กระทรวงศึกษาฯ-ซีพีเอฟ เซ็น MOU ลุยโครงการ CPF Jump Start เติมทักษะอาชีวศึกษา
กระทรวงศึกษาฯ-ซีพีเอฟ เซ็น MOU ลุยโครงการ CPF Jump Start เติมทักษะอาชีวศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF สนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา คิกออฟ โครงการ “CPF Jump Start ก้าวแรกอย่างมืออาชีพ” สร้างประสบการณ์ ทักษะอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา ในสังกัด สอศ. สู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เติบโตอย่างยั่งยืน
โดยโครงการ “CPF Jump Start ก้าวแรกอย่างมืออาชีพ” เป็นโครงการนำร่องระหว่าง สอศ.และซีพีเอฟ ร่วมกันจัดหลักสูตรการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษาสังกัดสอศ.ทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) และปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ผลิตบุคลากรคุณภาพตอบสนองความต้องการกำลังคนของตลาดแรงงาน ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศ ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเติบโตแข็งแกร่ง
ทั้งนี้พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามฯ โดยมี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เป็นผู้ลงนาม ณ สำนักงาน สอศ.
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและซีพีเอฟในครั้งนี้ เป็นครั้งประวัติศาสตร์และเป็นครั้งสำคัญที่บริษัทขนาดใหญ่ชั้นนำเข้ามาร่วมมือ
โดยนำความรู้ ความสามารถ และเทคโนโลยีมาสนับสนุน ร่วมมือกันจัดการเรียนการสอน และได้ลงมือทำจริงภายใต้ระบบทวิภาคี
“ขอชื่นชมซีพีเอฟที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ประเทศต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การที่ทางซีพีเอฟมาช่วยครั้งนี้ เป็นคุณูปาการและเป็นต้นแบบที่จะเป็นตัวอย่างของบริษัท ห้างร้าน ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมอื่นๆที่จะได้เข้ามาร่วมมือกันต่อไปในอนาคต การที่สองหน่วยงานจะได้ผลิตและพัฒนากำลังคนร่วมกัน
โดยต่างนำจุดเด่นมาเสริมกัน จะสามารถผลิตทรัพยากรที่มีคุณค่าได้อย่างรวดเร็ว ช่วยยกระดับการศึกษาของไทยแบบก้าวกระโดด ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
ส่วน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ เป็นบริษัทผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรที่มีห่วงโซ่การผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ คือตั้งแต่ Feed-Farm-Foodทั้งยังมีองค์ความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการธุรกิจ ภายใต้ปรัชญา 3 ประโยชน์ คือ คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ สังคมหรือประชาชน และบริษัท โดยมุ่งมั่นมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาของไทย
สำหรับโครงการ “CPF Jump Start ก้าวแรกอย่างมืออาชีพ” เป็นโครงการนำร่องระหว่าง สอศ.และซีพีเอฟที่ร่วมกันจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพของนักเรียนอาชีวศึกษา ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ของซีพีเอฟในหลากหลายรูปแบบ เช่น ระบบทวิภาคี โดยนักเรียน นักศึกษา สังกัด สอศ. ระดับชั้น ปวช.ปวส. ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท ซึ่งมีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะได้เข้าฝึกการทำงานในส่วนงานต่างๆ และนำผลการทำงานมาคิดเป็นผลการเรียนภาคปฏิบัติหรือชั่วโมงฝึกงานได้ เป็นการฝึกประสบการณ์อาชีพอย่างเป็นระบบ ซึ่งนอกจากจะสร้างทักษะความชำนาญในงานแล้วยังเป็นการเพิ่มทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ยังก่อเกิดประโยชน์โดยตรงต่อตัวนักเรียนนักศึกษา โดยบริษัทมีแผนที่จะขยายผลโครงการนี้ไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศด้วย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ CPF Top Dish ส่งเสริมให้นักศึกษาผู้มีความต้องการอยากเป็นเจ้าของร้านอาหารในยุค New Normal ได้สร้างกิจการของตัวเองในรูปแบบ Cloud Kitchen และโครงการฟาร์มในโรงเรียน โรงเรียนในฟาร์ม เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่อย่างเป็นระบบ ส่งผ่านองค์ความรู้การนำเทคโนโลยี smart farming มาใช้ และร่วมกันสร้างเกษตรกรต้นแบบในอนาคตต่อไป
“ขอขอบคุณทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่เปิดโอกาสให้ซีพีเอฟร่วมพัฒนาการศึกษาของเยาวชนไทย และเชื่อมั่นว่า โครงการ “CPF Jump Start ก้าวแรกอย่างมืออาชีพ” จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา ของนักเรียน นักศึกษาในสายวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ” ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าว
ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ.ขอขอบคุณซีพีเอฟที่เห็นความสำคัญของการจัดการอาชีวศึกษาและร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการประกอบอาชีพ และเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพในหน่วยงานต่างๆของบริษัท
รวมทั้งความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอน การรับนักเรียน นักศึกษาระบบทวิภาคี และการฝึกงาน ระดับปวช. ปวส. และปริญญาตรี สายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ สาขาอาหารและโภชนาการ สาขาธุรกิจค้าปลีก สาขาเกษตรกรรม และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ฝีกประสบการณ์อาชีพกับผู้เชี่ยวชาญ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในสถานประกอบการชั้นนำของประเทศ และมีรายได้เสริมในช่วงปิดภาคเรียน มีความพร้อมในการประกอบอาชีพในอนาคต
“เชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างสอศ.และซีพีเอฟในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาสายวิชาชีพให้มีศักยภาพ นำไปสู่การผลิตและการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ”เลขาธิการ สอศ. กล่าว