SET50 ในรอบ 10 เดือน CBG นำทีมพุ่งสวนตลาดฯ-แนะเก็บ 11 หุ้น “บลูชิพ” ราคาต่ำบุ๊ก

SET50 ในรอบ 10 เดือน CBG นำทีมพุ่งสวนตลาดฯ-แนะเก็บ 11 หุ้น “บลูชิพ” ราคาต่ำบุ๊ก


ดัชนีตลาดหุ้นไทย SET Index ในช่วงช่วง 10 เดือนแรกปี 2563 ยังอยู่ในช่วงขาลงโดยเห็นได้จากดัชนียืนที่ระดับ 1579.84  จุด (ณ 30 ธ.ค.62) มาอยู่ที่ระดับ 1194.95 จุด (ณ 30 ต.ค.61) ลดลง 384.89 จุด หรือลดลง 34.36%

โดยในช่วงที่ผ่านมาภาวะตลาดมีปัจจัยลบกดดันหนัก ส่งผลให้มีการใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ถึง 3 ครั้งในเดือน มี.ค.หลังดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงแรงเพราะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจทั่วโลกรับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐจีน และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน

สำหรับตลาดหุ้นไทยเดือนตุลาคมส่วนใหญ่อยู่ในโหมด sideways down โดยมีปัจจัยภายนอกได้แก่ i) ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกเร่งตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ ทำให้บางประเทศในยุโรปกลับมาใช้มาตรการ lockdown อีกครั้ง ii) ความล่าช้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ และ iii) ผลการเลือกตั้งสหรัฐส่วนภายในประเทศ ภาวะตลาดถูกกดดันจากการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในกลางเดือนตุลาคม ส่งผลให้ภาพรวมตลาดหุ้นไทย 10 เดือนที่ผ่านมายังเป็นขาลง

จากภาวะดังกล่าวทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นขนาดใหญ่จนราคาปรับลงแรงเกินพื้นฐานหลายตัว ดังนั้นทีมข่าว ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจกลุ่มหุ้น SET50  ในช่วงดังกล่าวมานำเสนอ เพื่อให้เห็นทิศทางราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาอย่างชัดเจน อีกทั้งเพื่อเป็นโอกาสให้นักลงทุนได้เข้าสะสมหุ้นพื้นฐานแกร่งที่ปรับตัวลงแรง โดยครั้งนี้เทียบข้อมูลราคาหุ้น ณ วันที่ 30 ธ.ค.62-30 ต.ค.63 ตามตารารางประกอบดังนี้

สำหรับหุ้นที่ราคาปรับตัวแรงสวนภาวะตลาดฯอันดับ 1 คือ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนแรกปี 2563 ปรับตัวขึ้น 30.36% จากระดับ 84.00 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.62 มาอยู่ที่ระดับ 109.50 บาท ณ วันที่ 30 ต.ค.63 คาดราคาหุ้นปรับตัวแรงเนื่องจากนักวิเคราะห์มองว่าผลงานปี 2563 เติบโตเด่น

บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า CBG  ( ซื้อ /เป้า 145) คาดกำไรสุทธิไตรมาส3/63 ที่ 910 ล้านบาทเพิ่มจึ้น โต 4%เทียบไตรมาสก่อนหน้า และ โต 24% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนไตรมาส 4/2563 คาดทำ All time high รับอานิสงส์มาตรการคนละครึ่งกระตุ้นยอดขาย และลดต้นทุนการผลิตหนุน GPM

 

อันดับ 2  บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนแรกปี 2563 ปรับตัวขึ้น 12.59% จากระดับ 13.50 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.62 มาอยู่ที่ระดับ 15.20 บาท ณ วันที่ 30 ต.ค.63 เนื่องจากแผนธุรกิจโดดเด่นและแนวโน้มผลประกอบการปีนี้สดใส

โดยล่าสุด TU แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมีมติอนุมัติให้บริษัท ไทยยูเนี่ยน อินกรีเดียนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ร่วมทุนกับบริษัท เบฟเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ จัดตั้งบริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด เพื่อร่วมมือพัฒนาสินค้า ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ โดยบริษัท เบฟเทค จำกัด ถือหุ้น 50.9999% และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน อินกรีเดียนท์ จำกัด ถือหุ้น 49%

