble

อย่างไรก็ตามยังคาดการฟื้นตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และธุรกิจการบินยังมีปัจจัยเสี่ยงจาก 1) กำลังซื้อผู้บริโภคลดลงฉุด Demand 2) การแข่งขันทางด้านราคา (Price War) หลังจากสามารถขายที่นั่งได้ 100% และ 3) สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ทั่วโลกยังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการแพร่ระบาดรอบ 2 (2nd Wave) ในหลายประเทศที่มีการคลาย Lockdown เช่น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น

เปลี่ยนคำแนะนำเป็น NEUTRAL (จากเดิม BEARISH) สถานการณ์กลุ่มการบินมีแนวโน้มค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่เชื่อว่าราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นมาซื้อขายที่ Forward P/BV ปี 2021F ที่ 0.5-0.7 เท่า สะท้อนแล้วเช่นกัน ทั้งอยู่ระหว่างทบทวนราคาเป้าหมายหุ้นกลุ่มการบินไปเป็นราคาเป้าหมายกลางปี 2564 ที่ผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวจากฐานต่ำในปีนี้

 

โดยวานนี้(16 มิ.ย.63) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่าน 3 โครงการสำคัญตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ซึ่งจะใช้งบประมาณสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 22,400 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 4 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.63 โดยจะต้องลงทะเบียนการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มของธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งในรายละเอียดนั้นจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

โครงการแรก คือ กำลังใจ เป็นการส่งเสริมกำลังใจให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมประมาณ 1.2 ล้านคน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินค่าเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว ไม่เกินคนละ 2,000 บาท มีเงื่อนไขว่าต้องเดินทางท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน คาดว่าจะใช้งบประมาณ 2,400 ล้านบาท

โครงการสอง คือ เราไปเที่ยวด้วยกัน รัฐบาลจะสนับสนุนค่าที่พัก-โรงแรม ในอัตรา 40% ของราคาค่าห้องต่อคืน แต่สูงสุดไม่เกินคืนละ 3,000 บาท รวมทั้งสนับสนุนเงินอีก 600 บาท/ห้องพัก/คืนผ่านการลงทะเบียนจากแอพพลิเคชั่น”เป๋าตังค์”ไม่เกิน 5 คืนเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายและค่าอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นที่ผู้ใช้สิทธิไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งในส่วนนี้จะใช้งบประมาณ 18,000 ล้านบาท

โครงการสาม คือ เที่ยวปันสุข รัฐบาลจะสนับสนุนการเดินทางของประชาชนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน ผ่านการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่ง สายการบิน รถขนส่งไม่ประจำทาง และรถเช่า โดยรัฐจะสนับสนุนในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button