SINGER วางเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อแตะ 1 หมื่นลบ. รายได้โต 25% คุม NPL ต่ำ 4%

SINGER วางเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อแตะ 1 หมื่นลบ. รายได้โต 25% คุม NPL ต่ำ 4%


นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เปิดเผยว่า บริษัทวางกลยุทธ์ปี 2564 เดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อให้เติบโต หรือมีสินเชื่อทะยานแตะระดับ 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะสินเชื่อรถทำเงินเป็นพอร์ตที่มีอัตราดอกเบี้ยดี และความเสี่ยงต่ำ จะยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ประกอบกับ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ระดับที่ดี แม้จะเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ด้านช่องทางการจำหน่าย ตั้งเป้าจะขยายสาขาแฟรนไชส์ ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ลงลึกในระดับตำบล และอำเภอ เป็น 4,000 แห่ง หรือโตเท่าตัวจากปีก่อน รวมไปถึงการรุกตลาดออนไลน์ จัดแคมเปญการขายและกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ประกาศดึงตัว “โน๊ต-อุดม แต้พานิช” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรกของซิงเกอร์ประเทศไทย ภายใต้ธีม “ซิงเกอร์ ผ่อนหนักให้เป็นเบา” เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น และผลักดันยอดขายให้เติบโต พร้อมคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำจึงตั้งเป้ารายได้ในปีนี้จะเติบโตจากปีก่อนราว 25% ส่วนกำไรยังคงโดดเด่น พร้อมตั้งเป้าคุม NPL ในระดับต่ำไม่เกิน 4%

ส่วนผลการดำเนินงานประจำปี 2563 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 277 ล้านบาท หรือโต 166.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 166 ล้านบาท มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,050 ล้านบาท หรือ 40.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 2,610 ล้านบาท สำหรับผลประกอบการไตรมาส 4/2563 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 124 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 195.2% รายได้รวมอยู่ที่ 1,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.3%

ผลประกอบการปี 2563 ที่ออกมาในครั้งนี้ นับเป็นการสะท้อนความแข็งแกร่งของ SINGER สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งมาจากสินค้า 5 ลำดับแรก คือ ตู้น้ำมัน ตู้แช่ เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ และเครื่องซักผ้า เป็นผลจากการปรับตัวตามสภาวะตลาด การเพิ่มจำนวนพนักงานขาย เพิ่มจำนวนสาขาย่อยซิงเกอร์แฟรนไชส์ และจัดทัพทีมขายอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ความสำเร็จในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ภายใต้ชื่อแบรนด์ “รถทำเงิน” มีพอร์ตเติบโตขึ้น ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการอนุมัติและติดตามสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 45.2% อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 12.1% และภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 4.4% ลดลงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

และแม้ในปีที่ผ่านมาจะเกิดสถานกาณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้ง การล็อกดาวน์ปิดเมือง แต่บริษัทฯ มีจุดแข็งในรูปแบบการขายตรงผ่านตัวแทน 2,000 ราย ประกอบกับ ความสำเร็จในการขยายสาขาผ่านแฟรนไชส์ หรือร้านสาขาย่อยได้แล้ว 2,000 แห่ง รวมถึงการ Synergy ร่วมกันในกลุ่มเจมาร์ท ผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 6,604 ล้านบาท เติบโตขึ้น 82.8% จาก 3,612 ล้านบาทเมื่อต้นปี โดยแบ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) 3,155 ล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) 3,449 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี จากความสำเร็จของผลประกอบการปี 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานในงวดครึ่งปีหลังของปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 นี้ และกำหนดการจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 ไปเรียบร้อยแล้ว ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท ส่งผลให้ทั้งปี 2563 บริษัทฯ จะจ่ายปันผลรวมอัตราหุ้นละ 0.25 บาท คิดเป็นเงินปันผลรวมทั้งสิ้น 108.43 ล้านบาท

Back to top button