“ทริสฯ” คงเรตติ้งหุ้นกู้ BANPU 3 พันลบ.-กรีนชู 2 พันลบ.ที่ A+ แนวโน้ม Stable

“ทริสฯ” คงเรตติ้งหุ้นกู้ BANPU 3 พันลบ.-กรีนชู 2 พันลบ.ที่ A+ แนวโน้ม Stable


บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ในวงเงินไม่เกิน 4 พันล้านบาทและหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” ซึ่งทริสเรทติ้งได้ประกาศอันดับเครดิตไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วย โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง “Stable” หรือ “คงที่”

พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งได้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาท และหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A+” ด้วยเช่นกัน โดยเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้จะนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ของบริษัท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

สำหรับอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนการมีรายได้ที่แน่นอนจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า และการปรับกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความผันผวนของราคาถ่านหินและอุปสงค์ถ่านหินที่ชะลอตัวในระยะยาวซึ่งปัจจัยผลักดันส่วนหนึ่งมาจากความพยายามในการลดมลพิษทางอากาศของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอีกด้วย

ด้านแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมถ่านหินต่อไป โดยเงินปันผลรับจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มั่นคงและกำไรที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของอุตสาหกรรมถ่านหินได้บางส่วน ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องทางการเงินที่ดีของบริษัทจากการมีวินัยทางการเงินและการบริหารเงินสดที่ระมัดระวังจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวผ่านพ้นสถานการณ์ที่อุตสาหกรรมมีความผันผวนไปได้

โดยปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทยังคงมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า แต่อาจได้รับการปรับขึ้นได้หากบริษัทมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือมีกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้เป็นอย่างมาก ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หากราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดไว้

นอกจากนี้ การลงทุนโดยการก่อหนี้เพิ่มจนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญและอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิตลง

Back to top button