OR น้องใหม่ใหญ่เบิ้ม! เทรดวันแรกลุ้นวิ่งเกิน 25 บ. กองทุน-ขาใหญ่จ้องเก็บเพิ่ม

OR น้องใหม่ใหญ่เบิ้ม! ลงสนามเทรดวันแรก ลุ้นราคาวิ่งคึกเกินเป้า 25 บ. กองทุน-ต่างชาติ-ขาใหญ่ จ้องเก็บเพิ่ม หลังเบียดเข้าคำนวณดัชนี SET50 และดัชนี MSCI ได้!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 ก.พ.64) หุ้นสามัญของ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค เป็นวันแรก

โดยบริษัทจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน 2,610 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) 390 ล้านหุ้น รวม 3,000 ล้านหุ้น มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินซึ่งยืมจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT จำนวน 390 ล้านหุ้น

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR เปิดเผยว่า บริษัทถือเป็นผู้นำและเป็นธุรกิจที่ดำเนินงานเกี่ยวกับ Oil และ Non-Oil รายแรกในประเทศไทย มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 โดยที่ OR ประกอบไปด้วยการดำเนินธุรกิจ 3 อย่าง ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขายน้ำมันและก๊าซ ที่มีทั้งปั้มน้ำมัน PTT Station การขายน้ำมันอากาศยาน การขายก๊าซ LPG ให้กับภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน และการขายน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งเป็นธุรกิจที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันมาอย่างยาวนาน

ส่วนธุรกิจ Non-Oil ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีก โดยมีแบรนด์ Café Amazon ที่คนไทยให้ความนิยมกันเป็นจำนวนมาก และมียอดขายเครื่องดื่มและสาขาที่เติบโตขึ้น และเป็นธุรกิจที่ให้มาร์จิ้นกับบริษัทที่ดีในระดับ 25-30% สูงกว่าธุรกิจน้ำมันที่ที่ให้มาร์จิ้น 3-4% แม้ว่าธุรกิจ Non-Oil จะมีสัดส่วนที่ยังน้อยกว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันค่อนข้างมาก แต่เป็นทิศทางที่บริษัทจะนำมาต่อยอดไปในอนาคต เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ และธุรกิจในต่างประเทศที่ OR มีการขยายในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว และกัมพูชา เป็นการนำธุรกิจ Oil และ Non-Oil เข้าไปรุกขยายตลาดในต่างประเทศ ทำให้ OR มีรายได้ที่มาจากต่างประเทศเข้ามาเสริม

สำหรับโมเดลในการทำธุรกิจของ OR นั้นจะหันมาเน้นไปที่การทำให้ปั้มน้ำมัน PTT Station เป็นแพลตฟอร์มในการรวบรวมสินค้าและบริการเข้ามาให้บริการกับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในปั้มน้ำมันของ OR ซึ่งทำให้ OR มีโอกาสในการเสนอสินค้าและบริการของบริษัทเองมากขึ้น และเปิดโอกาสให้คนอื่นๆหรือคู่ค้าที่ต้องการนำสินค้าและบริการมาเสนอขายในปั้มน้ำมันของ OR เข้ามาได้ โดยที่ OR สามารถมีส่วนแบ่งรายได้จากคนอื่นๆหรือคู่ค้าเข้ามาเสริม

นอกจากนี้เงินที่ได้จากการเสนอขาย IPO ในครั้งนี้ ยังนำมาใช้ต่อยอดในการขยายธุรกิจ หลังจากที่ชำระระคืนหนี้ไปบางส่วน โดยเฉพาะการขยายสาขาแบรนด์ Cafe Amazon ที่ตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 5,000 สาขา ในปี 2568 จากปัจจุบันที่มี 3,600 สาขา รวมถึงการขยายปั้มน้ำมัน PTT Station ในต่างประเทศ และการเข้าลงซื้อหรือร่วมทุนธุรกิจใหม่ๆที่จะเข้ามาต่อยอดการเติบโตให้กับ OR เพิ่มเติมหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว

ด้าน นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อสะสม” OR ประเมินราคาเป้าหมายที่ประมาณ 20-25 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาเป้าหมายที่นักลงทุนสามารถถือหรือเข้าซื้อเพิ่มได้ต่อเนื่อง หากปรับขึ้นไปเหนือ 25 บาทขึ้นไป ยังสามารถถือไว้ก่อนได้แต่ค่อยๆลดน้ำหนักการลงทุน หากปรับเพิ่มไปที่ 30 บาท มองว่า Valuation เริ่มตึงตัวแล้ว และมีความเสี่ยงที่จะถูกแรงขายกดดันราคาลงมา และสุดท้ายหากราคาลดลงต่ำกว่า 20 บาท ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก

ทั้งนี้มองทิศทางราคาหุ้น OR ในวันซื้อขายวันแรก คาดจะเปิดและยืนในแดนบวกได้ แต่จะไม่เห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก แม้ว่า OR จะเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และมีความแข็งแกร่งทางด้านฐานะการเงินก็ตาม แต่การที่หุ้น IPO ที่ถูกกระจายไปส่วนใหญ่อยู่ในมือของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศรวมกัน 16% ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ถือหุ้นยาวและต้องปรับเปลี่ยนการลงทุนตามกฎเกณฑ์ของกองทุน ทำให้โอกาสของราคาเปิดขายวันแรกจะพุ่งขึ้นสูงมีโอกาสได้ยาก เพราะหากราคาขึ้นสูงไปมากกองทุนก็จะต้องขายทำกำไรออกมาบางส่วนตามกฎการลงทุน

อีกทั้งในส่วนของนักลงทุนรายย่อยในสัดส่วน 9% หรือกว่า 500,000 ราย ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นไปก็ยังแนวคิดในการลงทุนที่แตกต่างกัน และถือว่ามีผลต่อทิศทางราคาหุ้นไม่มาก ทำให้การซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยไม่สามารถช่วยหนุนหรือกดดันราคาหุ้น OR ได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ภาพในระยะสั้นมองว่าราคาหุ้น OR ยังแกว่งตัวขึ้นได้ จากการที่ OR จะสามารถเข้าคำนวณดัชนี SET50 และดัชนีสำคัญอื่นๆของโลกทั้ง MSCI World Index และดัชนี FTSE ทำให้กองทุนที่เป็น Passive Fund ที่ต้องตามดัชนีสำคัญต่างๆเข้าซื้อหุ้น OR เพิ่ม

โดยภายหลังจากเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ 3 วัน OR จะสามารถเข้าคำนวณใน SET50 ในอันดับที่ 19 และคาดว่าจะมีเม็ดเงินจากกองทุน Passive Fund เข้ามาซื้อสะสมหลังคิดคำนวณในดัชนีสำคัญต่างๆราว 900-1,000 ล้านบาท ทำให้เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยผลักดันราคาของ OR หลังเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้ว และหากผลงานของ OR สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ตามที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนคาดไว้ ก็จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้กองทุนให้น้ำหนักกับหุ้น OR มากขึ้น

สอดคล้องกับ นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่าราคาหุ้น OR หลังเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นในลักษณะค่อยๆ แกว่งตัวขึ้น ในกรณีที่ผลการดำเนินงานกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2564 ตามที่ประเมินไว้ในระดับ 1 หมื่นล้านบาทได้ จากปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกทั้งด้วยจำนวนหุ้นที่เข้ามามีขนาดใหญ่กว่า 2 แสนล้านบาท สามารถเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และดัชนี MSCI ได้ ทำให้จะมีแรงซื้อจากกองทุนต่างๆ เข้ามาหนุนราคาหุ้น

ขณะที่ภาพของธุรกิจในอนาคตมองว่าธุรกิจค้าปลีก (Non-oil) และธุรกิจในต่างประเทศจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันผลงานของ OR ให้เติบโตขึ้น และช่วยลดความผันผวนจากธุรกิจน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนที่สูงเกือบ 70% และธุรกิจ Non-oil มีสัดส่วนราว 25% ซึ่ง OR ยังมีโอกาสขยายธุรกิจ Non-oil ได้อีกมาก โดยเฉพาะการขยายแบรนด์ Cafe Amazon ที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ จากการใช้โมเดลการขยายรูปแบบเฟรนไชส์ ที่สามารถเจาะเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ โดยที่บริษัทไม่ต้องลงทุนขยายเองมาก และยังมีรายได้จากการขายเฟรนไชส์เข้ามา รวมถึงการขยายสาขาในลาว และกัมพูชา ซึ่งได้รับความนิยมมากว่าแบรนด์กาแฟชื่อดังระดับโลก

