โบรกฯเชียร์ “ซื้อ” PTTEP เป้า 120 บ. รับราคาน้ำมันฟื้น-ลุ้นเพิ่มราคาเป้า

โบรกฯเชียร์ “ซื้อ” PTTEP เป้า 120 บ. รับราคาน้ำมันฟื้น-ลุ้นเพิ่มราคาเป้า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิเคราะห์หลายแห่งกำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP จากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ หลังซาอุดีอาระเบียสมัครใจปรับลดการผลิตน้ำมันลง 1 ล้านบาร์เรล/วัน ประกอบกับ สถานการณ์โควิด-19 น่าจะคลี่คลายลงจากเริ่มมีการฉีดวัคซีน เป็นปัจจัยหนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัวขึ้น

ส่วนปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นจากในปีที่ผ่านมาที่มีการล็อกดาวน์เพื่อสกัดโควิดจนส่งผลกระทบต่อปริมาณขาย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้กำไรสุทธิกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้ในปี 64 จากที่หดตัวลงในปีก่อน

ขณะที่มองบวกกจากการได้รับสิทธิ์พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas To Power) ในเมียนมา มูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเตรียมตัดสินใจการลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในปี 65 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยหนุนยอดขายก๊าซฯเพิ่มขึ้น และรับรู้ผลการดำเนินงานจากสัดส่วนการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าร่วมกับพันธมิตร ทำให้มีโอกาสที่จะปรับราคาเป้าหมายหุ้น PTTEP ได้ในอนาคต

ด้านนายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ฝายวิจัยฯปรับขึ้นราคาเป้าหมายของ PTTEP จากเดิม 115 บาท เป็น 117 บาท เนื่องจากได้ปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ในปี 64 จากเดิมที่ 47 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 48.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังจากที่ซาอุดีอาระเบียสมัครใจปรับลดกำลังการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ถึงสิ้นเดือน มี.ค. ซึ่งจะช่วยประคองไม่ให้ซัพพลายล้นตลาดมากนัก ประกอบกับเริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในหลายประเทศแล้วและคาดว่าจะกระจายแจกจ่ายได้วงกว้างมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ช่วยชะลอการแพร่ระบาดและหนุนความต้องการฟื้นตัว

ทั้งนี้ แม้คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปีนี้เพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปีก่อน แต่ก็ไม่ได้ช่วยผลักดันให้ภาพรวมราคาขายเฉลี่ยปิโตรเลียมของ PTTEP สูงขึ้น เนื่องจากการผลิตน้ำมันมีเพียง 30% ของพอร์ตเท่านั้น เมื่อเทียบกับการผลิตก๊าซฯที่อยู่ในระดับ 70% ขณะที่ราคาเฉลี่ยก๊าซฯในปีนี้ที่จะลดลงตามโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-24 เดือน แต่ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นนั้นก็จะช่วยประคองไม่ให้ราคาขายเฉลี่ยปิโตรเลียมของ PTTEP ในปีนี้ลดลงมากนักเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยประเมินปีนี้ PTTEP มีราคาขายก๊าซฯเฉลี่ยลดลงราว 12% และราคาขายผลิตภัณฑ์น้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 16%

อย่างไรก็ตาม ด้านปริมาณขายเฉลี่ยของ PTTEP ที่หดตัวลงราว 2% ในปีที่แล้ว คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นราว 8% มาที่ 3.71 แสนบาร์เรล/วันในปีนี้ จากความต้องการใช้ที่จะกลับเข้ามาตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากจากการที่ไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปริมาณมากเหมือนในปีที่ผ่านมาจนกระทบการเรียกก๊าซฯจาก PTTEP ประกอบกับปัจจุบันราคา LNG ปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ประเมินภาพรวมปีนี้ PTTEP มีกำไรสุทธิ 2.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6% ฟื้นตัวจากปี 63 ที่คาดกำไรสุทธิลดลงราว 52% มาที่ 2.33 หมื่นล้านบาท หลังได้รับผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง

“กำไรของ PTTEP จะฟื้นตัวในปีนี้จาก 2 ส่วนคือราคาน้ำมันดิบฟื้นและปริมาณขายที่ดีขึ้น ปีที่แล้วชะงักเพราะมีล็อกดาวน์ demand น้ำมันทั่วโลกหาย ปีนี้ก็จะดีขึ้น แต่มีตัวดึงคือราคาก๊าซฯที่ลดลงจากปีก่อนตามสูตรราคา…ราคาหุ้น PTTEP ที่ขึ้นมาช่วงนี้เป็นการเก็งกำไรตามราคาน้ำมันดิบที่ขึ้น ระยะสั้นน้ำมันดิบอาจปรับฐานบ้างช่วงครึ่งปีแรก demand อาจยังชะลอตัว แต่ซาอุฯยอมสละลดกำลังการผลิตทำให้ราคาครึ่งปีแรกยังทรง ๆ แต่ครึ่งปีหลังน่าจะขึ้นชัดเจน ถ้าจัดการโควิดได้ได้วอลุ่มก็จะกลับมาด้วย” นายกิติชาญ กล่าว

