อวดโฉม 35 หุ้น SET100 กำไรปี 63 โตแกร่งสวนโควิด-ลุ้นปี 64 เด่นต่อเนื่อง!

อวดโฉม 35 หุ้น SET100 กำไรปี 63 โตแกร่งสวนโควิด-ลุ้นปี 64 เด่นต่อเนื่อง!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท) ที่ประกาศผลการดำเนินงานปี 2563 มานำเสนอ โดยครั้งนี้คัดเลือกเฉพาะกลุ่มหุ้น SET100 ที่มีกำไรสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งสวนวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 โดยหุ้นที่มีกำไรเพิ่มขึ้นมีทั้งหมด 35 ตัว และจะนำเสนอข้อมูลประกอบ 5 อันดับแรกของตารางดังนี้

โดยอันดับ 1 คือ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  หรือ  DELTA รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีกำไรสุทธิ 7,101.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น139.92% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2,959.96 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายของกลุ่มธุรกิจเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ (Power Electronics) โดยเฉพาะอย่างยิ่งยอดขายในกลุ่มเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ระบบศูนย์ข้อมูล (Data Center) และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Solutions)

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่า  การเล่นรอบระยะนี้คาดดัชนีซื้อ-ขายในช่วง 1500-1570 จุด สำหรับแนวต้านคือ 1560-1570 จุด แต่หากหลุด 1540 จุดเป็นสัญญาณไม่ดีอีกครั้ง ให้ Stop Loss บางส่วน แนวรับคือ 1530-1490 จุด ส่วนปัจจัยที่น่าติดตามคือ การที่ตลาดฯไม่ขยายเวลา Cash Balance DELTA ทำให้เก็งกำไรมากในระยะสั้น แต่ระยะกลางต้องระวังเกณฑ์ใหม่ Free Flotat (FF) ทำให้หลุด SET50 ได้ และหุ้นอื่นๆมี FF ต่ำ

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า FTSE ประกาศทบทวนดัชนีมีผลราคาปิด 19 มี.ค.  ปรับขึ้นจาก Mid เป็น Large Cap.  DELTA / ปรับลงจาก Large เป็น Mid Cap. BEM, BGRIM, BTS, EGCO,TRUE / เข้า Small Cap. DOHOME / ออก Small Cap. BEAUTY

อันดับ 2 บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีกำไรสุทธิ 1,507.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.92% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 815.31 ล้านบาท ซึ่งเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่รายได้จากการขายและบริการ 4,988 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% จากปี 2562 อยู่ที่ 4,951 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการที่กลุ่มบริษัทสามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องยาวนานเต็มประสิทธิภาพ สามารถบริหารและควบคุมต้นทุนต่าง ๆ ได้ดี ทำให้โรงไฟฟ้าทุกประเภทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้กลุ่มบริษัทยังมีการบริหารต้นทุนทางการเงินได้ดีอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ทาง ACE ยังมีอีกหลายปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยสร้างโอกาสการเติบโต ทั้งในส่วนรายได้ กำลังการผลิต และผลกำไร ประกอบด้วย การรับรู้รายได้เต็มงวดของโครงการต่าง ๆ ที่ COD ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว การรับรู้รายได้บางส่วนของโครงการใหม่ ๆ ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและ COD ได้ทันภายในปี 2564

นอกจากนี้ บริษัทยังทยอยลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ที่อยู่ในมือ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid อีก 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 73 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP อีก 11 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 108.9 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนและมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ รวมถึงโอกาสการได้มาซึ่งโครงการใหม่ ๆ จากการที่ภาครัฐมีแผนที่จะเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ซึ่ง ACE ก็มีความพร้อมเต็มที่ในการเข้าร่วมประมูลในส่วนนี้

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีโอกาสจะได้เห็นดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2564 หลังมีผู้เสนอเข้ามาให้พิจารณาจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบสถานะ (Due Diligence) และการเจรจา โดย ACE จะพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนและความเสี่ยงเป็นหลักสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อซื้อเข้ามาแล้วจะช่วยให้ผลประกอบการของ ACE เติบโตได้ดียิ่งขึ้น และเป็นไปอย่างยั่งยืนในระยะยาว

โดยปัจจุบันกลุ่ม ACE มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วกำลังการผลิตติดตั้งรวม 245.91 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2563) และมีกำลังการผลิตติดตั้งที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 203.66 เมกะวัตต์ รวมเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง 449.57 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งให้ได้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567

อันดับ 3 บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีกำไรสุทธิ 7,508.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.89 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 4,060.80 ล้านบาท

