ดักเก็บ 4 หุ้นอาหารตัวท็อป! รับอานิสงส์ส่งออกกุ้งปี 64 โตเด่น-อัพไซด์สูง
ดักเก็บ 4 หุ้นอาหารตัวท็อป! รับอานิสงส์ส่งออกกุ้งปี 64 โตเด่น-อัพไซด์สูง
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการคัดเลือกและรวบรวมบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่มอาหารที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกุ้งส่งออก คาดปี 2564 ปริมาณผลผลิตและส่งออกกุ้งของไทยจะพลิกฟื้นขึ้นมาเติบโตได้ 15% คาดทำผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกกุ้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ได้รับประโยชน์และหนุนให้ผลประกอบการสดใส
ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2563 ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2563 โดยรวมอยู่ที่ 270,000 ตัน ลดลงเมื่อเทียบกับผลผลิตกุ้งเลี้ยง ปี 2562 ที่อยู่ที่ประมาณ 290,000 ตัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเรื่องโรคระบาด ความไม่มั่นใจเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อตลาด และสถานการณ์ราคา คาดปี 2564 ผลิตได้ 310,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15
อย่างไรก็ตามในปี 2564 ปริมาณผลผลิตและส่งออกกุ้งของไทยจะพลิกฟื้นขึ้นมาเติบโตได้ 15 % ตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 15 % จากผลผลิตกุ้งไทย ปี 2563 นี้ คาดว่าจะผลิตได้รวม 270,000 ตัน ลดลงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 7 ปัญหาที่พบคือโรคระบาด และความไม่แน่ใจในสถานการณ์โควิด -19 ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3 เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกุ้งหลักๆ มีผลผลิตกุ้งลดลง แทบทุกประเทศ ยกเว้นเอกวาดอร์ที่มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น
ส่วนการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค. – ต.ค.ที่ผ่านมา มีปริมาณ 123,297 ตัน มูลค่า 35,872 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ที่ส่งออกปริมาณ 135,249 ตัน มูลค่า 40,185 ล้านบาท ลดลงทั้งปริมาณ และมูลค่า ที่ร้อยละ 9 และ ร้อยละ 11 ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มราคากุ้งในปี 2564 น่าจะเพิ่มสูงขึ้น ตามความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อการขนส่ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันคือ อัตราแลกเปลี่ยน โดยขณะที่เงินบาทแข็งค่า 11% แต่เงินรูปีของอินเดียอ่อนค่า -14% เงินด่องเวียดนามอ่อนค่า -2% และเงินรูเปียของอินโดนีเซียอ่อนค่า -4% ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อการส่งออกสินค้าอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ได้แก่ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา, การเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป (อียู) , การควบคุมคุณภาพสินค้า เช่น ปลอดเชื้อโควิด-19, การจัดหาแหล่งเงินทุน เป็นต้น
ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์วานนี้(17ธ.ค.63) ว่า กลุ่มอาหาร คาดได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของกุ้งส่งออกเป็นบวกกับทั้งธุรกิจกุ้งและอาหารกุ้ง ซึ่งบริษัทในตลาดฯที่ได้รับอานิสงค์บวก ได้แก่ CPF (ราคาพื้นฐาน 36 บาท), ASIAN (ราคาพื้นฐาน 15.5 บาท), CFRESH (Not rated), GFPT ผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้ง (ราคาพื้นฐาน 15.4 บาท) เป็นต้น
สำหรับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF แนวโน้มธุรกิจสุดแข็งแกร่ง โดยไตรมาส 3/2563 กำไรหลักทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 7.2 พันล้านบาท (+124% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, +48% เทียบไตรมาสก่อหน้า) ถือว่าออกมาดีกว่าคาด
คาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาสถัดๆมายังแข็งแกร่ง ด้วยราคาเนื้อหมูกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ส่วนราคาเนื้อไก่กลับมาฟื้นตัวดี
ด้านดีลการซื้อเทสโก้ โลตัส อยู่ในช่วงการพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย หลังทางการอนุมัติให้ซื้อได้แต่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการป้องกันการผูกขาด จากส่วนครองตลาดที่จะสูงเกินไป ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นเรื่องการได้รับฟาร์มเลี้ยงหมูที่จีนแล้ว คาดว่าจะสร้างกำไรได้เพิ่มในอนาคต คงคำแนะนำ ซื้อ ด้วยราคาพื้นฐานใหม่ปรับขึ้นเป็น 36.00 บาท จากเดิมที่ 35.00 บาท และประเมินด้วย P/E ปี 64 ที่ 15.5 เท่า
ส่วนบริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN คงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น ประเมินราคาเป้าหมายที่ 15.54 บาทต่อหุ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ราคามีช่วงขึ้นไปใกล้ราคาพื้นฐานที่ 15.54 บาทแล้ว แต่ล่าสุดราคาที่ปรับตัวลงมา ทำให้กลับมามีส่วนเพิ่มอีกจึงยังคงแนะนำซื้อเช่นเดิม คาดแนวโน้มผลงานของ ไตรมาส 4/63 ยังทรงตัวในระดับสูงได้ต่อเนื่อง จากการปรับกลยุทธ์การขายสินค้า โดยลดสัดส่วนการขายอาหารแช่แข็งลง และไปขายสินค้าที่มีอัตรากำไรดี และธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ คาดจะฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4/63 รวมถึงธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยรวมจึงคาดว่าแนวโน้มธุรกิจยังทรงตัวสูงได้ต่อในไตรมาส 4 นี้
ขณะที่คาดกำไรสุทธิปี 2563 ยังเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท จากผลประกอบการ 9 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 607 ล้านบาท สูงกว่าระดับสูงสุดในปี 60 ที่มีกำไรสุทธิ 418 ล้านบาทอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT คาด Core profit ไตรมาส 4/2563 โต15% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 293 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิจะเพิ่มก้าวกระโดด เพราะมีรายได้ค่าเคลมประกัน 100-150 ล้านบาทมาช่วยหนุน ให้ราคาพื้นฐาน 15.40 บาท
*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน