THAI ปัดใช้เกณฑ์ “น้ำมัน” วัดผลงานนักบิน ย้ำยึดมาตรฐานปลอดภัย

THAI ปัดใช้เกณฑ์ “น้ำมัน” วัดผลงานนักบิน ย้ำยึดมาตรฐานปลอดภัย


รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ปฏิเสธกระแสข่าวที่ระบุว่าบริษัทใช้การเติมน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นเกณฑ์ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของนักบินโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและเที่ยวบิน

โดย THAI ระบุว่า บริษัทดำเนินธุรกิจการบินโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและเที่ยวบิน ซึ่งถือเป็นความสำคัญสูงสุดในทุกเที่ยวบิน การวางแผนการบินและน้ำมันเชื้อเพลิง จัดทำโดยเจ้าหน้าที่วางแผนการบิน (Dispatcher) ที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ทำหน้าที่ในการวางแผนการบิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานกฎการบิน

ในส่วนของการวางแผนนี้ได้ครอบคลุมข้อมูลด้านการบิน ตลอดเส้นทางการบิน ได้แก่ เอกสารแถลงข่าวการบิน (Aeronautical Information Publication: AIP), การออกประกาศสำหรับผู้ทำการในอากาศ (Notices to Airmen :NOTAM), สภาพอากาศระหว่างเส้นทางการบิน (En-route Weather), สนามบินปลายทาง (Destination), สนามบินสำรองระหว่างเส้นทาง (En-route Alternate), สนามบินสำรองที่ปลายทาง (Destination Alternate) และ แผนการบิน (Operation Flight Plan)

การวางแผนการบินของบริษัทฯ เป็นไปตามมาตรฐานและกฎสากล โดยปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงของทุกเที่ยวบิน (Standard ramp fuel) จะประกอบด้วยเชื้อเพลิงในส่วนต่างๆ ดังนี้ Standard ramp fuel = Taxi fuel + Trip fuel + Contingency fuel + Alternate fuel + Final reserve fuel + Addition fuel

หากพบว่าสภาพอากาศที่สนามบินปลายทาง (Destination) ทัศนวิสัยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือมีข้อจำกัดอื่นๆ บริษัทมีกฎรองรับตามหลักสากลในการวางแผนปฏิบัติการบินให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เช่น วางแผนการบินให้มีสนามบินสำรอง 2 แห่ง ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนเส้นทางการบินไปยังสนามบินสำรอง (Diversion)

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวนี้เป็นไปตามมาตรฐานและกฎที่ทุกสายการบินใช้ ซึ่งนักบินทุกคนของบริษัทฯ ได้รับการฝึกอบรมและปฏิบัติตามเป็นอย่างดี โดยบริษัทไม่มีนโยบายด้านการประหยัดด้วยการให้ลดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงลงต่ำกว่า Standard ramp fuel แต่อย่างใด แต่ใช้วิธีบริหารการใช้ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ (Fuel and cost management) ตาม Standard ramp fuel ในทุกเที่ยวบิน โดยมุ่งเน้นด้านการบริหารต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน

สำหรับการประเมินนักบิน หัวข้อการสั่งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยความเหมาะสมนั้น ได้ใช้ข้อมูลและวิธีการทางสถิติ ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ เป็นข้อมูลจากคลังข้อมูลของบริษัทฯ มีกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) และผลที่ออกมานั้นก็สามารถวัดประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนทางด้านน้ำมันเชื้อเพลิงของนักบินผู้ควบคุมอากาศยานได้ แต่การประเมินประสิทธิภาพในการทำงานไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้เพียงอย่างเดียว ยังมีหัวข้ออื่นๆ ที่ใช้พิจารณาอีกหลายหัวข้อ เช่น ความตั้งใจและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการบินและงานด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังต้องรับการตรวจสอบ (Audit) จากหน่วยงานด้านการบินของภาครัฐทั้งในและต่างประเทศเสมอ เช่น Ramp inspection , IOSA Audit และอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

 

Back to top button