12 หุ้นปักหมุดลงทุนเมียนมา ผวาการเมืองฉุดโครงการล่าช้า-ธุรกิจชะงัก!
12 หุ้นลงทุนเมียนมา ผวาการเมืองทำโครงการ-ธุรกิจชะงัก!
สืบเนื่องจากกรณีที่วานนี้ (1 ก.พ.2564) พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเมียนมาเปิดเผย ว่า ทหารจากกองทัพเมียนมาได้บุกเข้าควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรค NLD ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายอื่นๆ ของพรรครัฐบาลเมียนมาในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากกองทัพเมียนมาอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมาประกาศว่า ทางกองทัพจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งโดยจะมีพรรคการเมืองเข้าแข่งขันหลายพรรค ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกองทัพเมียนมาได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลและประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปีในวันนี้
โดยหลังจากช่วงเวลาของการประกาศภาวะฉุกเฉินผ่านไปแล้วจะจัดให้มีการเลือกทั่วไปอีกครั้ง โดยจะมีพรรคการเมืองเข้าแข่งขันหลาย พรรคและการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม เมื่อถึงเวลานั้น ทางกองทัพจะส่งมอบอำนาจให้กับพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามมาตรฐานของประชาธิปไตย
ทั้งนี้ “ผู้สื่อข่าว” คาดการณ์ว่ากรณีเปลี่ยนรัฐบาล และประกาศภาวะฉุกเฉินนั้น อาจจะกระทบต่อ Sentiment ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่มีธุรกิจอยู่ในเมียนมาโดยเฉพาะบจ.ที่มีการลงนามกับรัฐบาลเมียนมาที่อาจจะส่งผลให้โครงการเกิดความล่าช้าหากมีการรัฐประหาร โดยปัจจุบันเมียนมาเป็นตลาดส่งออกหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของการส่งออกของหลายๆธุรกิจจากประเทศไทย ดังนั้น หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของการส่งออกไปยังตลาดเมียนมา หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากพรรคการเมืองใหม่
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยแนะนำติดตามประเด็นการเมืองในเมียนมาหลังนางอองซาน ซูจี ถูกทหารเมียนมาควบคุมตัวเช้านี้กระตุ้นความกังวลการเกิดรัฐประหาร คาดอาจส่งผลให้แผนการลงทุนในเมียนมาล่าช้าออกไป กดดันหุ้นในกลุ่มที่มีการลงทุนในประเทศเมียนมาอ่อนตัวลงได้เช่น PTTEP, GPSC และ TTCL
สำหรับ บจ.ในประเทศไทยที่มีธุรกิจในเมียนมามีหลายบจ. ประกอบด้วย
กลุ่มเครื่องดื่มที่มีการตั้งโรงงานผลิตในเมียนมา ได้แก่ อาทิ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ซึ่งมีการส่งออกไปยังเมียนมาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งล่าสุดมีการลงทุนโรงงานประกอบธุรกิจผลิตและจัดหน่ายขวดแก้วในประเทศเมียนมา และสามารถเปิดผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2564 และบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ประกอบธุรกิจผลิต ทำการตลาด จำหน่าย และบริหารจัดการการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มอื่น ๆ อย่างครบวงจร ซึ่งเป็นอีกบริษัทที่มีสัดส่วนในการส่งออกไปเมียนมาสูง
โดยราคาหุ้น OSP ปิดตลาดที่ระดับ 35.25 บาท ปรับตัวลดลง 0.50 บาท หรือ 1.40% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.36 พันล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้น CBG ปิดตลาดที่ระดับ 139 บาท ปรับตัวลดลง 6.50 บาท หรือ 4.47% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2.12 พันล้านบาท
กลุ่มค้าปลีก บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGA โดยปัจจุบัน MEGA เป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำในประเทศเมียนมา และ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL ประกอบธุรกิจ จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และวัสดุตกแต่งบ้าน ซึ่งมีสาขาในเมียนมา 1-2 สาขา
โดยราคาหุ้น MEGA ปิดตลาดที่ระดับ 39.75 บาท ปรับตัวลดลง 0.75 บาท หรือ 1.85% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 458.51 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้น GLOBAL ปิดตลาดที่ระดับ 20.20 บาท ปรับตัวลดลง 0.60 บาท หรือ 2.88% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 220.86 ล้านบาท
กลุ่มรับเหมาก่อสร้างบริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการขยายการลงทุนไปยังเมียนมา และเข้าร่วมการประมูลในโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก
โดยราคาหุ้น SEAFCO ปิดตลาดทรงตัวที่ระดับ 4.48 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.36 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้น ITD ปิดตลาดที่ระดับ 1.05 บาท ปรับตัวขึ้น 0.01 บาท หรือ 0.96% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 7.32 ล้านบาท
