TISCO คาดผลงานปี 64 ฟื้น หลังตั้งสำรองฯลด-ลุ้นสินเชื่อโต
TISCO คาดผลงานปี 64 ฟื้น หลังตั้งสำรองฯลด-ลุ้นสินเชื่อโต
นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 64 คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิที่ราว 6 พันล้านบาท ลดลง 16.6% จากปี 62 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างมาก ทำให้ต้องตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 183% มาเป็น 210% ในปี 63 เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
หากมองมาในปี 64 แม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้น แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวเล็กน้อยที่ราว 2% อีกทั้งการตั้งสำรองฯในปีนี้ก็มีทิศทางลดลงจากปีก่อน เพราะระดับ 210% ถือว่าเพียงพอต่อระดับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่สูงมากแล้ว ทำให้ผลประกอบการน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้
สำหรับกลยุทธ์ของกลุ่ม TISCO จึงให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืนในธุรกิจที่หลากหลายของกลุ่ม โดยมุ่งเน้นการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ พิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ควบคู่กับการบริหารจัดการทั้งด้านต้นทุนและการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ
รวมถึงการดูแลติดตามและช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ขยายระยะเวลาออกไปจนถึงกลางปีนี้ นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสของการเติบโตจากความต้องการสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายใหญ่ เพื่อใช้ดูแลสภาพคล่องของภาคธุรกิจให้มีความต่อเนื่อง
“ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เข้ามาซ้ำเติมปัญหาความเปราะบางทางการเงิน สภาพคล่อง และกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า สิ่งที่เราทำได้ก็คือการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าและติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่อีกด้านยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตธุรกิจอย่างเหมาะสมกับความเสี่ยง” นายสุทัศน์ กล่าว
สำหรับธุรกิจสินเชื่อรายย่อยของ TISCO ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเข้ามาช่วยในการทำงานให้ง่ายขึ้น และยังสามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งคู่ค้าและลูกค้า ตลอดจนการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ของผู้ใช้บริการสินเชื่อรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และสินเชื่อบ้าน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจของธนาคารได้ดีขึ้น ส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจจะยังคงใช้จุดแข็งของการให้บริการลักษณะ Total Solution ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการวาณิชธนกิจที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง
ด้านธุรกิจธนบดีธนกิจและการลงทุนซึ่งเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง กลยุทธ์จะยังคงเน้นการให้บริการอย่างผู้เชี่ยวชาญ แข่งขันอย่างมืออาชีพ และต่อยอดบริการที่ปรึกษาทางการเงินที่ดี (Top Advisory) ด้วยการให้คำแนะนำที่ตอบโจทย์ลูกค้าในเชิงลึก (In-depth Advisory) และนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่เพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้าอย่างครบวงจร ซึ่งครอบคลุมถึงธุรกิจประกันชีวิตและสุขภาพ ธุรกิจกองทุนรวม และธุรกิจหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ธุรกิจด้านตลาดทุนในปี 64 คาดว่ายังมีแนวโน้มที่ดีจากปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดทุนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะยังปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคก็ตาม แต่มองว่าปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยนั้นเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตค่อนข้างมาก
