INSET ปักธงปี 64 กำไรโต 15-20% สร้างสถิติใหม่ต่อเนื่อง ลุยประมูลงานหนุน Backlog เพิ่ม
INSET ปักธงปี 64 กำไรโต 15-20% สร้างสถิติใหม่ต่อเนื่อง รับเทรนด์ New Normal-WFH ลุยประมูลงานหนุน Backlog เพิ่ม
นางสาววรางคณา เตไชยา รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบัญชีและการเงิน บริษัท อินฟราเซท จำกัด (มหาชน) หรือ INSET นำเสนอข้อมูลผลประกอบการงวดปี 2563 และแนวโน้มผลประกอบการปี 2564 ในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ผลการดำเนินงานในปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่1,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 284 ล้านบาท หรือ 23% เทียบปี 2562 มีรายได้รวม 1,220 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 135.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% เมื่อเทียบจากปี 2562 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 120.1 ล้านบาท ซึ่งรายได้และกำไรในช่วงปี 2563 ทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
โดยในปี 2563 สัดส่วนรายได้แบ่งเป็น ธุรกิจศูนย์ข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 47% ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายโทรคมนาคมและคมนาคมขนส่ง 41% จากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 9% จากการได้รับงาน CAT Filter ติดตั้งวงจรกรองสัญญาณย่านความถี่ 850 MHz มูลค่าโครงการ 1,088 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีหลังปี 2563 และงานซ่อมบำรุงและบริการ 12% จากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 4% จากการรับรู้รายได้งานในมือที่ทำต่อเนื่องมาจากปี 2562 และส่งมอบตามกำหนดในปี 2563
ขณะที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯในวันที่ 17 ก.พ.64 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 2563 เป็นหุ้นในอัตรา 10 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล จำนวนไม่เกิน 56 ล้านหุ้น และปันผลเป็นเงินสดในอัตรา 0.081 บาท/หุ้น กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 28 เม.ย.2564 และจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นวันที่ 20 พ.ค.2564
“สิ้นปี 2563 บริษัทมีมูลค่างานในมือ (backlog) อยู่ที่ 2,460 ล้านบาท โดยคาดว่าในปี 2564 จะทยอยรับรู้รายได้จากงานซ่อมบำรุงรักษา 15% งาน Data Center ประมาณ 7% และงานโทรคมนาคม 78%” นางสาววรางคณา กล่าว
ขณะเดียวกัน นายศักดิ์บวร พุกกะณะสุต กรรมการผู้จัดการ INSET เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2564 เติบโต 15-20% สร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปีนี้ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจของบริษัทมีโอกาสเติบโตได้จากงานในโครงการ Trend Technology และโครงการลงทุนของภาครัฐในอนาคต ทั้งงานระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (5G), Smart City, รถไฟฟ้า และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลทำให้ประชาชนที่ทำงานเวิร์คฟอร์มโฮม (Work from home : WFM) ต้องการใช้ Cloud เพิ่มสูงขึ้น และผู้ประกอบการหรือองค์การต่างๆ มีความต้องการที่จะลงทุนขยาย Data Center มากขึ้นด้วย ทำให้บริษัทมีโอกาสได้รับงานจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
“เรายังคงเดินหน้าเข้าร่วมประมูลงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มงานในมือรอรับรู้รายได้ และมั่นใจว่าจากกระแส New Normal หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากกระแส WFH และ 5G ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทุนด้านไอที เพื่อรองรับการใช้งานมากขึ้น” นายศักดิ์บวร กล่าว