SCC ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 5% วางงบลงทุน 7.5 หมื่นล. ลุยขยายธุรกิจเต็มสูบ

SCC ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 5% วางงบลงทุน 7.5 หมื่นล. ลุยขยายธุรกิจเต็มสูบ


นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC หรือ เอสซีจี คาดว่าในปี 64 รายได้รวมจะเติบโต 5-10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 399,939 ล้านบาท โดยมาจาการเติบโตของธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจแพ็คเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์ ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง คาดว่าครึ่งปีแรกยังได้รับผลกระทบการระบาดโควิด-19 อยู่ แต่คาดหวังครึ่งปีหลังจะกลับมาฟื้นตัว

ทั้งนี้ในส่วนธุรกิจปิโตรเคมีได้ปัจจัยสนับสนุนจากโครงการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์แบบคอขวด ของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC Debottleneck) ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น 3.5 แสนตัน/ปี โดยขณะนี้มีความคืบหน้า 99% คาดว่าในไตรมาส 1/64 จะเริ่มการผลิตได้ จากปีที่แล้วที่มีปริมาณการขายลดลง ส่วนหนึ่งมาจากปริมาณการผลิตลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ จ.ระยองในไตรมาส 4/63 เป็นเวลา 40 วัน

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในปีที่ผ่านมารับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะในไตรมาส 3-4 เห็นการชะลอตัวของโครงการเอกชน ที่อยู่อาศัย จะมีเพียงโครงการของภาครัฐที่ยังดำเนินโครงการไปได้ จนถึงขณะนี้ยังมีการระบาดอยู่ก็ต้องรอให้ความเชื่อมั่นกลับมา เชื่อว่าภาคการก่อสร้างจะกลับมามีสัญญาณดีในช่วงครึ่งปีหลัง

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า การลงทุนของเอสซีจีในปี 64 มีงบลงทุน 6.5-7.5 หมื่นล้านบาท โดยมีแผนลงทุนในโครงการเดิม คือโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านตลาดและเศรษฐกิจที่เติบโต ก็จะเดินหน้าต่อเนื่อง ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 70% จากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 66% คาดว่าอีก 2 ปีจะแล้วเสร็จ การลงทุนในธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง หรือบรรจุภัณฑ์ ยังคงเดินหน้าขยายฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนและเสริมสร้างฐานธุรกิจที่มีอยู่ ขณะที่การลงทุนในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างก็ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนธุรกิจใหม่ที่จะลงทุนเป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เข้ามาเสริม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค รองรับแนวโน้มการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และลงทุนเรื่องดิจิทัลและ E-Commerce ซึ่งปีนี้จะรุกเข้าช่องทางออนไลน์มากขึ้นสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงลงทุนด้าน Well Being  ทั้งสินค้าและ Solution ที่ช่วยเรื่องที่อยู่อาศัย และ อุปกรณ์ทางการแพทย์

ทั้งนี้ ในปี 63 ที่ผ่านมา เอสซีจีได้ใช้เงินลงทุนไป 5.8 หมื่นล้านบาท จากงบลงทุน 6 หมื่นล้านบาทซึ่งในช่วงระหว่างที่มีการระบาดโควิดรอบแรก มีการระมัดระวังการลงทุนซึ่งได้มีการทบทวนทุกโครงการ โดยธุรกิจหลักก็ยังคงลงทุนต่อเนื่องได้ดี

สำหรับผลประกอบการของปี 63 ธุรกิจเคมิคอลส์ ยังคงดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ จากการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจด้วยมาตรการที่เข้มแข็ง และการปรับสัดส่วนการขาย โดยเพิ่มการขายเม็ดพลาสติกสำหรับกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคซึ่งยังคงมีความต้องการสูง เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่ม และการขนส่งอี-คอมเมิร์ซ เป็นต้น ตลอดจนเพิ่มการขายไปยังตลาดในประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยจากมาตรการปิดประเทศ

โดยธุรกิจได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การพัฒนา Digital Commerce Platform เชื่อมต่อคำสั่งซื้อของลูกค้าเข้ากับการบริหารจัดการสินค้า เพิ่มความคล่องตัวและลดเวลาการทำงาน โดยลูกค้าสามารถติดตามสถานะคำสั่งซื้อได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังขยายผล-ต่อยอดธุรกิจปลายน้ำและกลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ และความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจ เช่น เร่งพัฒนาโซลูชันด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะชุมชน (Post-consumer Recycled Resin) และการก่อสร้างโรงงานสาธิตกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี (Chemical Recycling) ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้และร่วมมือกับคู่ธุรกิจระดับโลก เพื่อขยายผลการทำ Digital Manufacturing ให้เป็นธุรกิจที่ให้บริการโซลูชันด้านอุตสาหกรรม (Industrial Solutions)

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยังคงดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการปรับแผนการดำเนินธุรกิจและโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญด้านสุขอนามัย และเน้นการซื้อสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเร่งลงทุนใน Active Omni-Channel ได้แก่ SCG HOME Online, NocNoc และ Q-Chang