นายกิติชาญ กล่าวอีกว่า สำหรับราคาเป้าหมายใหม่ของ PTTEP ที่ระดับ 117 บาท ยังไม่ได้นับรวมการได้สิทธิพัฒนาโครงการ Gas to Power ในเมียนมา มูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะมีการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ภายในปี 65 และคาดว่าจะดำเนินโครงการแล้วเสร็จในปี 68 ขณะที่ประเมินเบื้องต้นของโครงการจะเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯจากแหล่งที่มีอยู่ในเมียนมาให้กับ PTTEP ไม่มากนัก แต่ก็เป็น Sentiment บวกที่เป็นการต่อยอดจากธุรกิจก๊าซฯไปยังธุรกิจไฟฟ้าที่คาดว่าจะเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตร ด้วยกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานและการลงทุนในเมียนมาต่อไป

บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มติที่ประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) เมื่อสัปดาห์ก่อนที่ซาอุดีอาระเบีย จะปรับลดกำลังการผลิตอีก 1 ล้านบาร์เรล/วัน นับว่าเป็นบวกต่อราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา เพราะทำให้ความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาดลดลง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบสัปดาห์แรกของปี 64 อยู่ที่ 50-52 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนต.ค.63 ขณะที่เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้กลับมามีมุมมองเป็นบวกต่อราคาน้ำมันดิบ

ทั้งนี้ ปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในปี 64-65 จากเดิมที่ 45 และ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลทั้งในปี 64 และ 65 ส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 64-65 ของ PTTEP ถูกปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยคาดว่า PTTEP มีกำไรสุทธิปี 64 อยู่ที่ 3.26 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.6% จากปีก่อน และปี 65 มีกำไรสุทธิ 4.62 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.9% พร้อมทั้งปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 118 บาท จากเดิม 110 บาท

สำหรับในไตรมาส 4/63 คาดว่า PTTEP มีกำไรสุทธิ 4.45 พันล้านบาท ลดลง 38% จากไตรมาสก่อน และ 62% จากงวดปีก่อน แม้จะมียอดขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน แต่ราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ ยังได้รับผลกระทบจากราคขายก๊าซฯที่ลดลง

ส่วนการที่ PTTEP ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการ Gas to Power เพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ โดยใช้เชื้อเพลิงในการผลิตคือก๊าซฯจากโครงการซอติก้า และ M3 ที่ PTTEP เป็นผู้ดำเนินการ ทำให้มีมุมมองเป็นบวก จากยอดขายก๊าซฯที่เพิ่มขึ้น และการรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้า ทำให้มีโอกาสปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้นับรวมมูลค่าเพิ่มจากโครงการดังกล่าว เนื่องจาก PTTEP จะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในปี 65

บทวิเคราะห์ บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า การที่ซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันของตัวเองโดยความสมัครใจที่ 1 ล้านบาร์เรล/วันในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. ขณะที่รัสเซียและคาซัคสถานได้รับอนุญาตให้เพิ่มกำลังการผลิตรวมกัน 75,000 บาร์เรล/วันในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เป็นการสะท้อนถึงความยืดหยุ่นของซาอุดีอาระเบียในการลดส่วนแบ่งตลาดของตัวเองเพื่อแลกกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งขัดกับนโยบายก่อนหน้าที่ประกาศว่าทุกประเทศในโอเปกพลัส ควรจะปรับการผลิตของกลุ่มตามส่วนแบ่งตลาดของตัวเอง

จากการประกาศดังกล่าวทำให้โอเปกพลัส จะปรับลดกำลังการผลิตรวมเหลือ 6.3 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ก.พ.-มี.ค. จาก 7.2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือน ม.ค. ผิดกับความคาดหวังของตลาดก่อนหน้าที่มองว่าโอเปกพลัส จะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิต 0.5 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ก.พ. ทำให้มองว่าราคาน้ำมันดิบอาจจะสูงต่อไปได้ในระยะสั้น

ทั้งนี้ คงมุมมองกำไรของ PTTEP เติบโตต่อเนื่องในปี 64-65 โดยยังคงประมาณการกำไรสุทธิในปี 64 อยู่ที่ 2.75 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน มีปัจจัยหนุนจากปริมาณการขายที่เติบโตต่อเนื่อง จากการเริ่มโครงการใหม่ ๆ เช่น โครงการแปลง เอช ในมาเลเซีย ในไตรมาส 2/64 และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ในไตรมาส 3/64 และต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ลดลงตามแผน

ราคาหุ้น PTTEP ได้ปรับตัวขึ้นและ outperform SET ราว 9% ในช่วง 3 เดือน จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 120 บาท โดยมี key catalyst คือ ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูงได้หลังจากซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมัน และความต้องการใช้น้ำมันดิบคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังมีการใช้วัคซีนโควิด-19  ซึ่งราคาหุ้น PTTEP มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับราคาน้ำมันดิบดูไบด้วย correlation สูงถึง 89%

Back to top button