ขณะที่ธุรกิจด้านการบริหารจัดการกองทุนรวมนั้นยังมีการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะผลตอบรับจากการซื้อกองทุนใหม่ ๆ ที่บลจ.ทิสโก้ ออกมาในช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คือ กองทุนเปิด ทิสโก้ Genomic Revolution ซึ่งมีนักลงทุนเข้ามาจองซื้อเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของบลจ.ทิสโก้อยู่ที่เกือบ 4 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TISCO กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อของธนาคารในปี 64 คาดว่ามีโอกาสเติบโตขึ้นได้เล็กน้อย ซึ่งเป็นการเติบโตขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 63 ที่สินเชื่อหดตัวลงไป 7.4% เป็นผลมาจากความต้องการสินเชื่อที่ลดลงในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว และความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดมากขึ้น
ขณะที่กลยุทธ์ด้านสินเชื่อในปี 64 ธนาคารจะเน้นการรุกและสร้างการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่ธนาคารมีความชำนาญ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นมา ที่เป็นการนำแพลตฟอร์มของบริษัทในเครือมาร่วมใช้งานเพื่อทำให้ลูกค้าเดิมและลูกค้ารายใหม่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อเช่าซื้อได้มากขึ้น เช่น การนำระบบเทรดดิ้งรถยนต์ในรูปแบบ e-Market Place ของออลเวย์ บริษัทในเครือของทิสโก้ มาใช้ในการช่วยขายรถยนต์ให้กับลูกค้าที่มีมูลค่าหนี้ที่ต้องผ่อนชำระกับธนาคารต่ำกว่ามูลค่ารถยนต์แล้วพอสมควร เพื่อทำให้ลูกค้ามีเงินไปใช้ในการซื้อรถยนต์คันใหม่ และสามารถขอกู้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์กับธนาคารได้ทันที
อีกทั้งในแง่ของการความสัมพันธ์กับดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ขนาดเล็กระดับราคา 750,000-800,000 บาท ที่ธนาคารมองว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการผ่อนชำระค่อนข้างดี และมีปริมาณการขายรถในกลุ่มดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สินเชื่อของธนาคารเติบโตได้ในปีนี้
นอกจากนี้สินเชื่อบ้านธนาคารยังคงเดินหน้ารุกตลาดต่อเนื่อง เพราะความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงเพิ่มขึ้น อีกทั้งในการให้สินเชื่อบ้าน ธนาคารมีโอกาสนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันสินเชื่อบ้าน (MRTA) ให้กับลูกค้าเป็นทางเลือกได้เพิ่มเติม ทำให้ธนาคารมีโอกาสมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากการเสนอขายประกันสินเชื่อบ้านเข้ามาเสริม
ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ธนาคารยังให้ความสำคัญอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ซึ่งธนาคารมีความเชี่ยวชาญ และจะเริ่มขยายไปในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เพราะมองว่าในอนาคตยังมีโอกาสที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นกลับมา หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อลงทุนค่อนข้างมาก
ขณะที่ธุรกิจนายหน้าขายประกันผ่านธนาคารถือว่ายังสร้างรายได้ให้กับธนาคารที่ดีมาต่อเนื่อง ซึ่งในปี 64 ผลิตภัณฑ์ประกันที่ธนาคารจะเน้นการเสนอขายมากขึ้นยังคงเป็นประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ และจะเพิ่มการขายประกันสินเชื่อบ้าน (MRTA) เข้ามาเสริม เพราะในตลาดสินเชื่อบ้านที่มีคนที่มีบ้านที่ยังกู้ธนาคารอยู่ราว 26 ล้านครัวเรือน มีจำนวน 3 ล้านครัวเรือนที่ซื้อประกันสินเชื่อบ้านเท่านั้น
ด้านนายชาตรี จันทรงาม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายควบคุมการเงินและบริหารความเสี่ยง TISCO กล่าวว่า ปัจจัยความไม่แน่นอนของโควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และยังไม่ทราบชัดเจนว่าจะมีรอบต่อไปอีกหรือไม่ ทำให้ธนาคารประเมินแนวโน้ม NPL ของธนาคารในปี 64 มีโอกาสเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 3-3.5% จากระดับ 2.5% ในปีก่อน แต่ยังเป็นระดับที่ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้
ทั้งนี้ ธนาคารยังต้องรอติดตามสถานการณ์ของลูกหนี้ว่าจะเข้าร่วมตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 ของธนาคารเป็นจำนวนเท่าใด แต่ธนาคารคาดว่าจะไม่มากเมื่อเทียบกับรอบแรกในปี 63 ซึ่งมีจำนวนลูกหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือสัดส่วน 20% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด และหลังจากสิ้นสุดมาตรการไปลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการกว่า 90% สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีให้กับแนวโน้มคุณภาพหนี้ที่ดีของธนาคาร