ขณะเดียวกันยังคงนำเสนอสินค้าและบริการพร้อมโซลูชันครบวงจร เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำตลาดวัสดุก่อสร้างในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยให้บริการครอบคลุมทั้งโซลูชันเพื่อการก่อสร้างและการอยู่อาศัย รวมถึงโซลูชันเพื่อช่วยป้องกันโควิด-19 เช่น Medical Solution by CPAC BIM ที่นำเทคโนโลยี Building Information Modeling มาช่วยวางแผน ออกแบบ และสร้างห้องแยกและควบคุมเชื้อสำหรับใช้ทางการแพทย์ ผสานเทคโนโลยีระบายอากาศความดันลบและความดันบวกมาใช้ ช่วยสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย สร้างได้รวดเร็ว และควบคุมงบประมาณได้ โดยดำเนินการแล้วที่โรงพยาบาลสระบุรี และวชิรพยาบาล

นอกจากนี้ ธุรกิจได้นำเสนอนวัตกรรมสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เน้นสุขอนามัยเป็นพิเศษ เช่น สุขภัณฑ์และก๊อกน้ำอัตโนมัติ Smart Touchless ลดการสัมผัส นวัตกรรมกระเบื้อง Hygienic Tile จาก COTTO ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียภายในบ้าน เช่นเดียวกับ สมาร์ทบอร์ด เอสซีจี รุ่นอัลตรา คลีน ที่ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่าย เช็ดฆ่าเชื้อโรคได้ด้วยแอลกอฮอล์ได้บ่อยโดยที่ไม่เสื่อมสภาพ ทนเชื้อราและรังสี UV เหมาะสำหรับทำเป็นผนังในโรงพยาบาล เฮลธ์แคร์ เนอร์สซิ่งโฮม หรือคลินิกทันตกรรม ขณะที่ระบบหลังคาโซลาร์จากเอสซีจี ช่วยประหยัดค่าไฟให้กับเจ้าของบ้าน มียอดขายเติบโตขึ้นร้อยละ 182 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น

ขณะที่ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ จากการออกแบบโมเดลธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจ โดยมุ่งขยายฐานลูกค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีศักยภาพเติบโตสูง

ล่าสุดได้เข้าถือหุ้นใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ช่วยเสริมความแข็งแกร่งกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ต้นน้ำในประเทศเวียดนาม และการเข้าถือหุ้นใน Go-Pak UK Limited (Go-Pak) ผู้นำในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักร ยุโรป และอเมริกาเหนือ ที่มีฐานการผลิตอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม ช่วยเพิ่มศักยภาพการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์อาหาร

ธุรกิจยังพัฒนานวัตกรรมโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ โดยได้เปิด SCGP-Inspired Solutions Studio เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้แก่ลูกค้าได้สัมผัสกับโซลูชันการออกแบบบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ  พร้อมกับพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ R-1 ซึ่งเป็นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) ผลิตจากฟิล์มประกบหลายชั้น ช่วยปกป้องสินค้าและทนทานแรงกระแทกได้ดี สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและวัสดุอื่น ๆ ได้อย่างมีคุณภาพ โดยได้ร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว (ประเทศไทย) และข้าวตราฉัตร พัฒนานวัตกรรมถุงข้าวรักษ์โลกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100%

*จับมือสตาร์อัพพัฒนาพลาสติกรีไซเคิล

ด้านนายธนวงษ์ อารีรัชชกุล  กรรมการผู้จัดการใหญ๋ ธุรกิจเคมิคอลส์ SCC กล่าวว่า บริษัทได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกสำหรับกระบวนการ Chemical Recycling โดยเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้น หรือ Renewable Feedstock สำหรับโรงงานปิโตรเคมี ซึ่งสามารถนำกลับมาผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic Resin) ตอบโจทย์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน  ในเบื้องต้น ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติก ที่เป็น Advanced Technology ใช้สารเร่งปฏิกิริยาทำให้กระบวนการรีไซเคิลมีอุณหภูมิต่ำ จึงช่วยลดการใช้พลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปัญหาการสะสมของปริมาณขยะพลาสติกในประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้ก่อสร้างโรงงานทดสอบการผลิต หรือ Demonstration Plant แห่งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณโรงงาน จังหวัดระยอง ด้วยกำลังการผลิต Renewable Feedstock ประมาณ 4,000 ตันต่อปี และพร้อมที่จะขยายกำลังผลิตในอนาคต

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ร่วมมือกับ Partner ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล และจัดตั้งบริษัท Circular Plas Co., Ltd. เพื่อดำเนินธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกผ่านกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี หรือ Chemical Recycling มีสัดส่วนการถือหุ้นโดยบริษัทย่อยในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร้อยละ 60 และ Partner ร้อยละ 40  ด้วยทุนจดทะเบียน 165 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในช่วง 3-6 เดือนก่อนที่จะลงทุนต่อไป

การลงทุนดังกล่าว เป็นไปตามแผนโรดแมพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า “ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งในปี 2564 ได้วางโรดแมพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไว้ 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก และโซลูชัน โดยออกแบบให้สามารถรีไซเคิลได้ง่าย

(Design  for Recyclability) โดยยังคงคุณสมบัติด้านอื่น ๆ ไว้อย่างครบถ้วน 2. การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ PCR (Post  Consumer Recycled Resin) 3. การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี (Chemical Recycling) และ 4.การพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics)

โดยโรดแมพที่วางไว้ครอบคลุมตลอด Supply Chain นั่นคือ ตั้งแต่การออกแบบเม็ดพลาสติกให้ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดแต่ยังคงมีประสิทธิภาพ  จนถึงการนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติก

Back to top button