“ซีพี” ซื้อ “เทสโก้” เรียกความเชื่อมั่น “เศรษฐกิจ-สร้างหลักประกันพนักงาน”

“ซีพี” ซื้อ “เทสโก้” เรียกความเชื่อมั่น “เศรษฐกิจ-สร้างหลักประกันพนักงาน”


ในยุควิกฤตเศรษฐกิจ โควิด-19 เศรษฐกิจก็แย่อยู่แล้ว การรักษาการจ้างงาน การรักษาอุตสาหกรรม เพราะทุกกลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีก ที่กลุ่มทุนต่างประเทศถอนทัพ ไม่เว้นแม้แต่บริษัทค้าปลีกใหญ่ที่สุดในอังกฤษ อย่างเทสโก้ ที่ถอนตัวจากเกาหลีใต้หลายปีก่อน ทำให้บริษัทเทสโก้เริ่มทบทวนธุรกิจของเทสโก้ในภูมิภาคเอเชียเมื่อปีก่อน จนกระทั่งขายกิจการเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยและมาเลเซีย ให้กลุ่มซีพี ด้วยมูลค่ากว่า 3.3 แสนล้านบาท ทำให้ต้องเข้าใจก่อนว่าเทสโก้มีความจำเป็นต้องขาย และผู้มีกำลังซื้อ ต้องเป็นผู้ประกอบการที่จ่าย 3 แสนล้านบาทได้ หากไม่พิจารณาผลกระทบ แล้วเกิดการเลิกจ้าง เกิดการปิดกิจการบางส่วน จะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้ต้องนำมาพิจารณา เพราะผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง3 รายล้วนมีขนาดใหญ่

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีการอนุมัติให้ดำเนินการซื้อขาย แต่ไม่ได้มองข้ามทุกข้อกังวล โดยได้อนุมัติแบบมีเงื่อนไข และเปิดโอกาส 90 วัน หากมีผู้ร้องเรียน แต่ก็ไม่มีผู้มาร้องเรียน แม้กระทั่งกลุ่มซีพีก็รอเพื่อให้แน่ใจว่าขั้นตอนผ่านสมบูรณ์ โดยไม่เร่งรีบจ่ายเงินให้เทสโก้ จนกว่าจะแน่ใจว่า คณะกรรมการ กขค. อนุมัติโดยสมบูรณ์ หลังจากนั้นจึงชำระเงินให้กับเทสโก้กว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ชำระไปแล้ว

โดยระดมทุนจากสถาบันทางการเงินทั่วโลก ดังนั้นการสั่นคลอนการเชื่อมั่นของดีลนี้ อาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรที่ควรจะเป็นที่น่าเชื่อถือต่อนักลงทุน เพราะหากพิจารณาแล้วอย่างรอบคอบ ถูกขั้นตอน และกลับมีการสั่นคลอนการพิจารณา ส่งผลเสียหายหลายแสนล้านบาท และส่งผลกระทบรุนแรง

ดีลนี้เป็นตัวอย่างที่ดีด้านความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจไทย และที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก หากมีปัญหากับการพิจารณาของ กขค.อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของไทยในอนาคต องค์กรที่ทำหน้าที่อนุมัติ เชื่อถือได้หรือไม่ เมื่อดีลธุรกิจกว่า 3.3 แสนล้านบาท ถูกนำมาใช้เป็นเกมต่อรอง โดยกลุ่มที่อ้างความเสียหายผู้บริโภค ขู่ฟ้อง กขค. ทั้งที่ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ กขค. ออกมาตั้งแต่ วันที่ 7 พ.ย. 63  เวลาผ่านไปเกินกว่า 90 วัน แต่ก็ไม่มีเสียงคัดค้าน

จนกลุ่มซีพีชำระเงินให้กับกลุ่มเทสโก้จากอังกฤษ 3.3 แสนล้านบาท จนกระทั่ง 4 เดือนผ่านไป กลับมีเสียงดังออกมาจากบางกลุ่มว่าจะมีการยื่นฟ้องคณะกรรมการ กขค. เรียกได้ว่า วิชาทำลายความน่าเชื่อถือองค์กรภาครัฐ พร้อมสกัดกลุ่มซีพีไปในตัว ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แต่ความเสียหายไม่ได้เกิดแค่ซีพี กับสถาบันทางการเงินเท่านั้น แต่คู่ค้า ร้านค้าในโลตัส ล้วนต้องตกเป็นตัวประกันหากศาลรับคำร้อง ความเสียหายจะขยายเป็นวงกว้าง ต่อไปคงไม่มีใครกล้าเชื่อถือองค์กรภาครัฐ ที่พรัอมจะกลับกลอกไปได้ทุกเมื่อ แม้จะเดินตามกติกาทุกขั้นตอนก็ตาม

