โอละพ่อหุ้นสื่อสาร! คนใกล้ชิดยันนายกฯไม่ได้สั่ง “ยืดจ่ายไลเซ่นส์ 5G” แค่ตัวแทน TRUE เสนอ

โอละพ่อหุ้นสื่อสาร! คนใกล้ชิดยันนายกฯไม่ได้สั่ง “ยืดจ่ายไลเซ่นส์ 5G” แค่ตัวแทน TRUE เสนอ


ผู้สื่อข่าวรายงาน สืบเนื่องจาก วานนี้ ราคาหุ้นสื่อสารโทรคมนาคมปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง เช่น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ราคาปิดที่ระดับ 3.54 บาท บวกไป 0.28 บาท หรือขึ้นไป 8.59% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2,380.42 ล้านบาท

ตามมาด้วย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ราคาปิดที่ระดับ 33.25 บาท บวกไป 0.75 บาท หรือขึ้นไป 2.31% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 557.73 ล้านบาท

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ราคาปิดที่ระดับ 173.50 บาท บวกไป 2.50 บาท หรือขึ้นไป 1.46% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2,662.76 ล้านบาท

บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ราคาปิดที่ระดับ 57.25 บาท บวกไป 0.50 บาท หรือขึ้นไป 0.88% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 680.50 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวเกิดจากแรงเก็งกำไรในประเด็นเรื่องการผ่อนปรนการชำระค่าใบอนุญาต เมื่อสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยได้เสนอขอยืดระยะเวลาชำระค่าใบอนุญาตการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคม 5G เพื่อขอให้รัฐบาลช่วยพิจารณายืดระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 5G ที่มีรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนประมูลไปก่อนหน้านี้มูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท ลดภาระในช่วงที่ประสบปัญหาจากโควิด-19 ระบาด

โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รับข้อเสนอไปพิจารณาว่าจะตอบสนองอย่างไรได้บ้าง แล้วให้นำมาเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ การประมูลคลื่น 5G มีจำนวนใบอนุญาตทั้งหมด 48 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 100,521 ล้านบาท แบ่งเป็นคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ 3 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 51,460 ล้านบาท, คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ 19 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 37,434 ล้านบาท และคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ 26 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 11,627 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ  เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นผู้เสนอหรือมีคำสั่งให้ดำเนินการยืดระยะเวลาการชำระค่าคลื่นความถี่แต่อย่างใด เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นแค่การเสนอของตัวแทน โดยนายศุภชัย เจียรวนนท ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงและกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอกชนยกเหตุผลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่ส่งผลให้ผลประกอบการชะลอตัวลง จนอาจเป็นแรงกดดันต่อความสามารถในการชำระค่าคลื่นดังกล่าวได้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์จึงได้ขอให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำไปพิจารณาว่ามีความสมเหตุสมผลเพียงพอที่จะดำเนินการพิจารณาต่อไปหรือไม่

โดยกรณีที่เกิดขึ้นข้างต้น ถือว่าความคาดหวังยังห่างไกลความเป็นจริงอยู่มาก ด้วยกระบวนการด้านต่างๆที่ยังต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียด กอปรกับการยื่นข้อเสนอของเอกชนถือเป็นสิ่งที่ทำได้ ขณะที่การรับเรื่องไว้เพื่อพิจารณาของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ  ก็ถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ตนยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การออกคำสั่ง และไม่มีคำสั่งใดๆ เป็นเพียงแค่การขอให้สำนักงาน กสทช. พิจารณา เท่านั้น

สำหรับเงื่อนไขการชำระเงินค่าใบอนุญาตในการนำคลื่นความถี่ต่างๆไปพัฒนาโครงข่ายในระบบ 5G และให้บริการ คือส่วนของคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต ซึ่งมีผู้ชนะการประมูล คือ AIS จำนวน 1 ใบอนุญาต และ CAT จำนวน 2 ใบอนุญาต ทั้งนี้การแบ่งชำระเงินค่าประมูลเป็น 10 งวด โดยมีการชำระงวดแรกภายในวันที่ 16 มีนาคม 2564 (วันสุดท้ายของการชำระงวดแรก)

ส่วนด้านคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ใบอนุญาต ซึ่งมีผู้ชนะประมูล คือ  AIS จำนวน 10 ใบอนุญาต และ TRUE จำนวน 9 ใบอนุญาต โดยแบ่งชำระเงินค่าประมูลเป็น 7 งวด ทั้งนี้มีการชำระค่าประมูลงวดแรกแล้ว

ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 26 ใบอนุญาต ซึ่งผู้ชนะประมูล คือ  AIS จำนวน 12 ใบอนุญาต, TRUE จำนวน 8 ใบอนุญาต, TOT จำนวน 4 ใบอนุญาต และ DTAC จำนวน 2 ใบอนุญาต โดยมีการกำหนดชำระเงินค่าประมูลรอบเดียว ซึ่งทั้ง 4 ราย มีการชำระค่าประมูลเสร็จสิ้นแล้ว

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่า บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AIS ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ใบอนุญาต ช่วงความถี่ (733 – 738 เมกะเฮิรตซ์  คู่กับ 788 – 793 เมกะเฮิรตซ์)  ด้วยราคาประมูล 17,154 ล้านบาท พร้อมด้วยคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวนใบอนุญาต 10 ใบอนุญาต ช่วงความถี่ (2500-2600 เมกะเฮิรตซ์ ) ด้วยราคาประมูล 19,561 ล้านบาท  และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 12 ใบอนุญาต ช่วงความถี่ (25.2-26.4 กิกะเฮิรตซ์) ด้วยราคาประมูล 5,719.15 ล้านบาท

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ช่วงความถี่ (738-748 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ793-803 เมกะเฮิรตซ์) ด้วยราคาประมูล 34,306 ล้านบาท

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน  2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 9 ใบอนุญาต ช่วงความถี่ (2600 – 2690 เมกะเฮิรตซ์ ) ด้วยราคาประมูล 17,872.88 ล้านบาท พร้อมกับคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์  จำนวน 8 ใบอนุญาต ช่วงความถี่ (24.3-25.1 กิกะเฮิรตซ์) ด้วยราคาประมูล 3,827.27 ล้านบาท

บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 4 ใบอนุญาต ช่วงความถี่ (26.45-26.8 กิกะเฮิรตซ์) ด้วยราคาประมูล 1,920.65 ล้านบาท

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ช่วงความถี่ (26.8-27.0กิกะเฮิรตซ์) ด้วยราคาประมูล 974.13 ล้านบาท

Back to top button