โบรกอัพคำแนะนำ “ซื้อ” AMANAH เป้าใหม่ 3.25 บ. มองสินเชื่อไตรมาส 4/63-1/64 ขยายตัวเด่น
โบรกอัพคำแนะนำ “ซื้อ” AMANAH เป้าใหม่ 3.25 บ. มองสินเชื่อไตรมาส 4/63-1/64 ขยายตัวเด่น
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับบริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH โดยนักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุปรับคำแนะนำขึ้นเป็น “ซื้อ” จากเดิม “ถือ” และปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 3.25 บาท อิง 2564E PBV ที่ 1.9 เท่า (+1SD above 3-yr average PBV) จากเดิม 2.70 บาท อิง 2563E PBV ที่1.8 เท่า (+0.5SD above 3-yr average PBV) จากการปรับกำไรปี 2563-64 ขึ้น, roll over ไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2564, และ re-rate PBV ขึ้น
โดยมีมุมมองเป็นบวกจากการประชุมนักวิเคราะห์จาก 1) สินเชื่อใหม่ที่จะขยายตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4/63 – 1/64 จากลูกหนี้ของบริษัทอื่นมาขอ refinance กับ AMANAH เพิ่มขึ้น และจากการทำตลาดเชิงรุกมากขึ้น,
2) รายได้อื่นเพิ่มขึ้นจากการขายลูกหนี้ให้ผู้ประกอบการ AMC ที่มูลหนี้ 300 ล้านบาทเป็นครั้งแรกและ 3) ค่าใช้จ่ายสำรองฯจะไม่เพิ่มขึ้นสูงจากสำรองฯส่วนเกินคงเหลือเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 เพิ่มขึ้น +6% อยู่ที่ 288 ล้านบาท (+16% จากปีก่อน) และปี 2564 เพิ่มขึ้น +9% อยู่ที่ 317 ล้านบาท (+10% จากปีก่อน) โดยเป็นผลจากการปรับ 1) เพิ่ม loan growth ปี 2563/64 เป็น +5% จากปีก่อน /+6% จากปีก่อน และ 2) ปรับ NPLs ปี 2563/64 ลดลงเป็น 4.1%/5.0%
โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้น แต่ underperform SET -10% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ภายหลังที่มีการเปิดตัวความร่วมมือระหว่าง GSB กับ SAWAD อย่างไรก็ตามได้ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น “ซื้อ” จากแนวโน้มสินเชื่อที่คาดว่าจะกลับมาดีขึ้น และกำไรที่จะขยายตัวต่อเนื่องที่ 2562-64 EPS CAGR ที่ +13%
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563-64 เพิ่มขึ้นปีละ +9%/+8% อยู่ที่ 288 ล้านบาท (+16% จากปีก่อน) และ 317 ล้านบาท (+10% จากปีก่อน) ตามลำดับ จากการปรับ
1) เพิ่ม loan growth เป็น +5% จากปีก่อน / +6% จากปีก่อน จากเดิม -3% จากปีก่อน/+8% จากปีก่อน โดยเป็นผลการตัดจำหน่ายหนี้สูญที่น้อยกว่าคาด และได้รับผลบวกจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ทำให้ลูกหนี้เดิมลดลงน้อยกว่าที่เราคาด
2) ปรับ NPLs ลดลงเป็น 4.1%/5.0% จากเดิม 5.8%/5.6% เพื่อสะท้อนลูกหนี้มากกว่า 80% ที่ให้ความช่วยเหลือ และสามารถกลับมาชำระเป็นปกติ ส่งผลให้ 3) credit cost ปี 2563 ลดลงเป็น 315 bps (เดิม 329 bps) ก่อนที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2564 ที่ credit cost 370 bps (เดิม 309 bps) จากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้
ด้านผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/63 คาดว่าจะดีขึ้นทั้งจากปีก่อนและไตรมาสก่อนจากสินเชื่อคาดว่าจะขยายตัวตามการสิ้นสุดระยะเวลาการช่วยเหลือลูกหนี้ 3-6 เดือน ที่หนุนให้ลูกหนี้ refinance จากบริษัทไฟแนนซ์มาเป็นลูกหนี้ของบริษัทมากขึ้น