ทุกคนมีสิทธิ แต่ทุกคนต้องเคารพสิทธิ

มติ กขค. ทำให้เกิดสิทธิทางกฎหมาย ถ้ามติ กขค. ไม่มั่นคง เกิดความเสียหาย

เมื่อ กขค. มีมติ กลุ่มซีพี ก็ชำระเงินให้เทสโก้ไปแล้ว ถ้ามติ กขค. ขาดความมั่นคง จะกระทบต่อความเชื่อถืออย่างรุนแรง

การเรียกร้องสิทธิของตน สิ่งแรกที่ต้องคิดคือ เราเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เสียหายแล้วหรือยัง และข้อเรียกร้องของตน กระทบสิทธิผู้อื่นหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองสิทธิ และความเสียหายของผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิอย่างถูกต้องจากองค์กรภาครัฐด้วย

เอกชนที่กล้ามาลงทุนในประเทศไทย ย่อมเชื่อว่า คณะกรรมการ กขค. เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยแท้ หากใครไม่พอใจผลการตัดสิน และให้ศาลปกครองมาพิจารณาเรื่องการตลาด เรื่องค้าปลีก หากเป็นเช่นนี้ ต่อไปคงไม่ต้องมีคณะกรรมการ กขค. แต่ให้ศาลปกครองพิจารณาเรื่องการอนุมัติซื้อขาย คงจะวุ่นวายไม่น้อย ดังนั้น ความน่าเชื่อถือ ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จึงมีความสำคัญมาก

-ตลาดที่ กขค.พิจารณา คือ ตลาดอะไรกันแน่ สิ่งที่ กขค.เรียกว่า “ตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก” ประกอบด้วยผู้เล่นรายใดบ้าง?

แน่นอนว่ายุคนี้ตลาดเปิดกว้างด้วยเทคโนโลยี ลูกค้าเปรียบเทียบราคาได้ และเลือกของที่ดีที่สุดในราคาคุ้มค่าที่สุดเสมอ ทำให้การมีอำนาจเหนือตลาดในยุคนี้เป็นไปได้ยากมาก เพราะเป็นยุคไม่มีพรมแดน ตลาดค้าปลีกในยุคปัจจุบัน หากมองในมุมผู้บริโภค ผู้บริโภคมีทางเลือกอีกมากมาย เช่น กลุ่มร้านค้าปลีกขนาดเล็กอย่าง “โชวห่วย” มีจำนวนกว่า 500,000 ร้านค้าทั่วประเทศ (ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์) และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท

ย้อนกลับมาดู ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ของ Nielsen Thailand ที่รายงานว่าจำนวนร้านโชวห่วยในไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีตัวเลขผู้ประกอบการเปิดร้านใหม่มากกว่าปิดร้าน และจำนวนร้านโชวห่วยจึงเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของตลาดค้าปลีกนั้น มีจำนวนที่ขึ้นทะเบียนกว่า 4 พันแห่ง แต่ละแห่งมีร้านค้าภายในอีกหลายร้อย หรือนับพันร้านค้า โดยตลาดในกรุงเทพมหานคร เช่น ตลาดประชานิเวศน์ 1, ตลาดบางกะปิ, ตลาดหนองจอก, ตลาดราษฎร์บูรณะ, ตลาดรัชดาภิเษก, ตลาดอรุณอมรินทร์, ตลาดสิงหา, ตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก, ตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2), ตลาดเทวราช, ตลาดนัดจตุจักร, ตลาดนัดจตุจักร (มีนบุรี) และตลาดบางแคภิรมย์ โดยมีแผงค้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 21,500 แผงค้า ในจำนวนนี้ตลาดนัดจตุจักรคือตลาดที่ใหญ่สุดมีแผงค้าทั้งหมด 10,334 แผง

อีกตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ที่สำคัญ คือ ตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่มีมูลค่าสูงถึง 220,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 35% จากปีก่อน เหตุผลเนื่องจากความสะดวกสบายในการชอปปิ้งออนไลน์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย ที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาชอปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ในขณะที่ E-marketplace การนำสินค้าไปขายบนเว็บไซต์ ตลาดสินค้าออนไลน์ที่รวมร้านค้าหลายแห่งไว้ในที่เดียวซึ่งเราสามารถไปเปิดร้านในนั้นได้ เช่น Lazada, Shopee

