DOD ลุย “กัญชง” เต็มสูบ! จ่อยื่นขอใบอนุญาตตั้งรง.สกัดสาร CBD

DOD ลุย “กัญชง” เต็มสูบ! จ่อยื่นขอใบอนุญาตตั้งรง.สกัดสาร CBD


นายธนิน ศรีเศรษฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD เปิดเผยว่า ภายหลังจากกฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ.2563 เริ่มต้นมีผลใช้บังคับแล้ววันที่ 29 ม.ค. 2564 โดยก่อนหน้านี้บริษัทฯได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้รับซื้อกัญชง ในโครงการรับสมัครผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ของทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีเครือข่ายเกษตรผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชงเป็นจำนวนมาก ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงที่กำลังเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน

พร้อมทั้งกล่าวยอมรับว่า การใช้กัญชงจะต้องขออนุญาตกับทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งการแปรรูปผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม และการปลูก ขณะที่ปัจจุบันทางอย.อยู่ระหว่างการสร้างระบบและแฟลตฟอร์มการยื่นสมัครขออนุญาต เพื่อใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งหากแฟลตฟอร์มการยื่นสมัครขออนุญาตแล้วเสร็จ ทางบริษัทฯก็สามารถยื่นใบอนุญาตตั้งโรงงานสกัดสาร CBD ในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชง

นอกจากบริษัทฯเตรียมยื่นใบอนุญาตตั้งโรงงานสกัดสาร CBD แล้ว บริษัทฯยังเตรียมยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิต (ที่มิใช่การปลูก) , เตรียมยื่นคำขอรับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ , เตรียมยื่นคำขอรับใบอนุญาตส่งออกเมล็ดพันธุ์ , เตรียมยื่นคำขอรับใบอนุญาตจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และเตรียมยื่นคำขอรับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองเมล็ดพันธุ์ ด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หากบริษัทฯได้รับใบอนุญาตครบตามที่ยื่นขอ และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชงเชิงพาณิชย์ได้ตามที่วางแผนไว้ จะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความพร้อมของศักยภาพความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำในการผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชงได้แบบครบวงจร ที่สำคัญจะส่งผลให้รายได้บริษัทฯเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และช่วยลดต้นทุนการผลิต ควบคุมคุณภาพวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีโรงงานสกัดที่เป็นของตนเอง ทำให้เกิด Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ สร้างประโยชน์และมูลค่าเพิ่มให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นายธนิน กล่าวอีกว่า บริษัทตอกย้ำถึงจุดแข็งและข้อได้เปรียบของบริษัทฯว่า DOD มีความพร้อมในเรื่องของโรงสกัด และห้องปฏิบัติการ (LAB) ซึ่งผ่านการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 จากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงยังได้การรับรองมาตรฐาน ISO22000:2018 (ระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร) และ ISO14001:2015 (ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม) จากบริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด

ขณะเดียวกันบริษัทฯมีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D)ของบริษัทเอง ที่คอยค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาสารสกัดพืชสมุนไพร รวมถึงการพัฒนากระบวนการสกัด ออกแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ดังนั้นจากปัจจัยบวกในข้างต้นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทฯในการต่อยอดไลน์สกัดกัญชง ได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันจากเมล็ด หรือส่วนอื่นของกัญชง

“ก่อนหน้านี้ DOD มีการเซ็น MOU ระหว่างมหาลัยวิทยาลัยแม่โจ้ และโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการร่วมมือวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์สมุนไพรกัญชงและกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์  รวมถึงยังมีการร่วมมือกับม.แม่โจ้  เพื่อรับซื้อกัญชงคุณภาพสูงจากเครือข่ายเกษตรที่ยื่นขอรับใบอนุญาตเพาะปลูก ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้บริษัทฯมีเครือข่ายเกษตรกรที่สามารถซัพพลายวัตถุดิบกัญชงที่มีคุณภาพสูงให้กับบริษัทฯได้ระยะยาว

คือมีสาร CBD (Cannabidiol) สูงและมีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ต่ำกว่า 1% ตามข้อกำหนดทางกฎหมายเพื่อมาทำสารสกัดจากกัญชงตามหลักมาตรฐานสากลที่ต้องมีสาร THC ต่ำกว่า 0.2%  ซึ่งนอกจากการสกัดสาร CBD จากกัญชง เพื่อนำมาผลิตภัณฑ์ต่างๆแล้ว บริษัทฯยังมีแนวทางที่จะเพิ่มการสกัดสารในส่วนต่างๆของกัญชง เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น สกัดเป็นน้ำมันจากเมล็ดกัญชง สกัดเป็นโปรตีนสูง และสกัดเป็นเปปไทด์ เป็นต้น”  นายธนิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานสกัดสาร CBD เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯจะเริ่มดำเนินการขยายโรงงานสกัดสาร เพื่อรองรับการสกัด CBD จากกัญชงในเฟสแรก ซึ่งก็จะสามารถนำสารสกัดจากกัญชงมาเข้าสู่ไลน์การผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าที่เป็นเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชั้นนำในประเทศเป็นลำดับต่อไป และหากโรงสกัดสาร CBD เฟสแรกประสบความสำเร็จ บริษัทฯก็มีแผนขยายการลงทุนเพื่อก่อสร้างโรงสกัดสารจากกัญชงในเฟสสอง ซึ่งจะเป็นโรงสกัดที่มีขนาดใหญ่กว่าในเฟสแรก ทั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและขยายผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดโลก

Back to top button