BGRIM จ่อปิดดีล SPP ในปท. 1,000MW – รฟฟ.เวียดนาม 2-3 โครงการปีนี้
BGRIM จ่อปิดดีล SPP ในปท. 1,000MW – รฟฟ.เวียดนาม 2-3 โครงการปีนี้
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเข้าซื้อโรงไฟฟ้า SPP ในประเทศเข้ามาเพิ่มเติม ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 300-360 เมกะวัตต์ โดยวางแผนจะเข้าซื้อรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนออกมาตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ต่อเนื่องไปถึงครึ่งหลังของปี 64
ส่วนความคืบหน้าการเข้าซื้อโครงการ LNG Gas Power ในเวียดนาม 2-3 โครงการ กำลังการผลิตแห่งละ 2,000-3,000 เมกาวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาในขั้นตอนสุดท้าย คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังเช่นกัน
ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้เป็น 7,200 เมกะวัตต์ภายในปี 68 จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 3,700 เมะกวัตต์ ซึ่งจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว 3,058 เมกะวัตต์
บริษัทตั้งงบลงทุนในปี 64 ไว้ที่ 4.5-5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 50% จะใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศ 7 โครงการ ได้แก่ โครงการในแหลมฉบัง โครงการนิคมอมตะนคร 2 โครงการ โครงการมาบตาพุด 2 โครงการ และโครงการอ่างทอง 2 โครงการ รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 980 เมกะวัตต์ ส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะใช้รองรับการซื้อกิจการเข้ามาเพิ่มเติม
สำหรับแหล่งเงินทุนที่จะมารองรับการลงทุนในปีนี้ส่วนหนึ่งจะมาจากการออกหุ้นกู้ 5-7 พันล้านบาท ขณะที่บริษัทยังมีวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน และมีกระแสเงินสดอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท
นายฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวอีกว่า บริษัทวางเป้าหมายผลการดำเนินงานในปี 64 ที่จะเพิ่มอัตรากำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม (EBITDA) เป็น 30% จากปีก่อนอยู่ที่ 29.5% โดยจะมีปัจจัยหนุนมาจากการ COD โรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติม เช่น โครงการกังหันลม 2 โครงการ กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์ โครงการโซลาร์ รูฟท็อป กำลังการผลิต 15-20 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์ ฟาร์ม อู่ตะเภา กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์
นอกจากนั้น ในปีนี้โครงการโซลาร์ฟาร์มในกัมพูชาจะรับรู้รายได้เข้ามาเต็มที่ตลอดทั้งปี และอีกปัจจัยที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลงานของบริษัท คือ ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลง ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมคาดว่าจะเพิ่มขึ้น และความต้องการใช้ไฟที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20-30% ในปีนี้
ส่วนแผนลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมา บริษัทได้ชะลอแผนการลงทุนไปก่อนหลังเกิดการรัฐประหาร แต่ถือว่ายังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นโครงการขนาดเล็ก ขณะที่การศึกษาร่วมกับพันธมิตรในมาเลเซียเพื่อนำสาหร่ายมาผลิตเป็นน้ำมันเพื่อใช้ทดแทนถ่านหินนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนในครึ่งปีหลังของปีนี้