ในส่วนของฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค มีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้ว หากเกิดกรณีการเอาเปรียบคู่ค้า นอกจากนี้ จำนวนส่วนแบ่งตลาดของเทสโก้โลตัสยังเท่าเดิม และยังมีคู่แข่งที่เป็นรายใหญ่ และเป็นเจ้าของกิจการอีคอมเมิร์ซด้วย เช่น เซ็นทรัลได้ร่วมทุนกว่า 17,500 ล้านบาท กับ JD ดอทคอม ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากประเทศจีน จัดตั้ง เจดี เซ็นทรัล (JD CENTRAL) สร้างมาร์เก็ตเพลส (Marketplace) แห่งใหม่ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าของกลุ่มธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ดังนั้น มิติของตลาดสมัยใหม่เปิดกว้าง และเป็นโอกาสของคู่ค้าในการขยายไปต่างประเทศอีกด้วย จะพิจารณาแบบค้าปลีกแบบดั้งเดิมไม่ได้

– ทำไมคำวินิจฉัยระบุว่า “มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคส่วนรวม”?

ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงแค่ 1 ใน 3 ของตลาดค้าปลีกทุกประเภท นั่นหมายถึงทางเลือกยังเป็นของผู้บริโภค จำนวนสัดส่วนร้านค้าเดิมของเทสโก้มีตัวเลขที่มีนัยสำคัญ แต่เป็นการค้าปลีกแบบเก่าที่ต้องปรับตัวอย่างหนัก หากดูแนวโน้มไฮเปอร์มาร์ททั่วโลก ดังนั้น สิ่งที่ใคร ๆ คิดว่าได้เปรียบเหนือตลาด แต่ในความจริงคือซื้อมาราคาสูงก่อนโควิด และต้องพลิกโมเดลให้อยู่รอด ซึ่งการมีผู้เล่นน้อยรายเกิดการขายออกให้บริษัทต่างชาติ หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 กลุ่มธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตของไทยเริ่มประสบปัญหาหนี้สินต่างประเทศอย่างรุนแรง

โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ประกอบการขนาดกลางขยายกิจการด้านค้าปลีกและการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์เกินตัว เมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ภาระหนี้จึงเพิ่มกว่าเท่าตัว ทำให้ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต เปลี่ยนมือเป็นของต่างชาติมากขึ้น หลังจากที่กฎหมาย ปว.281 อนุญาตให้นักลงทุนจากต่างชาติสามารถถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 50% ทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีสิทธิในการบริหารงาน นักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบยุโรป

– ปี พ.ศ. 2540 ห้างท้องถิ่นอย่าง Save Co., Big King, Imperial, Tan Hua Seng และห้างขนาดกลาง ๆ เลิกกิจการ

– ปี พ.ศ. 2541 Lotus ขายกิจการให้ Tesco จากอังกฤษ และเปลี่ยนชื่อเป็น Tesco Lotus

– ปี พ.ศ. 2542 Central ขายหุ้นบริษัท Cencar คืนให้กับ Carrefour

– ปี พ.ศ. 2545 Big C ร่วมทุนกับ Casino Group จากฝรั่งเศส

– ปี พ.ศ. 2546 Auchon ซึ่งมีอยู่สาขาเดียวที่เชียงใหม่ ขายกิจการให้ Big C

ดังนั้น การที่บริษัทไทยเริ่มซื้อกิจการกลับมาได้จากต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเม็ดเงินภาษีจะกลับสู่ประเทศไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังเปิดโอกาสส่งออกสินค้าชุมชนไปต่างประเทศอีกด้วย

– เหตุผลในการออกเงื่อนไขทั้ง 7 ข้อว่ามีวัตถุประสงค์อะไร จะสามารถป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดได้อย่างไร?

วันนี้ต้องยอมรับว่าบริษัทในประเทศไทยอ่อนแออยู่แล้ว ไม่ว่าขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ การที่ยังมีการลงทุนขนาดใหญ่ ไม่ถอดใจล้มเลิกดีล ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของประเทศไทย การเพิกถอนใบอนุญาต หรือการล้มดีลจากมือที่สามเป็นเรื่องง่าย แต่การจะหาผู้ซื้อรายใหม่นั้นเป็นเรื่องยาก และที่แน่ ๆ คือ ผู้ซื้อรายใหม่ต้องเป็นต่างชาติ จึงจะไม่ติดเงื่อนไขที่ผู้ร่วมประมูลในประเทศประสบอยู่ แต่คนมักไม่พูดถึงว่า เทสโก้จะเสียหายเท่าไหร่ กระทบคู่ค้า และสำนักงานเท่าใด ส่วนใหญ่เพียงกลัวว่าบริษัทไทยจะใหญ่เกินไปในขณะที่ผลิตภัณฑ์ในไฮเปอร์มาร์ท ล้วนเป็นของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่นักวิชาการมักไม่กล้าแตะต้อง

