คัด 4 หุ้นส่งออก ราคาไต่ระดับ รับบาทอ่อน-อานิสงส์การเมืองไทย
คัด 4 หุ้นส่งออก ราคาหุ้นไต่ระดับ รับบาทอ่อน-อานิสงส์การเมืองไทย
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนในตลาดแห่งประเทศไทย (บจ.) ในกลุ่มส่งออกที่ได้รับปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ย 0.5% และยังย้ำในการที่จะใช้มาตรการคุมเข้มในเรื่องการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ามากไปกว่านี้ จึงทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นมาปิดที่ระดับเหนือ 30.40 บาท/ดอลลาร์ นอกจากนี้ยังคงมีปัจจัยที่จะส่งผลให้คาดว่าค่าเงินจะอ่อนค่าจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สงบ
ทั้งนี้ ค่าเงินที่อ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มส่งออกเนื่องจากจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นจากการแลกเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท
โดยวานนี้ราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวเริ่มปรับตัวขึ้นสูง โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF มาปิดตลาดที่ระดับ 28.25 บาท ปรับตัวขึ้น 0.50 บาท หรือ 1.80% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.91 พันล้านบาท
ด้าน ราคาหุ้น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ปิดตลาดที่ระดับ 15.30 บาท ปรับตัวขึ้น 0.10 บาท หรือ 0.66% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 341.16 ล้านบาท
ขณะที่บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG ปิดตลาดที่ระดับ 4.78 บาท ปรับตัวขึ้น 0.02 บาท หรือ 0.42% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 100.23 ล้านบาท
อีกทั้งบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGA ปิดตลาดที่ระดับ 35.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 43.92 ล้านบาท
ทั้งนี้ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า เงินบาทอ่อนทันทีหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงความจำเป็นในการดูแลค่าเงินบาท จึงกลับมา”เก็งกำไร”กลุ่มส่งออก แนะนำ บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE), บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA), บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF)
ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ (19 พ.ย.2563) ว่า ตลาดหุ้นไทยผันผวน ตามความเสี่ยงการเมืองในประเทศ และ Downside Risk กำไรตลาด
โดย ความเสี่ยงทางการเมืองในไตรมาส 4 เพิ่มสูงขึ้น หลังมีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ กดดันทิศทางการลงทุน โดยทีมกลยุทธ์ศึกษาข้อมูลการชุมนุมทางการเมืองในอดีต 5 ครั้งย้อนหลัง นับตั้งแต่ปี 2006 จนถึงปี 2014 พบว่า SET มักจะค่อยๆ ปรับฐานในช่วงการชุมนุมจนสิ้นสุด เฉลี่ยราว -11.19% ด้วยโอกาสปรับฐาน 60%
ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ สถาบันการเงิน อสังหาฯ สื่อสารฯ บันเทิง ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มที่อิงภายใน ขณะที่กลุ่มที่ยังสามารถให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ คือ เกษตรอาหาร และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเล็กน้อย ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก กลุ่มการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ผลบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีความเสี่ยงภายใน
*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน