เปิดงบฯ ปี 63 กลุ่มอสังหาฯอ่วมหนัก! “ทริสฯ” มองทิศทางอุปสงค์ฟื้นปี 65
เปิดงบฯ ปี 63 กลุ่มอสังหาฯอ่วมหนัก! “ทริสฯ” มองทิศทางอุปสงค์ฟื้นปี 65
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2563 สิ้นสุด 31 ธ.ค.2563 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย โดยพบว่า ส่วนใหญ่บจ.มีกำไรสุทธิปรับตัวลดลง หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้กำลังซื้อในช่วงปี 2563 น้อยลงกระทบโดยตรงกับยอดโอน และยอดขายโครงการ
โดยบจ.ที่ประกาศผลการดำเนินงานออกมามีดังนี้
บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 3.42 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 177.45 ล้านบาท
โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2563 พลิกขาดทุน เนื่องจากรายได้จากการขายและบริการมีจำนวน 3,056.93ล้านบาท ลดลง 1,381.18 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 31.12
บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THANA รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 16.63 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิ 60.73 ล้านบาท
โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งในไตรมาส 2/63 บริษัทมีการบันทึกกำไรที่เกิดจากการการที่โครงการขายโครงการหนึ่งของบริษัทถูกเวรคืน โดยมีกำไรจากการถูกเวนคืนก่อนภาษีเงินได้ทั้งสิ้น 155.66 ล้านบาท อีกทั้งด้านค่าใช้จ่ายทางด้านการเงินในปี 2563 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 16.52 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 21.65 ล้านบาท
พร้อมกันนี้คณะกรรมการบริษัทมีมติจ่ายปันผลจากงวดดำเนินงานวันที่ 1 ก.ค.63 – 31 ธ.ค.63 เป็นเงินสด 0.30 บาทต่อหุ้น กำหนดวันไม่ได้รับสิทธิปันผล วันที่ 16 มี.ค.64 และกำหนดจ่ายปันผล 14 พ.ค. 64
บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีกำไรสุทธิ 716.35 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 42.97% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.26 พันล้านบาท
โดยกำไรลดลงเนื่องจากบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 42.97 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เกิดจากรายได้จากขาย อสังหาริมทรัพย์ขายปี 2563 อยู่ที่ 6,001.26 ลดลงร้อยละ 31.16 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 8,717.30 ล้านบาท อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ต่อเนื่องจากต้นปี 2563
นอกจากนี้ประกาศปันผลงวดดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 อัตราการจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.40 บาทต่อหน่วย วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 24 ก.พ. 2564 วันที่จ่ายปัน 8 เม.ย. 2564
บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีกำไรสุทธิ 7.14 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 28.73% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท
โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2563 มีกำไรลดลง เนื่องจากมีกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 405.28 ล้านบาท จากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนในสหรัฐอเมริกา ในราคา 2,373.00 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2562 บริษัทฯ มีกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 2,418.31 ล้านบาท จากการขายโรงแรม แกรนด์เซ็นเตอร์พ้อยท์ สุขุมวิท 55 ในราคา 4,155 ล้านบาท อีกทั้งมีรายได้ค่าเช่าและกิจการโรงแรมลดลงมาที่ 2,417.22 ล้านบาท จากปี 2562 อยู่ที่ 4,906.52
พร้อมกันนี้ บริษัทประกาศจ่ายเงินปันผลงวดดำเนินงานวันที่ 1 ก.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และกำไรสะสม โดยอัตราการจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.30 บาทต่อหุ้น วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 6 พ.ค. 2564 วันที่จ่ายปันผล 21 พ.ค. 2564
บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 206.58 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 704.66 ล้านบาท
บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีกำไรสุทธิ 2.12 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 25.59% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2.85 พันล้านบาท
โดยบริษัทมีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ลดลง 788 ล้านบาท หรือลดลง 8% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน จากรายได้ขายบ้านพร้อมที่ดินลดลง ขณะที่รายได้จากธุรกิจโรงแรมปี 2563 ลดลง 722 ล้านบาท หรือลดลง 69% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน จากวิกฤตการณ์โรคระบาดของโควิด-19
บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีกำไรสุทธิ 2.77 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 48.28% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5.36 พันล้านบาท
โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2563 มีกำไรลดลง เนื่องจากบริษัทมียอดขายของปี 2563 เท่ากับ 21,968 ล้านบาท ลดลง 13,633 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 38.3 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยยอดขายลดลงจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ทาวน์เฮ้าส์บ้านเดี่ยว และอาคารชุด 4,066 ล้านบาท 1,107 ล้านบาท และ 8,460 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องมาจากจำนวนโครงการที่เปิดลดลง จากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และทั้งโลกชะลอตัว ซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นหลัก และมาตรการ LTV ใหม่ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 2562
พร้อมกันนี้ บริษัทประกาศจ่ายเงินปันผลงวดดำเนินงานวันที่ 1 ก.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 โดยอัตราการจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.65 บาทต่อหุ้น วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 11 มี.ค. 2564 วันที่จ่ายปันผล 21 พ.ค. 2564
ด้าน “ทริสเรทติ้ง” คาดว่าอุปสงค์ที่อยู่อาศัยในปี 2564 จะเติบโตเพียงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าโดยมีปัจจัยบวกคืออัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและการมีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นประกอบกับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่ออุตสาหกรรม
โดยอุปสงค์ที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมนั้นได้รับผลกระทบอย่างมากจากการบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับอัตราส่วนเงินกู้ต่อมูลค่าที่อยู่อาศัย (Loan to Value LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2562 และการระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2563 โดยมูลค่ายอดขายคอนโดมิเนียมสุทธิ (สุทธิจากยอดยกเลิกและยอดปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคาร) ของผู้ประกอบการ 23 รายที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2561 ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาทมาอยู่ที่ประมาณ 1.22 แสนล้านบาทในปี 2562 และ 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 2563 สำหรับในปี 2564 นั้น การระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด 19 คาดว่าจะส่งผลให้การฟื้นตัวของคอนโดมิเนียมล่าช้าออกไปอีกเนื่องจากนักลงทุนและผู้ซื้อชาวต่างชาติน่าจะยังไม่กลับมาก่อนปลายปีนี้
ในทางตรงกันข้าม อุปสงค์ที่อยู่อาศัยแนวราบมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ค่อนข้างชัดเจน โดยข้อมูลที่รวบรวมจากผู้ประกอบการทั้ง 23 รายพบว่ายอดขายที่อยู่อาศัยแนวราบปรับเพิ่มขึ้น 15%-20% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด การเติบโตของยอดขายที่อยู่อาศัยแนวราบได้ช่วยชดเชยการหดตัวของยอดขายคอนโดมิเนียมและส่งผลให้ยอดขายที่อยู่อาศัยสุทธิทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านแนวราบของผู้ประกอบการทั้ง 23 รายลดลงเพียง 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม จากการมียอดขายที่ค่อนข้างสูงในปี 2560-2561 ส่งผลให้ยอดโอนที่อยู่อาศัยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักจากปีก่อนหน้า โดยยอดโอนที่อยู่อาศัยในปี 2563 อยู่ที่ 3.17 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายมีการใช้
สำหรับกลยุทธ์ด้านราคาเพื่อกระตุ้นยอดขายและยอดโอนในโครงการคอนโดมิเนียมที่สร้างแล้วเสร็จ ซึ่งทำให้คาดว่าอัตรากำไรโดยรวมในปี 2563 ของผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจะลดลง 3%-4% อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ของผู้ประกอบการไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักแม้ว่าจะมีการเลื่อนการเปิดโครงการใหม่ออกไปหลายโครงการก็ตาม ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของผู้ประกอบการเฉลี่ยน่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7-8 เท่าในปี 2563 จากที่ระดับ 4-5 เท่าในอดีต
ทั้งนี้ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอุปสงค์ที่อยู่อาศัยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวและความรุนแรงของการแข่งขันด้านราคาน่าจะเบาบางลง ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการดังกล่าวน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นและกลับไปอยู่เทียบเท่ากับระดับในปี 2562 ได้ภายในปลายปี 2565
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีสินค้าที่หลากหลายและมีส่วนแบ่งทั้งในตลาดแนวราบและคอนโดมิเนียมน่าจะมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นกว่าผู้ประกอบการทั่วไป
ล่าสุด ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 ทริสเรทติ้งมีการจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยทั้งหมด 23 ราย โดยมีบริษัทที่มีอันดับเครดิตที่ระดับ A จำนวน 6 ราย ที่ระดับ BBB จำนวน 11 ราย และที่ระดับ BB จำนวน 6 ราย ในปีที่ผ่านมาทริสเรทติ้งมีการปรับลดอันดับเครดิตผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จำนวน 5 ราย ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น Negative หรือ ลบ จำนวน 3 ราย และปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น Stable หรือ คงที่ จาก Negative หรือ ลบ จำนวน 1 ราย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ผู้ประกอบการทั้งหมดมีตราสารหนี้คงเหลือประมาณ 2.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 63% ของหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยทั้งหมด โดยตราสารหนี้มูลค่าประมาณ 9.55 หมื่นล้านบาทจะครบกำหนดชำระภายในปีนี้