WHAUP เปิดแผนปี 64 ลุยพลังงาน-สาธารณูปโภค เคาะงบฯ 5 ปี 1.2 หมื่นลบ.
WHAUP เปิดแผนปี 64 ลุยพลังงาน-สาธารณูปโภค เคาะงบฯ 5 ปี 1.2 หมื่นลบ.
ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจในปี 2564 ว่า บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจทั้งภายในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นทั้งด้านพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภครูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติเติบโต 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน และรักษาอัตรากำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคาดอกเบี้ยและภาษี (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับไม่น้อยกว่า 50%
สำหรับแผนการขยายธุรกิจด้านพลังงานในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเน้นการขยายธุรกิจด้านพลังงานทดแทนได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในแบบที่ติดตั้งบนหลังคา แบบลอยน้ำ และบนพื้นดิน (Solar Rooftop, Floating and Ground-mounted) เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของ WHAUP แตะระดับ 650 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากปีก่อน พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการเสาะหาและศึกษาโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A opportunity) ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (Solar Farm) และพลังงานลม (Wind Farm) ในประเทศเวียดนาม อีกด้วย
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการด้านนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ การทดสอบระบบการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างกันของโรงงานต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม หรือ Peer-to-Peer Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงาน
โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ERC Sandbox) พร้อมกันนี้ บริษัทฯยังทดสอบการนำระบบกักเก็บพลังงาน Battery Energy Storage System (BESS) มาใช้ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเริ่มติดตั้งที่โรงกรองน้ำของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิรน์ซีบอร์ด (ระยอง) และมีแผนที่จะขยายไปยังสถานประกอบการอื่นๆของบริษัทฯ และเสนอเป็นบริการให้แก่ลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ของดับบลิวเอชเอต่อไป โดยบริษัทฯ เชื่อว่านวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้จะสร้างโอกาสในการขยายกำลังการผลิตในส่วนของ Renewable Energy และ Business Model ใหม่ให้กับบริษัทฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังจากที่ภาครัฐปรับกฎเกณฑ์รองรับแล้ว
ทั้งนี้ในส่วนธุรกิจด้านสาธารณูปโภคในปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำโดยรวมเพิ่มเป็น 153 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน จากความต้องการใช้น้ำของลูกค้าที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นรวมถึงการเปิดดำเนินการโครงการใหม่ของลูกค้า โดยบริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นขยายธุรกิจเพิ่มการลงทุนในกลุ่ม Value added product ได้แก่ น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) น้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) และการนำน้ำเสียมาใช้ใหม่ (Wastewater Reclamation) ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ พร้อมทั้งวางแผนในการพัฒนา Smart Utilities Service Platform และ Innovative Solution เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอีกด้วย
โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา WHAUP มีการลงทุนขยายกำลังการผลิต Reclaimed Water ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) ด้วยกำลังการผลิตรวม 9.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งเป็นโรงงานการผลิต Reclaimed Water ใหญ่สุดในประเทศไทย ทำให้มีกำลังการผลิต Reclaimed Water รวมเพิ่มเป็น 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
สำหรับการขยายการลงทุนในโครงการ Wastewater Reclamation นอกจากเป็นลดการพึ่งพาน้ำจากแหล่งธรรมชาติและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจโดยนำน้ำที่ได้จากกระบวนการบำบัดดังกล่าวไปผลิตเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าที่มีความต้องการใช้น้ำดังกล่าว
โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายน้ำปราศจากแร่ธาตุ เฟส 2 กับ บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ระยะเวลา 15 ปี รวมเป็นปริมาณการจำหน่ายน้ำ 3.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และสัญญาขายน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง กับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (Gulf) ในปริมาณตามสัญญา 1.9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นระยะเวลา 15 ปี คิดเป็นมูลค่าตามสัญญารวมทั้งสิ้นประมาณ 2,500 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนในประเทศเวียดนาม บริษัทฯ ได้เริ่มจัดจำหน่ายน้ำและบริการบำบัดน้ำเสียให้กับลูกค้าในเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำที่จัดจำหน่ายและบริหารจัดการในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อปี สำหรับแผนงานของบริษัทผลิตและจำหน่ายน้ำประปาสองแห่งที่บริษัทฯ เข้าไปร่วมลงทุน ในส่วนของบริษัท เก๋อ หล่อ วอเตอร์ ซัพพลาย (Cua Lo Water Supply) ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในเมืองเหงะ อาน ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 47.3% มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำจาก 4.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็น 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ภายในปี 2564 เนื่องจากจังหวัดเหงะ อาน มีการเติบโตของประชากรและเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ทำให้ความต้องการใช้น้ำสูงขึ้น
โดยบริษัท ดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) หนึ่งในผู้ให้บริการน้ำประปาชั้นนำของเมืองฮานอย ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 34% ก็ได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวของเขตอุตสาหกรรมทั้งในบริเวณจังหวัดฮานอย และจังหวัดใกล้เคียงอย่าง จังหวัดบั๊กนิญ (Bac Ninh) และจังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen) ทั้งนี้บริษัท ดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ ได้ขยายท่อประปาเพื่อให้บริการน้ำประปาแก่ลูกค้าทั้งสามจังหวัด และตั้งเป้ายอดจำหน่ายน้ำในปี 2564 ที่ 76 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 45% จากปีก่อน
ทั้งี้ บริษัทฯ ยังคงมองหาโอกาสในการขยายการลงทุนเพิ่มเติมทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยตั้งงบลงทุนสำหรับธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคในช่วงปี 2564 – 2568 ประมาณ 12,000 ล้านบาท