กลุ่มพลังงานทดแทนที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา ได้แก่ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN , บริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ META ,บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF ,บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ,บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และบริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) หรือ TTCL
โดยราคาหุ้น SCN ปิดตลาดที่ระดับ 1.88 บาท ปรับตัวลดลง 0.10 บาท หรือ 5.05% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 8.47 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้น META ปิดตลาดที่ระดับ 0.39 บาท ปรับตัวลดลง 0.01 บาท หรือ 2.50% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 0.99 ล้านบาท และราคาหุ้น ECF ปิดตลาดที่ระดับ 1.34 บาท ปรับตัวขึ้น 0.02 บาท หรือ 1.52% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 34.53 ล้านบาท
ขณะที่ราคาหุ้น PTTEP ปิดตลาดที่ระดับ 106.50 บาท ปรับตัวขึ้น 3 บาท หรือ 2.90% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2.02 พันล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้น GPSC ปิดตลาดทรงตัวที่ระดับ 0.39 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.31 พันล้านบาท และราคาหุ้น TTCL ปิดตลาดที่ระดับ 5.35 บาท ปรับตัวลดลง 0.60 บาท หรือ 10.08% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 87.24 ล้านบาท
ทั้งนี้ SCN ,META ,ECF ได้เข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูประเทศสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา (พม่า) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 220เมกะวัตต์ (MW) เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา โดยได้รับประทับตราลงนามรับรองการซื้อขายไฟฟ้า จากกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานเมียนมา (Ministry of Electricity and Energy : MOEE) อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน 2562 และอยู่ระหว่างดำเนินการในเฟส 2 อีก 50 เมกะวัตต์ ซึ่งก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ ภายในไตรมาส 4/64 ส่วนเฟสที่ 3 และ 4 อยู่ระหว่างวางแผนเพื่อก่อสร้างให้ครบภายในปี 2565 นี้
ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้ามินบูมีผู้ร่วมลงทุนหลักคือบมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) ถือหุ้น 30%, บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) ถือหุ้น 12%, บมจ. อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทคจำกัด (มหาชน) (ECF) ถือหุ้น 20% และ Noble Planet Pte. Ltd. (NP)ถือหุ้น 28% ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติรายแรกที่ได้รับอนุมัติให้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และทำโครงการนี้จนประสบความสำเร็จ
ด้าน นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร META หนึ่งในผู้ถือหุ้นหลักของ บริษัท กรีนเอิร์ธ พาวเวอร์ ไทยแลนด์ จำกัด (GEP) ผู้ดูแลโครงการโรงไฟฟ้ามินบู ชี้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาร์ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารและการจัดการโครงการฯ การดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ทาง META ยังสามารถรับรู้รายได้จากงานก่อสร้าง ได้อย่างปกติตามสัญญาดำเนินงานและยังคงเป็นไปตามแผนดำเนินงาน
ด้าน นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ และกรรมการ ECF เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาร์จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้า เนื่องจากบริษัทได้รับประทับตราลงนามรับรองการซื้อขายไฟฟ้า จากกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานเมียนมา (Ministry of Electricity and Energy : MOEE) ซึ่งจะไม่กระทบจากการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลเมียนมา อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามกำหนดการเดิม
ด้าน ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCN เผยชัดบริษัทไร้ความกังวลข่าวการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์เช้านี้ ด้วยโรงไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ ซึ่งโรงไฟฟ้ามินบูเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในวงกว้างเฉกเช่นกับโรงไฟฟ้าแห่งอื่นๆในประเทศเมียนมาร์ ฉะนั้นจึงมองว่าเรื่องการเมืองไม่กระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแต่อย่างใด โครงการจะดำเนินการและขายไฟฟ้าตามปกติ
ทั้งนี้โรงไฟฟ้ามินบูดำเนินงานและรับรู้รายได้มาแล้วตั้งแต่ปลายปี 2562 และปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการเฟสที่ 2-4 ตามแผนที่วางไว้
