PRIME ร่วมมือ “ม.เกษตรฯ-ธ.ก.ส.” ให้ความรู้ Solar เกษตรกร พัฒนาสู่ “Smart Farmer”
PRIME ร่วมมือ “ม.เกษตรฯ-ธ.ก.ส." ให้ความรู้ Solar เกษตรกร พัฒนาสู่ "Smart Farmer"
นายสมประสงค์ ปัญจะลักษณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PRIME กล่าวว่า ตนมีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ผนึกกำลังเพื่ออบรมให้ความรู้ในด้านเทคโนโลยีการเกษตรแก่เกษตรกรในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ขอขอบคุณ ธ.ก.ส. ที่เป็นเจ้าภาพร่วมกับไร่สุวรรณ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จัดทำโครงการดีๆ เช่นนี้ขึ้น
ทั้งนี้ได้เล็งเห็นถึงความสามารถที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาว โดยเชื่อว่านวัตกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานที่สะอาดและไม่มีต้นทุนได้อย่างสะดวกและยั่งยืน โดยเฉพาะนวัตกรรม “Solar Pump” ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นผลผลิตจากงานวิจัยและพัฒนาของบริษัทที่ได้เอามานำเสนอในการอบรมครั้งนี้ มีความพิเศษที่นอกจากจะสามารถนำมาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันในระบบสูบน้ำแบบปกติที่ลดค่าใช้จ่ายได้มหาศาลแล้ว ยังได้รับออกแบบให้สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวกด้วยโครงสร้างล้อพิเศษลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัทอีกด้วย
โดยโครงการในลักษณะนี้ เป็นหนึ่งในพันธกิจของบริษัทที่ตั้งใจจะช่วยปฎิวัติวงการเกษตรของประเทศไทย ให้ก้าวเข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพในการผลิตทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นต่อไป
ด้าน ดร. อุทุมพร ไชยวงษ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า โครงการนี้ ริเริ่มจาก ธ.ก.ส. สาขานครราชสีมา ที่ดูแลพื้นที่เขตอีสานล่าง ซึ่งได้มีความร่วมมือกับศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติฯ ในการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นประจำทุกปี การจัดอบรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. สาขาปากช่อง และสาขาเขาใหญ่
ทั้งนี้เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร โดยได้ร่วมมือกับ PRIME เพื่อให้ความรู้ในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทางการเกษตร เช่น การใช้การระบบการจัดการน้ำ ทั้งระบบสูบน้ำและระบบน้ำหยด ซึ่งสามารถนำมาทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลที่ใช้ในการเติมเครื่องสูบน้ำแบบปกติ ที่มีค่าใช้จ่ายสูงและเป็นมลพิษทั้งต่อเกษตรกรผู้ใช้งานและต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม
ส่วนของงานอบรมนั้น เต็มไปด้วยเนื้อหาที่มีความเข้มข้น มีเกษตรกรเข้าร่วมอบรมทั้งหมดจำนวน 500 คน โดยแบ่งออกเป็น 4 รุ่น อบรมรุ่นละ 1 วันเต็ม โดยเนื้อหาประกอบไปด้วย “การใช้นวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power System) เพื่อการเกษตร” โดยวิทยากรจากบริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
รวมทั้ง “การบูรณาการน้ำผิวดิน-ใต้ดิน เพื่อใช้ด้านการเกษตรอย่างเหมาะสม” โดย ผศ. ดร. ดีเซลล์ สวนบุรี อดีตผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, “เทคโนโลยีกับการผลิตพืช” โดย ดร. อุทุมพร ไชยวงษ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ “การใช้โดรนเพื่อการเกษตรและการสาธิตการใช้โดรน” โดยวิทยากรจากบริษัท อีซี่ (2018) จำกัด บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยเกษตรกรที่ให้ความสนใจ พร้อมทั้งมีการแจกของที่ระลึกเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมอีกด้วย