ADVANC เปิดแผนขยาย 5G เน้นพท.โรงงานอุตฯ-เจาะ EEC หลังคว้าคลื่น 26GHz สูงสุด
ADVANC เปิดแผนขยาย 5G เน้นพท.โรงงานอุตฯ-เจาะ EEC หลังคว้าคลื่น 26GHz สูงสุด
นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC กล่าวว่า ในวันนี้บริษัทได้ชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 26GHz เป็นจำนวน 5,719.15 ล้านบาท และจะนำคลื่นนี้ไปใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยในปีนี้บริษัทจัดงบลงทุน 2.5-3.0 หมื่นล้านบาท ไปลงทุนระบบ 5G และ 4G รวมถึงลงทุน Fixed Broadband 5-6 พันล้านบาท
โดยในปีนี้เป็นต้นไป บริษัทจะใช้คลื่น 2.6 GHz ที่จะมี Usecase มากขึ้น โดยเป็นคลื่นความถี่ที่ใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากกลางปี 63 ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือกับ บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) พัฒนาระบบ ICT ในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งได้ร่วมมือกับ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) และ สวนอุตสาหกรรมบางกระดี่ ไปแล้ว
ด้านนายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ ADVANC กล่าวว่า ปัจจุบัน ADVANC ได้คลื่นความถี่มากที่สุดรวม 1,420 MHz ที่ครอบคลุมคลื่นความถี่ต่ำ คลื่นความถี่กลาง และคลื่นความถี่สูง โดยคลื่นความถี่ที่ใช้ระบบ 5G ได้แก่ คลื่น 700 MHz จำนวน 30 MHz เป็นคลื่นความถี่ต่ำที่สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง แต่ความเร็วไม่สูงมากนัก คลื่น 2600MHz จำนวน 100 MHz เป็นคลื่นความถี่กลางครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้นมาแต่มี Bandwidthที่กว้างและมีความเร็วมากกว่า 1Gb
และคลื่น 26 GHz จำนวน 1200 MHz ซึ่งสามารถใช้กับพื้นที่เฉพาะเจาะจงได้ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการที่บริษัทมีจำนวนคลื่นมากก็ทำให้มี Capacity ที่สามารถรองรับ Usecase ได้มากขึ้นด้วย โดยแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมมีความต้องการแตกต่างกันไปตามประเภทเครื่องจักร อีกทั้งต้องใช้คลื่นที่มีเสถียรภาพเพื่อให้มีความแม่นยำในการใช้งาน ดังนั้น คลื่นที่บริษัทมีอยู่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ รวมถึงยังสามารถทำเป็น 5G Private network ที่จะเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลแต่ละบริษัท
ด้าน นายสมชัย ไทยสงวนวรกุล ในฐานะประธาน EEC Industrial Forum กล่าวว่า การนำ 5G มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ยุค Industrial 4.0 ได้จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC จะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ เวียดนาม เมียนมา อินเดีย ช่วยรักษาฐานผู้ลงทุนไม่ให้ย้ายการผลิตออกไป โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะทำให้ซัพพลายเชนในไทยดีและถูก ขณะเดียวกันในเขตพื้นที่ EEC ได้วางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนด้านอื่น ๆ ไว้แล้ว อาทิ ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นกลุ่มแรกที่จะใช้เทคโนโลยี 5G ถัดมา คาดว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และ กลุ่มอาหาร
ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมเอสเอ็มอีให้สามารถปรับตัวเข้ามาสู่ยุค Industrial 4.0 ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ เช่น ในแง่ของการได้รับเงินทุน เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้กับกิจการที่มีศักยภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนซัพพลายเชนในประเทศไทย และส่งเสริมกับการสร้างแรงงานรองรับ ทั้งอาชีวะ ระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี เพื่อป้อนเข้ากับอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวมาใช้เทคโนโลยี 5G ซึ่งยังขาดแคลนแรงงานทักษะ
ส่วนนายสมชาย งามกิจเจริญลาภ รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอสเอ็นซี (SNC) กล่าวว่า บริษัทได้นำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในกระบวนการผลิตที่มีการใช้ Automation มากขึ้น มีการทำงานระหว่างเครื่องจักรด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีห้องควบคุมการผลิตที่สามารถติดตามสถานะการผลิตได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงสามารถการบริหารการผลิต เช่น วัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต เป็นแบบเรียลไทม์ ทำให้ของเสียระหว่างการผลิตลดต่ำลง และการผลิตเกิดประสิทธิภาพสู
ด้านนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (18 ก.พ. 64) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งชนะการประมูลคลื่นความถี่ 26 GHz ช่วงความถี่ 25.2 26.4 GHz ได้นำเงินค่าประมูลรวม 5,719.15 ล้านบาท มาชำระงวดเดียวให้กับสำนักงาน กสทช.ตามเงื่อนไขการประมูลแล้ว จึงได้มอบใบอนุญาตใช้งาน และใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับ AWN มีอายุ 15 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.64 สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ.79