อีกทั้งธุรกิจ Non-oil ยังเป็นธุรกิจที่ให้มาร์จิ้นที่ดีในระดับมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับธุรกิจน้ำมันที่มีมาร์จิ้นราว 5% ทำให้เป็นโอกาสที่ OR จะสามารถสร้าง New S-Curve ใหม่ให้กับธุรกิจต่อยอดการเติบโต และยังไม่รวมกับการนำเงินที่ได้จาก IPO ไปลงทุนอื่นๆเข้ามาในอนาคต ทำให้ OR ยังมีความน่าสนใจในแง่ของปัจจัยพื้นฐาน และภาพการต่อยอดธุรกิจ โดยในเบื้องต้นให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 22 บาท/หุ้น ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่คำนวณจาก P/E ของกลุ่มน้ำมันที่ 19 เท่า และกลุ่มค้าปลีกที่ 22 เท่า โดยช่วงราคาที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 20-25 บาท/หุ้น ที่มองว่ายังน่าเข้าลงทุนได้

เช่นเดียวกับ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น OR ราคาเป้าหมาย 19.30-23.10 บาท ด้วย OR เป็น Flagship ของกลุ่ม ปตท. โดยเป็นผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันมาอย่างยาวนาน และขยายต่อยอดธุรกิจ Non-Oil ซึ่งเป็นตัวช่วยรักษาการเติบโตของกำไร ขณะที่ยอดขายของธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกเติบโตสม่ำเสมอทั้งในอดีต และแนวโน้มอนาคต และคาดจะเติบโตยิ่งขึ้นอีก จากการขยายธุรกิจเชิงรุก

ทั้งนี้ด้วยกำไรในปี 2563 ได้รับผลกระทบหนักจากรายการพิเศษและปริมาณจำหน่ายน้ำมันที่ลดลงมากในไตรมาส 2/2563 จึงคาดว่ากำไรปี 2564 ก็น่าจะฟื้นตัวได้ดีจากฐานที่ต่ำ โดยหากมีสมมติฐานว่ากำไรของธุรกิจน้ำมันกลับมา 90% ของปีปกติ ไม่มีรายการพิเศษ และกำไรของธุรกิจ Non-Oil เติบโต 15% เมื่อเทียบจากปีก่อน คาดว่ากำไรในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท หรือ EPS อยู่ที่ 0.92 บาท

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เปิดเผยว่า กลุ่มนักลงทุนสถาบัน รวมถึงกองทุนต่างๆ ที่ได้ทำเรื่องขอจองหุ้นไอพีโอ OR นั้น ต่างได้ในจำนวนที่ต่ำกว่าที่ขอจองหุ้นไป ทำให้ต้องเข้าไปเก็บหุ้น OR เพิ่มหลังการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

“บางกองทุนได้หุ้นไปน้อยมาก หรือได้ไม่ครบตามจำนวนที่ต้องการ ทำให้ต้องหาจังหวะทยอยสะสมหุ้น OR เข้าพอร์ต เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกองทุนแต่ละแห่ง ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนแตกต่างกันไป”แหล่งข่าวกล่าว

ขณะเดียวกันหลังจากหุ้น OR เข้าคำนวณในดัชนี SET50 ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นหลังเข้าเทรด 2-3 วัน ทำให้กองทุนที่ต้องลงทุนหรือมีการปรับเพิ่มน้ำหนักตามหุ้นที่เข้ามาคำนวณในดัชนี SET50 ก็ต้องเข้ามาซื้อหุ้นโออาร์เพิ่มด้วย อย่างไรก็ดี  ทางกองทุนอาจไม่จำเป็นต้องเข้าซื้อในทันทีหลังหุ้นเข้าคำนวณฯ โดยอาจจะรอจังหวะที่หุ้นมีราคาย่อลง เพื่อให้ได้ราคาเหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ดีในช่วงแรกของหุ้น OR ที่เข้าเทรดนั้น ราคาหุ้นจะมีความผันผวนอย่างมาก เนื่องจากมีนักลงทุนทั้งประเภทสถาบัน รายใหญ่ และรายย่อย ต่างต้องการหุ้นเพิ่ม แต่ขณะเดียวกัน ทุกคนต่างต่างก็ต้องการที่จะได้ในราคาไม่สูงมากนักเช่นกัน ดังนั้น จึงยากต่อการประเมินว่า ราคาจะกระโดด หรือว่าจะเพิ่มจากราคาไอพีโอที่ 18 บาท ไปมากน้อยแค่ไหน

อนึ่ง OR รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2563 มีกำไร 3.45 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากปีก่อนมีกำไร 2.59 พันล้านบาท

Back to top button