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทคาดอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 29% เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำในพื้นที่มาบตาพุด คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4% จากปีก่อน ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบหลักของโรงไฟฟ้า แม้ปัจจุบันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยทั้งปี 2564 ยังต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งหากอัตราค่าไฟฟ้า (FT) ไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้น จะช่วยทำให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทคาดว่าการรับรู้มูลค่า Synergy จากการควบรวม GLOW ในปี 2564 จะอยู่ที่ 900 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 701 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าราคาถ่านหินในระยะสั้นมีแนวโน้มปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ บริษัทวางงบลงทุนในปี 2564 ไว้ที่ประมาณ 17,000-18,000 ล้านบาท โดยจำนวนประมาณ 10,000 ล้านบาท ใช้สำหรับลงทุนในโครงการใหม่ ๆ เช่น โรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Unit) 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง Semi-Solid ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงาน ติดตั้งอุปกรณ์ และเครื่องจักรหลักแล้วเสร็จ เมื่อไตรมาส 4/2563 และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จพร้อมเริ่มดำเนินการผลิต และส่งมอบผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ในไตรมาส 2/2564

อันดับ 4 บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีกำไรสุทธิ 6,246.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 3,815.88 ล้านบาท โดยยอดขายอยู่ที่ 132,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.90% จากปี 2562 ที่มียอดขาย 126,275 ล้านบาท เป็นผลมาจากธุรกิจหลักแข็งแกร่ง ทั้งจากธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋อง ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า

อีกทั้งในปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนได้ลงทุนในธุรกิจที่มีอัตราการทำกำไรสูง เช่น ธุรกิจอินกรีเดียนท์ ธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร รวมถึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ยูนีกโบน (UniQTMBONE) ผงแคลเซียมบดละเอียดจากกระดูกปลาทูน่า ไม่มีกลิ่นรส จึงไม่เปลี่ยนแปลงรสสัมผัสในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ทำให้สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของอาหาร แคปซูล อัดเม็ด หรือเป็นสารอาหารเพิ่มลงในอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยไทยยูเนี่ยนได้เปิดไลน์เครื่องจักรการผลิตใหม่ในโรงงานสงขลา แคนนิ่ง ที่จังหวัดสงขลา

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติแผนการนำหุ้นของบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยจะดำเนินการให้มีการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน รวมทั้งหุ้นสามัญใน TFM ที่เสนอขายโดยบริษัทให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)

อันดับ 5 บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีกำไรสุทธิ 3,412.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.91 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2,147.33 ล้านบาท เนื่องจากรายได้รวมปี 2563 อยู่ที่จำนวน 10,974.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.52 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 7,195.26 ล้านบาท

บล.เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน)  แนะนำ “ซื้อ” GUNKUL ราคาเป้าหมาย 3.25 บาท/หุ้น ทั้งนี้บริษัทประกาศกำไรปกติ ไตรมาส 4/2563 ที่ 567 ลบ. (+7% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน, +188% จากไตรมาสก่อน) ดีดว่าตลาดคาดราว +30% โดยเติบโตจากการทยอย COD โรงไฟฟ้าใหม่ 160MW ระหว่างปี และลมที่ฟื้นตัวในปกติ ไตรมาส 4/2563 พร้อมกับรับรู้รายได้ EPC ที่เพิ่มขึ้น +130% จากไตรมาสก่อน หลังเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการกรุงเทพธนาคม และทำให้กำไรปกติปี 2563 อยู่ที่ราว 1.4 พันลบ. (-33% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) มากกว่าที่เคยประเมินเล็กน้อย

ทั้งนี้บริษัทประกาศจ่ายปันผลงวดปี 2563 ที่ 0.182 บาทต่อหุ้น (Div. yield 7%) XD 6/5/21 ขณะที่ยังคงประมาณการกำไรปกติปี 2564 ที่ 2.3 พันลบ. (+60% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) หนุนโดยการรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าเดิมเข้ามาเต็มปีและ EPC backlog ที่จะรับรู้เข้ามามากขึ้น

ด้านราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น +7% ใกล้เคียง SET ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจากผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/2563 โดยยังคงคำแนะนำ ซื้อ และคาดราคาหุ้นมีโอกาส outperform โดยมี key catalysts คือ 1) โอกาสในการปิดดีลโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการเจรจา 200MW คาดสร้าง upside ให้กับราคาหุ้นอีกราว 0.60 บาทต่อหุ้น และ 2) ปัจจุบันเทรดราคาถูก 2021E PER = 10 เท่า เทียบค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 25 เท่า) และ PEG เพียง 0.3X เท่านั้น (คาดกำไร 2563-2565 โต +32% CAGR)

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button