– เหตุใดจึงเลือกมาตรการเยียวยาที่เป็นเงื่อนไขควบคุมพฤติกรรม แต่ไม่ใช่เงื่อนไขโครงสร้างตลาด เช่น ลดขนาดการควบรวม ห้ามขยายสาขา ลดจำนวนสาขา?

หากมีการห้ามขยายสาขา ไม่ใช่การส่งเสริมธุรกิจ แต่เป็นการจำกัดการอยู่รอดของธุรกิจ กฎหมายของไทยต้องไม่เป็นอุปสรรค คนออกฎหมายหากมองจากนักวิชาการเพียงอย่างเดียว หากปฏิบัติไม่ได้จริง อาจทำให้กลไกเศรษฐกิจเสียหาย กฎหมายในประเทศไทย ทำไมถึงมีการลงทุนจากต่างชาติน้อยกว่าประเทศสิงคโปร์ นั่นเป็นเพราะประเทศไทยมีแนวคิดกำกับ ควบคุม มองในด้านลบ แล้วออกกฎระเบียบ ขั้นตอน มากำกับ ในขณะที่สิงคโปร์ เวียดนาม เน้นการส่งเสริม ให้โอกาสลงทุน มาพัฒนา เกิดปัญหาแล้วมาว่าเป็นรายกรณี บรรยากาศการลงทุนจึงเกิดขึ้น อย่างเช่นดีลเทสโก้นี้ หากผ่านทุกขั้นตอน แล้วยังมีกระบวนการชักเย่อ แน่นอนว่ากระทบการระดมทุน กระทบความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ ใครจะขยายการลงทุนในไทย คงต้องทบทวนอย่างหนัก

– ด้วยข้อมูลสนับสนุนชุดเดียวกัน เพราะเหตุใดบอร์ดจึงเสียงแตก และมีคำวินิจฉัยที่แตกต่างออกเป็น 2 ขั้ว?

เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะบอร์ดมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น หากออกมามีมติเอกฉันท์จะแปลกมากกว่า แต่ที่ดูแล้วแปลกคือ ประธานมาออกความคิดเห็นในเสียงข้างน้อย ซึ่งโดยปกติการออกมาเป็นเลขคี่ เพื่อให้ประธานชี้ขาดกรณีเสียงออกมาเสมอกัน แต่กรณีนี้หลายฝ่ายแปลกใจที่ประธานรีบลงคะแนนเลือกแต่แรก และร่วมตั้งโต๊ะแถลงเสียงข้างน้อย ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติ

– แนวทางอื่น ๆ ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเหนือตลาดหลังจากมีการควบรวมนอกเหนือไปจากใช้ ม.50?

เงื่อนไข 7 ข้อ มาจากกรรมการ กขค. ที่ทุกฝ่ายต้องเคารพผลการพิจารณา เพื่อเศรษฐกิจภาพรวมเดินต่อได้ นอกจากนี้ก็มีกฎหมาย ระเบียบที่คุ้มครองผู้บริโภคและคู่ค้าอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยู่ที่การบังคับใช้ ให้ผู้รับผิดชอบได้ปฏิบัติหน้าที่

บรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญ หากประเทศไทยจะเน้นความเข้มงวดด้านกฎหมาย ก็จะเหมือนกับข้าราชการที่ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ เพราะกลัวผิดระเบียบ เข้าข่ายไม่ทำไม่ผิด การที่ใช้กฎหมาย ออกกฎหมายลูก สนับสนุนให้มีการฟ้องร้อง แน่นอนว่าประเทศไทยจะมีความล้าหลังด้านบรรยากาศการลงทุน แน่นอนว่าธุรกิจใดที่จะลงทุนในประเทศไทย อาจพิจารณาเวียดนาม อินโดนีเซีย ที่มีตลาดใหญ่กว่า หากเมืองไทย ปล่อยให้กลุ่มคนเรียกร้องสิทธิ แต่สั่นคลอนสิทธิที่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำลายความเชื่อมั่นของประเทศ แล้วต่อไปประเทศไทย ใครจะกล้ามาลงทุน

Back to top button