ทั้งนี้ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” TU ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 20 บาท อิง PER ปี 2563 ที่ 16 เท่า จากเดิมที่ 18.00  จากการปรับกำไรขึ้นข้างต้น  ทั้งนี้เชื่อว่า ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ ปัจจัยหนุนคือ อาหารกระป๋องแปรรูป ambient seafood ยังมีความต้องการที่สูงจากการสำรองอาหารจากการกลับมาระบาดของโควิด-19

โดย TU รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/63 ที่ 2.06 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบจากปีก่อน และ 20% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน ดีกว่าตลาดคาด 14% เป็นผลมาจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีกว่าคาดที่ 18.2% สูงกว่าที่คาดที่ 17.5% เนื่องจากการเพิ่มยอดขายสินค้าแบรนด์ในธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปที่มีอัตรากำไรสูง ขณะที่ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งมียอดขายฟื้นตัวขึ้นจากการคลายการปิดเมือง ส่วนกำไรสุทธิ 9 เดือนปี 2563 คิดเป็นถึง 87% ของประมาณการเดิมของกำไรสุทธิทั้งปี

ดังนั้นจึงปรับกำไรปี 2563 ขึ้น 9% มาอยู่ที่ 6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากการปรับอัตรากำไรขั้นต้นเป็น 17.5% จากประมาณการเดิมที่ 17.0% เพราะอัตรากำไรขั้นต้นดีกว่าคาดมาก โดยอัตรากำไรขั้นต้น 9 เดือนปี 2563 อยู่สูงที่ 17.6%

ทั้งนี้ผลประกอบการไตรมาส 4/63 อาจจะอ่อนลงเล็กน้อยเพราะเป็น low season เนื่องจากเป็นช่วงอากาศหนาวและการทานอาหารนอกบ้านในต่างประเทศน้อย แต่คาดว่าอาหารทะเลกระป๋องแปรรูปยังมีแนวโน้มดี จากการสำรองอาหารเพราะโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังได้ปรับกำไรปี 2564  ขึ้น 10% มาอยู่ที่ 6.3 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบจากปีก่อน)เพราะคาดว่าโควิด-19 ยังคงมีผลต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ทำให้ปรับอัตรากำไรขั้นต้นขึ้นเป็น 16.9% จากเดิมที่ 16.4%

 

ส่วนอันดับ 3 บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP  เป็นหุ้นเข้าใหม่ในเดือนต.ค.63 โดยราคาหุ้นเปรียบเทียบช่วงระหว่างราคาหุ้นเข้าตลาดวันแรก 22 ต.ค.63 อยู่ที่ระดับ 35 บาท มาอยู่ที่ 35.25 บาท ณ 30 ต.ค.63 แต่เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งการนำหลักทรัพย์ SCGP ซึ่งจดทะเบียนและเริ่มทำการซื้อขายวันแรกเมื่อ 22 ตุลาคม 2563 เข้าคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป และนำหลักทรัพย์ของบมจ.ทุนธนชาต  (TCAP) และบมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป  (ERW) ออกจากองค์ประกอบของดัชนี SET50 และ SET100 ไปอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์สำรอง (Reserve List) ของแต่ละดัชนีตามลำดับ

โดยการทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้สำหรับคำนวณดัชนีดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์ระหว่างรอบที่กำหนดหลักการว่าจะนำหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่เข้ามารวมคำนวณดัชนีหากหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนใหม่นั้นมีขนาดใหญ่

กล่าวคือ มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากกว่า 1% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม หรือมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ในช่วง 20 ลำดับแรกของหลักทรัพย์ในดัชนี SET50 และ SET100 โดยจะนำหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดน้อยสุดออกจากการคำนวณดัชนีไปไว้ในกลุ่มหลักทรัพย์สำรอง

อนึ่งหุ้น SCGP เข้าซื้อขายในตลาดวันแรกเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2563 และภายหลังปิดทำการซื้อขายหุ้นรายนี้มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป อยู่ที่ 148,874.25 ล้านบาท

 

ส่วนกลุ่มหุ้นที่ราคาปรับตัวลงแรง 42 ตัว พบว่าเป็๋นหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีมีทั้งหมด 11 ตัว ตรงนี้ถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนหาจังหวะเข้าเก็บหุ้นอีกครั้ง อาทิ IVL,TMB,IRPC,PTTEP,KTB,TOP,EGCO, PTTGC, SCB, KBANK และBBL

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button