อวดโฉม 50 หุ้น SET โกยกำไรไตรมาส 3 โตทะลักเกิน 100% สวนพิษโควิด!

อวดโฉม 50 หุ้น SET โกยกำไรไตรมาส 3 โตทะลักเกิน 100% สวนพิษโควิด!


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  (ตลท.) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 697 บริษัท หรือคิดเป็น 94.3% จากทั้งหมด 739 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC บริษัทที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด หรือ NPG กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) นำส่งผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 63 และไตรมาส 3/63 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.63 พบว่า บจ.ที่รายงานผลกำไรสุทธิมีจำนวน 483 บริษัท สัดส่วนคิดเป็น 69.3% ของ บจ. ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/63 ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดย บจ. มียอดขายรวม 2,495,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก 216,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.2% และมีกำไรสุทธิ 137,576 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.4%

อีกทั้งมีความสามารถการทำกำไรดีขึ้น คือ มีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross profit margin) 23.5% จาก 22.2% มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit margin) 8.7% จาก 6.5% และมีอัตรากำไรสุทธิ (Net profit margin) 5.5% จาก 4.8%

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ บจ. สอดคล้องกับรายงานการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Real GDP Growth Rate) ในไตรมาส 3/63 ที่ 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ดังนั้น “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ในไตรมาส 3/2563 มานำเสนอเพื่อให้เห็นความสามารถในการทำกำไรอย่างแข็งแกร่งในช่วงดังกล่าว

เนื่องจากเป็นช่วงที่ธุรกิจส่วนใหญ่เผชิญปัจจัยลบทั้งภาวะสงครามการค้าจีน-สหรัฐ รวมทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลกโดยครั้งนี้คัดเลือกเฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET ที่มีกำไรสุทธิไตรมาส 3/2563 เพิ่มขึ้นเกิน 100% โดยหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 50 ตัว ตามตารางประกอบดังนี้

สำหรับหุ้นที่มีกำไรเพิ่มขึ้นสูงสุด อันดับ 1  คือ บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UVAN โดยไตรมาส 3/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 71.33 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 16,296.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 0.44 ล้านบาท โดยผลงานไตรมาส 3/2563 เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากปริมาณผลปาล์มในไตรมาส 3 ที่สูงขึ้นราคาน้ำมันปาล์มสูงขึ้นและยอดขายเมล็ดพันธ์และต้นกล้าปาล์มเพิ่มขึ้น

อันดับ 2 บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ไตรมาส 3/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,401.92 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 3,464.74 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 123.49 ล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากรายได้จากการขาย ที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 170% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังมีรายได้อื่นเติบโตมาที่ระดับ 120.7 ล้านบาท เติบโต 684% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น STGT ราคาเป้าหมาย 107 บาท/หุ้น โดยมีมุมมองเป็นบวกต่อ sentiment ราคาหุ้นระยะสั้น หลังงานรัฐบาลมาเลเซียสั่งปิดโรงงาน Top Glove เพิ่มเติมอีก อีก 12 โรงงาน หลังจากทยอยปิดไปอาทิตย์ที่แล้ว 16 โรงงาน (17 พ.ย.20) รวมเป็น 28 โรงงาน (คิดเป็นสัดส่วน 68% ของโรงงานทั้งหมด 41 โรงงานในมาเลเซีย)  ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อ STGT ส่งผลให้คาดว่ามี pandemic order เข้ามากับทางบริษัท และคาดว่าจะเห็นราคาขายถุงมือยางปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องใน เดือน ก.พ.- มี.ค. 20

อย่างไรก็ตามยังคงมุมมองราคาขายถุงมือยางมีแนวโน้มปรับตัวลงในครึ่งปีหลังปี 2564 หลังจากเมื่อคืนนี้ (23 พ.ย. 20) คาดว่าจะมีการใช้วัคซีน COVID-19 ในเดือน ธ.ค.20 นี้

ทั้งนี้คงกำไรสุทธิปี 2563 ที่ 9,044  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,310% เมื่อเทียบจากปีก่อน และคงกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 15,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71% เมื่อเทียบจากปีก่อน

อันดับ 3 คือบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด  (มหาชน) หรือ CKP ไตรมาส 3/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 831.31 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 2,393.20 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 33.34 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากรายได้รวมไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 2,141.55 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,005.57 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายรวมไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 1,620.24 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,715.74 ล้านบาท

นอกจากนี้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 669.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 14.10 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในบริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัด (XPCL) โดยมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่านโรงไฟฟ้าในไตรมาส 3 สูงขึ้นตามปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้นใน สปป. ลาว ส่งผลให้ XPCL มีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านนายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด  (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2563 ของบริษัทและบริษัทในเครือ พลิกกำไรตามคาด หลังจากที่ไตรมาส 2/2563 รายได้ลดลงจากปริมาณน้ำที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงเพราะเป็นช่วงฤดูแล้ง โดยในไตรมาส 3 มีรายได้รวม 2,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,001.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.5  และคิดเป็นกำไรสุทธิที่เป็นของ CKPower จำนวน 831.3  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 33.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 798 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเนื่องจากตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ของปีนี้ มีพายุและฝนตกต่อเนื่องในสปป.ลาว ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 มีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี อยู่ในระดับที่เพียงพอและเป็นที่น่าพอใจต่อการขายไฟฟ้าในช่วงเดือนแรกของไตรมาส 4 ที่ผ่านมา และคาดว่าสถานการณ์น้ำจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจต่อเนื่องไปในปี 2564 ดังนั้น คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทฯจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อันดับ 4 บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ESTAR  ไตรมาส 3/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 112.89 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 1,680.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6.34 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากรายได้รวมไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 1,056.82 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 396.99 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์

อันดับ 5 บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP  ไตรมาส 3/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 886.42 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 1,533.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 54.27 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมาจากการขายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ทั้ง 4 โรง รวมกำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าที่บ่อพลอย ขนาด 5 เมกะวัตต์ (MW) 2 โรง โรงไฟฟ้าลพบุรี ขนาด 5 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าปราจีนบุรี ขนาด 5 เมกะวัตต์ ให้กับบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG

และการขายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น 3 โรง  รวมกำลังผลิต 31.75 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการ Kurihara 1 ขนาด 9.52 เมกะวัตต์ โครงการ Kurihara 2 ขนาด 12.24 เมกะวัตต์ และโครงการ Kyoto ขนาด 9.99 เมกะวัตต์ ให้แก่ Blue Energy Capital GK และ Kurihara Taiyoukou Hatsuden GK ซึ่งเป็นนักลงทุนในประเทศญี่ปุ่น  ทั้งนี้กำไรจากการจำหน่ายโครงการ Kyoto จะรับรู้ในไตรมาส 4/2563

ขณะเดียวกันบริษัทยังอยู่ระหว่างการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนตุลาคม 2564 มีอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของผู้ถือหุ้น (IRR) ในระดับ 20-25% ต่อโครงการ ซึ่งจะช่วยผลักดันธุรกิจให้เติบโต และมั่นใจว่าแนวโน้มรายได้ของบริษัทในปีนี้จะเติบโตเกิน 50% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,103.73 ล้านบาท สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button