ขณะที่ PTTEP ชี้แจงว่าจากเหตุการณ์สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมานั้น บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) สำนักงานย่างกุ้ง ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ยังคงดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการซอติก้า รวมถึงโครงการร่วมทุน ได้แก่ โครงการยาดานา และโครงการเยตากุน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการบริหารงานต่าง ๆ ในภาพรวมได้ตามปกติ
โดยบริษัทมีแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan BCP) เพื่อรองรับการบริหารจัดการธุรกิจในภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม บริษัทจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ บมจ.โอสถสภา หรือ OSP ว่า ฝ่ายวิจัยคาดกำไรไตรมาส4/63 เท่ากับ 850 ล้านบาท เติบโต 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) แต่ลดลง 8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 26 bps (จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) เป็น 35.3% จากโปรแกรม Fit Fast Firm ทั้งในด้านการปรับสูตรเครื่องดื่มการบริหารต้นทุนวัตถุดิบให้ลดลง และประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ยอดขายคาดว่าจะลดลงจากการที่ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังติดลบมากกว่าไตรมาส3/63 ที่ -6.7% ตามการชะลอตัวของการอุปโคบริโภคและการระบาดของโควิดรอบใหม่ ขณะที่ตลาด Functional drink ที่เคยเติบโตต่อเนื่อง ก็ชะลอตัวลงจากฐานสูง อีกทั้งธุรกิจร้านสะดวกซื้อซึ่งเป็นช่องทางขายหลัก ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งจากโครงการคนละครึ่ง
โดยคาดว่าส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นจากการที่ C-Vitt ขยายกำลังการผลิตเมื่อกลางปี 63 แต่ก็มีค่าใช้จ่ายการตลาดเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากอยู่ในช่วงขยายช่องทางขายไปยัง Traditional Trade ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยคาดเงินปันผลครึ่งปีหลังปี63 เท่ากับ 0.70 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนครึ่งปี 2%
ขยายกำลังการผลิตและเพิ่มช่องทางการขายแม้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ฝ่ายวิจัยประเมินว่ากำไรปี 63 ยังเติบโตได้ 4% และเพิ่มขึ้น 13% ในปี 64 จากยอดขายที่ฟื้นตัวขึ้นตามการอุปโภคบริโภค และได้ประโยชน์จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังปี63 รวมทั้งการทยอยขยายช่องทางการขายของ C-Vitt ไปยัง Traditional Trade ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 20% (อีก 80% ขายทาง Modern Trade) อัตรากำไรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก Fit Fast Firm
ส่วนโรงงานใหม่ที่เริ่มผลิตเครื่องดื่มชูกำลังเองที่เมียนมาร์ (แทนการจ้างผลิต) ตั้งแต่ครึ่งปีหลังปี63 จะช่วยให้อัตรากำไรสูงขึ้น นอกจากนั้น โรงานผลิตขวดแก้วในเมียนมาร์คาดว่าจะเริ่มผลิตในครึ่งปีหลังปี 64
อย่างไรก็ดี ประเด็นการเมืองในเมียนมาร์อาจกดดันราคาหุ้นในช่วงนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงแนะนำ ซื้อ เมื่อราคาอ่อนตัวลง ราคาเป้าหมาย (DCF) 45 บาท (ปรับลงจากเดิมที่ 50 บาท)
ด้าน นายบุญยกฤต เสาวรรณ ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL) เปิดเผยว่า จากที่กองทัพเมียนมาได้เข้ายึดอำนาจของรัฐบาลนั้นบริษัทเห็นว่าบริษัทมีความเสี่ยงจำกัด เนื่องจากบริษัทเพิ่งได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 ในเมียนมา กำลังการผลิต 388 เมกะวัตต์มาแล้วเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยลงนามกับกระทรวงไฟฟ้าของเมียนมา
อีกทั้งคาดว่าแม้ใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็จะต้องเดินหน้าโครงการต่อ เพราะเป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งโครงการนี้ใช้เวลาศึกษาโครงการนาน 3 ปี และสัญญา PPA ถือว่ามีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 1 ที่บริษัทได้รับอนุมัติจากรัฐบาลทหาร ต่อมามีการเลือกตั้งและพรรค NLD ชนะได้เข้ามาเป็นรัฐบาลก็ยังสานต่อโครงการนี้
“เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลใหม่จะยกเลิกโครงการฯ เพราะเป็นพื้นฐานการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรี กระทรวงไฟฟ้าก็จะต้องมาสานต่อ” นายบุญยกฤต กล่าว
โดยระหว่างนี้บริษัทกำลังดำเนินการขั้นตอนกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งได้มีการทำประกันความเสี่ยงทางการเมืองไว้แล้ว รวมทั้งงาน Engineering Work ก็ดำเนินการที่สำนักงานในประเทศไทย ซึ่งกว่าที่บริษัทจะเข้าไปเริ่มงานก่อสร้างกำหนดไว้เป็นช่วงต้นปี 65 ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ทุกอย่างในเมียนมาจะชัดเจนมากขึ้นแล้ว
*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน