AMATA จับตาการเมืองเมียนมา เล็งเลื่อนเปิดนิคมฯ ย่างกุ้งเฟสแรก 5,000 ไร่จากเดิมปีนี้
AMATA จับตาการเมืองเมียนมา เล็งเลื่อนเปิดนิคมฯ ย่างกุ้งเฟสแรก 5,000 ไร่จากเดิมปีนี้
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่รัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลในเมียนมาเมื่อวานนี้ (1 ก.พ. 64) ส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาและลงทุนนิมคมอุตสาหกรรม Yangon Amata Smart & Eco City (YASEC) ในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งบริษัทได้สิทธิจากรัฐบาลเมียนมาในการลงทุนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรวม 5,000 ไร่ ทำให้การเปิดให้บริการนิคมอุตสาหกรรมในเฟสแรกอาจจะต้องเลื่อนการเปิดให้บริการออกไป จากแผนเดิมที่จะเปิดให้บริการและเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาในปี 64
ทั้งนี้บริษัทได้เริ่มพัฒนานิคมอุตสาหกรรม YASEC เฟสแรกไปเมื่อเดือนธ.ค. 63 โดยได้ใส่เงินลงทุนไปแล้ว 140 ล้านบาท จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเมียนมาที่จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้การปรับปรุงพื้นที่และการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆเกิดความล่าช้าออกไปบ้าง และเมื่อมีปัจจัยทางการเมืองเกิดขึ้นมาล่าสุด ส่งผลให้งานก่อสร้างที่ดำเนินการอยู่ต้องหยุดชะงักไป และส่งผลต่อความไม่แน่นอนกับบริษัทและลูกค้าที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมดังกล่าวเกิดขึ้น
โดยในส่วนของลูกค้าของบริษัทสัดส่วน 100% จากจำนวนลูกค้าทั้งหมด 20 ราย ที่จะเข้ามาลงทุนในนิมคม YASEC ในย่างกุ้ง เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด และเป็นลูกค้าจากญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทมาอย่างยาวนาน จากสถานการณ์ทางการเมืองที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกยึดอำนาจจากทหาร ทำให้ลูกค้าเกิดความไม่มั่นใจในการเข้าไปลงทุน เนื่องจากการเมืองที่ยังไม่แน่นอน และมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศใหญ่ในสหรัฐฯและยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะมีการใช้มาตรการทางการค้าและการลงทุนเข้ามากดดันรัฐบาลทหารในเมียนมา ประกอบกับยังมีความเสี่ยงในเรื่องการเกิดความรุนแรงหากประชาชนเมียนมาออกมาประท้วงการยึดอำนาจ จะทำให้สถานการณ์ในเมียนมาแย่ลง ส่งผลให้ไม่มีนักลงทุนใดๆกล้าเข้ามาลงทุน และกระทบต่อเศรษฐกิจของเมียนมาที่กำลังเริ่มเติบโตขึ้นได้ดี
สำหรับในส่วนของบริษัทปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการใดๆต่อได้ หลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมาเข้ายึดอำนาจ ซึ่งยังคงต้องรอความคืบหน้าว่าหลังจากนี้จะมีประกาศอื่นๆออกมาเพิ่มเติม โดยที่ในส่วนของพนักงานที่เข้าไปดำเนินงานอยู่ในย่างกุ้ง ยังคงต้องอยู่ที่บ้าน และยังไม่สามารถออกมาข้างนอกได้ หากไม่มีความจำเป็น ส่งผลให้งานก่อสร้างนิคมชะงักไปในช่วงนี้ และรอว่าจะมีความชัดเจนใหม่ๆออกมา ทำให้บริษัทสามารถดำนเนิการต่อได้
อย่างไรก็ตามบริษัทจะชะลอแผนการลงทุนเพิ่มในนิคมอุตสาหกรรม YASEC ส่วนที่รอการพัฒนาออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์การเมืองในเมียนมาจะกลับมาเป็นปกติ และนักลงทุนซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทเกิดความมั่นใจกลับมาเข้ามาลงทุนในเมียนมาต่ออีกครั้ง ซึ่งยอมรับการที่แผนการเปิดให้บริการนิคม YASEC ในเฟสแรกที่ล่าช้าออกไปกระทบต่อรายได้ของบริษัทที่เข้ามาส่วนหนึ่งในปี 64 และหากสถานการณ์ในประเทศเมียนมามีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น ก็มีดอกาสที่จะตัดสินใจยกเลิกการพัฒนาโครงการ และดึงกลุ่มลูกค้าที่สนใจลงทุนในเมียนมาเข้ามาลงทุนในนิมคมของบริษัทที่ประเทศไทยแทน
“การที่ทหารเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อวานนี้ก็เป็นผลกระทบ 2 เด้ง จากโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนัก ทำให้กระเทือนไปทั่ว เราก็ได้รับผลกระทบ ลูกค้าที่จะเข้ามาลงทุนก็เริ่มไม่มั่นใจ เพราะหากทหารเมียนมายึดอำนาจไปเลยก็มีผลให้สหรัฐฯและยุโรปคว่ำบาตรแน่ๆ และอาจจะรวมถึงญึ่ปุ่นด้วย ซึ่งก็จะตามมาด้วยนโยบายการค้าที่กีดกันต่างๆเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทที่จะเข้ามาลงทุนไม่อยากเข้าไปลงทุน และมีผลต่อเงินกู้ที่เตรียมลงทุนในเมียนมาอาจจะโดนดึงกลับมาแน่ๆ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าต่อไปข้างหน้าจะสถานการณ์ในเมียนมาจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ทำได้เพียง wait & see และก็คงยังไม่เอาเงินลงทุนใส่เพิ่ม
อย่างไรก็ตามมองว่าหากสถานการณ์ไม่บานปลายไปมากก็ยังไม่ถอนการลงทุนออกง่ายๆ หลังจากที่เราใช้ระยะเวลาการศึกษาและเดินเรื่องโครงการนี้มากว่า 5 ปี ก็หวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากังวลมาก เพราะมันจะกระทบหนักต่อการลงทุนของเรา ซึ่งปัจจัยการเมืองที่มีทหารมาและรถถังออกมาอยู่บนถนนแบบนี้เป็นสิ่งที่กระทบกับอมตะมาตลอด เพราะส่งผลต่อความมั่นใจในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของอมตะ โดยเฉพาะยิ่งสหรัฐฯและยุโรป ยิ่งไม่ชอบเรื่องแบบนี้ แต่ประเทศที่เฉยๆไม่ค่อยมีผลอะไรก็คงเป็นจีน ที่เขาคุ้นเคยกับการเมืองแบบนี้”นายวิบูลย์ กล่าว
ทั้งนี้บริษัทยังมองว่าประเทศเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศเกิดใหม่ที่กำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด จากการบริโภคในประเทศที่เริ่มขยายตัวมาก ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนการใช้รถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว และเป็นประเทศที่เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำถูก เพราะค่าแรงขั้นต่ำของเมียนมาเมื่อเทียบกับประเทศไทยถือว่าถูกกว่าครึ่งหนึ่ง และภาคธุรกิจในเมียนมายังไม่ขยายตัวมาก ส่งผลให้การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) กับประเทศเมียนมายังไม่มี ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สร้างความน่าสนใจในการลงทุนให้กับผู้ประกอบการต่างๆสนใจเข้ามาลงทุนในเมียนมา