STGT ยักษ์ถุงมือยาง! ลงสนามเทรดวันแรก ลุ้นเหนือจอง 34 บ. โบรกฯการันตีกำไรทั้งปีโต 3 เท่า

STGT ยักษ์ถุงมือยาง! ลงสนามเทรดวันแรก ลุ้นเหนือจอง 34 บ. โบรกฯการันตีกำไรทั้งปีโต 3 เท่า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ก.ค.) บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เข้าซื้อขายใน SET ในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดธุรกิจของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์  เริ่มทำการซื้อขายในวันที่ 2 ก.ค.63 จำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลท. และหุ้นชำระแล้ว 1,428,780,000 หุ้น ราคาพาร์ 1.00 บาท

สำหรับจำนวนหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 438,780,000 หุ้น จัดสรรให้ประชาชนทั่วไป จำนวน 434,780,000 หุ้น กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทหรือบริษัทย่อย (ESOP) จำนวน 4,000,000 หุ้น ราคา IPO 34 บาท ระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย.63 ขณะที่ราคาเสนอขาย ESOP อยู่ที่หุ้นละ 30.60 บาท โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ทั้งนี้ STGT เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่น โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ถุงมือยางธรรมชาติชนิดมีแป้ง ถุงมือยางธรรมชาติชนิดไม่มีแป้ง และถุงมือยางไนไตรล์

โดย นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT เชื่อว่าบริษัทเป็นผู้ผลิตถุงมือยางที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้  จะช่วยเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ พร้อมสร้างความแข็งแกร่งด้านเงินทุน และต่อยอดโอกาสในการขยายธุรกิจ โดยบริษัทมีแผนที่จะนำเงินระดมทุนไปขยายและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากกว่า 50,000 ล้านชิ้นต่อปี ในปี 2567 และ 100,000 ล้านชิ้นต่อปี ในปี 2575 เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ STGT มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่ม STA และครอบครัวสินเจริญกุล ถือหุ้น 66.1% นางสาวพูนสุข เชิดเกียรติกำจาย ถือหุ้น 2.3% และกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ และ STA ถือหุ้น 0.8%

อีกทั้ง STGT มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและจัดสรรทุนสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามข้อบังคับบริษัทและตามกฎหมาย ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกำไรสะสมของ STGT ที่ปรากฎในงบการเงินเฉพาะกิจการ

ส่วน นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” STGT ราคาเป้าหมาย 56 บาท/หุ้น อิง P/E เฉลี่ยกลุ่มก่อน COVID-19 แพร่ระบาดรุนแรงที่ 21.2 เท่า โดยมองว่าอนาคตของ STGT ไม่ได้มีเพียงประเด็นของการได้ประโยชน์จากสถานการณ์ COVID-19 ที่จะดันให้กำไรปี 2563 ขยายตัวแรง 5 เท่าตัว แต่มองไปไกลกว่าว่า ผู้ผลิตถุงมือยังอันดับ 3 ของโลกรายนี้ กำลังจะพร้อมแล้วที่จะขึ้นไปท้าท้ายผู้เล่นระดับโลกด้านบน ด้วยความได้เปรียบในเชิงตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทย และการสนับสนุนอย่างดีจาก STA ผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก

ทั้งนี้นอกจาก STGT จะได้รับการหนุนหลังจาก STA ซึ่งเป็นผู้ส่งออกยางพาราส่วนแบ่งอันดับ 1 ของโลกแล้ว การตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำยางธรรมชาติเข้มข้น (Concentrated latex) รายใหญ่ของโลก ส่วนแบ่ง 73% ทำให้ STGT ปิดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบได้เบ็ดเสร็จ เหนือกว่าคู่แข่งรายใหญ่อีก 4 แห่งที่อาศัยอยู่ในมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำยางข้นจากไทย

ขณะที่เงินจากการ IPO ราว 1.5 หมื่นล้านบาท ก็เพียงพอขยายกำลังการผลิตอีก 1 เท่าตัวใน 5-6 ปีข้างหน้าแล้ว ดังนั้นแผนการเติบโตระยะยาวในอุตสาหกรรมที่ผู้เล่นใหม่เกิดยาก (High barrier to entry) ด้วยแผนการเจาะตลาดในประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังมีจำนวนการใช้ถุงมือยางต่ำเพียง 4-10 ชิ้น/คน/ ปี (ตย. จีน) เทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้วที่ 100-150 ชิ้น/คน/ ปี เราจึงมองว่ามีความเป็นไปได้

ทั้งนี้คาด STGT จะมีกำไรสุทธิปี 2563 เป็นสถิติ 3.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปีก่อน ผลักดันจากกำลังการผลิตใหม่ที่เข้าต้นปี เพิ่มขึ้น 20% และ ราคาขายเฉลี่ยคาดเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากภาวะขาดแคลนถุงมือยางทั่วโลกปีนี้ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19

โดยอัตรากำไรขั้นต้น คาดพุ่งจาก 12.0% เป็น 25.7% โดยไตรมาส 1/63 ช่วงต้นของการระบาด ก็เริ่มไต่ขึ้นแล้วที่ 18.8% ซึ่งเมื่อใช้ Forward P/E เฉลี่ย 21.2 เท่า ของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง 4 ของมาเลเซียในช่วงก่อน COVID-19 ระบาดรุนแรงเป็นจุดอ้างอิงเพื่อความอนุรักษ์นิยม บน EPS 2.68 บาท/ หุ้น (หุ้นถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 1,212 ล้านหุ้น)

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า STGT เป็นบริษัทผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นอันดับ 3 ของโลก ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตถุงมือยาง 32,619 ล้านชิ้น/ปี เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบจากปีก่อน คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ที่ร้อยละ 40.7 ในช่วงปี 2560 – ไตรมาส 1/63 นอกจากนี้บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านชิ้น/ปี และ 100,000 ล้านชิ้น/ปี ภายในปี 2575

ทั้งนี้ประเมินกำไรสุทธิปี 2563 ที่ 2,814 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 344% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากสถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเราประเมินว่า utilization rate จะเพิ่มขึ้นเป็น 95% ในปี 2563 จาก 89% ในปี 2562

นอกจากนี้ STGT ยังมีข้อได้เปรียบคู่แข่งขันด้านต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบจากทำเลที่ตั้งโรงงานที่อยู่ใกล้กับโรงงานผลิตน้ำยางข้น อีกทั้ง STGT มีแผนขยายตลาดไปยังประเทศเกิดใหม่ที่มีความต้องการใช้ถุงมือยางธรรมชาติเป็นหลักซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่จะเป็นผู้นำการผลิตถุงมือยางธรรมชาติ

โดย บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินราคาหุ้น STGT ด้วยวิธี PER Ratio ได้ราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 47 บาท/หุ้น เทียบเท่า PER ปี 2563 ที่ 23.9 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 42.4 เท่า ขณะที่ STGT มี ROE ที่ 25.5% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 18.4%

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า STGT เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่ 1 ใน 5 ของโลก ส่วนใหญ่เป็นถุงมือยางทางการแพทย์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง จึงมีความถี่ในการซื้อสูง คาดความต้องการใช้เพิ่มขึ้นปีละ 12% โดยเฉพาะปี 2563 ที่ความต้องการสูงมากจาก COVID-19 บริษัทขยายกำลังการผลิตและเริ่มเข้ามาตั้งแต่ มี.ค. 2563 คาดปริมาณขายปีนี้จะโตถึง 52% เมื่อเทียบจากปีก่อน บวกกับบาทอ่อนหนุนเพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากส่งออก ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบปรับลงตามราคาน้ำมันดิบที่ลงแรง

ดังนั้นจึงคาดว่ากำไรสุทธิปีนี้โตก้าวกระโดด 392% เมื่อเทียบจากปีก่อน ทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 3.1 พันล้านบาท เป็นปีทองของ STGT ประเมินราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 45 บาท/หุ้น (PE 21 เท่า) อนึ่ง บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น IPO ของ STGT

Back to top button