“ซีพี เวียดนาม” ลุยยกระดับคู่ค้า เสริมแกร่งสู่ระดับเวทีโลก
“ซีพี เวียดนาม” ลุยยกระดับคู่ค้า เสริมแกร่งความสามารถสู่ระดับเวทีโลก
นายชำนาญ หวังอัครางกูร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก และผลิตภัณฑ์อาหาร ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดหาอย่างยั่งยืน ซีพี เวียดนาม กล่าวว่า การอบรม Capacity building for partnership เป็นไปตามนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ที่รวมหลักการ 4P
ได้แก่ การส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ (Product) การปฏิบัติต่อบุคลากรอย่างเป็นธรรมตามสิทธิมนุษยชน (People) การใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Process) และมีระบบการบริหารงานอย่างโปร่งใส (Performance)
ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทจึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับคู้ค้า โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานสากล
“ซีพี เวียดนาม เชื่อว่าความสำเร็จที่มั่นคงและยั่งยืน จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ การประชุมครั้งนี้ จึงถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญ ของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว ระหว่างบริษัทและคู่ค้าธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจของคู่ค้ากับองค์กรชั้นนำอื่นๆ ทั่วโลก ที่ปัจจุบันต่างให้ความสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หลักธรรมภิบาล และการสร้างห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ยั่งยืน” นายชำนาญ กล่าว
นายวรวิทย์ อรุณรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของซีพี เวียดนาม เสริมว่า บริษัทได้จัดการประชุม Capacity building for partnership ขึ้นครั้งแรกในปี 2562 เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่คู่ค้าสำคัญทางตอนใต้ของประเทศ จำนวน 78 บริษัท ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์และเครื่องปรุง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากคู่ค้า สำหรับการอบรมในครั้งนี้เป็นการต่อยอดไปยังคู่ค้าใหม่อีก 70 บริษัท ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ และมีการขยายครอบคลุมคู่ค้า ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ เครื่องปรุง เชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ อะไหล่เครื่องจักร และบริการ
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 การอบรมในครั้งนี้ จึงจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ โดยมีวิทยากรจากบริษัท SGS องค์กรชั้นนำของโลกทางด้านการตรวจสอบ การทดสอบและการรับรองระบบ มาให้ความรู้ด้านกฏระเบียบและการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและมาตรฐานสากล และวิทยากรจากหน่วยงาน SHE&EN ของซีพี เวียดนาม ให้ความรู้ด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย สุขอนามัยในการทำงาน เพื่อช่วยยกระดับความปลอดภัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทอีกด้วย
นอกจากนี้ ซีพี เวียดนามยังส่งเสริมให้คู่ค้ามีการตรวจประเมินตนเองด้านความยั่งยืน (Online Self- Assessment) ในการลดความเสี่ยงด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและกำกับกิจการที่ดีในห่วงโซ่อุปทาน และการตรวจประเมินคู่ค้าธุรกิจหลัก เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้ามีการดำเนินงานถูกต้องตามกฎหมายและได้มาตรฐานการดำเนินงานของบริษัท
“การอบรมในครั้งนี้ทำให้ซีพี เวียดนาม สามารถยกระดับคู่ค้าได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศเวียดนาม ซึ่งหลังจากที่คู่ค้ามีความรู้และความเข้าใจในประเด็นต่างๆ จากการอบรมแล้ว ทางบริษัทจะเข้าไปให้คำปรึกษา และช่วยเหลือให้คู่ค้าของเรา เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน ยกระดับพวกเขาสู่มาตรฐานสากล” นายวรวิทย์ กล่าว
ซีพี เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจ ควบคู่ไปกับยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งเกษตรกร และแรงงานในห่วงโซ่คุณค่า จนเป็นที่ยอมรับของทั้งภาครัฐ และประชาชน ทำให้บริษัท ได้รับรางวัลธุรกิจยั่งยืน CSI 100 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน จากสภาพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนแห่งชาติเวียดนาม (VBCSD) รวมถึงถูกจัดอันดับ TOP 10 ด้าน manufacturing sector ในปี 2563