PRM จัดงบฯ 2 พันลบ.เพิ่มกองเรือ เชื่อปีนี้รายได้โตเกิน 10% หลังปิดดีล “ไทยออยล์มารีน”

PRM จัดงบฯ 2 พันลบ.เพิ่มกองเรือ เชื่อปีนี้รายได้โตเกิน 10% หลังปิดดีล "ไทยออยล์มารีน"


นายวิริทธิ์พล จุไรสินธุ์ ผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM กล่าวว่า บริษัทวางงบลงทุนปีนี้ไว้ที่ 2,000 ล้านบาทรองรับการซื้อเรือ FSU จำนวน 1 ลำ, เรือต่อใหม่จำนวน 3-6 ลำ ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างพิจารณาลงทุนเรือ VLCC เพิ่มเติมอีก โดยอยู่ระหว่างติดตามความต้องการใช้บริการของลูกค้า

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 64 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 5,925.8 ล้านบาท โดยจะมาจากการเติบโตของธุรกิจเดิม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลว (ธุรกิจเรือขนส่งฯ) ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งปีนี้บริษัทมีแผนลงทุนต่อเรือขนาดเล็กเพิ่มเติม 3-6 ลำ คาดว่าจะทยอยรับเรือได้ในอีก 12-24 เดือน เนื่องจากมีแผนขายเรือออกด้วย

ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (FSU) มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยปีนี้จะลงทุนเรือเพิ่มอีก 1 ลำ และหาก บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO) ซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้บริการเรือกักเก็บน้ำมัน FSU ไม่ได้ต่อสัญญาที่จะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย.64 บริษัทก็มีแผนขายเรือดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อหันมาเน้นการซื้อเรือใหม่เพื่อนำมาให้บริการกับลูกค้ารายใหม่

ส่วนธุรกิจเรือขนส่งเพื่อให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (Offshore) จะลงทุนผ่านบริษัท ไทยออยล์มารีน จำกัด (TM) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการซื้อหุ้นสามัญทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/64 และเริ่มรู้รายได้เข้ามาในไตรมาส 3/64 ทันที

นายวิริทธิ์พล กล่าวว่า การลงทุนใน TM จะทำให้บริษัทมีเรือของ TM จำนวน 18 ลำเข้ามาเสริมกองเรือ แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งภายในประเทศ 5 ลำ และกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งเพื่อสนับสนุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (กลุ่มธุรกิจ Offshore) อีก 13 ลำ รวมถึงจะให้บริการเรือขนส่งปิโตรเลียมระหว่างประเทศด้วยเรือ VLCC อีก 3 ลำ โดยมีแผนการส่งมอบในปี 64-65 ด้วยสัญญาระยะยาว 10 ปี มองว่าทั้งหมดนี้จะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับ PRM ในปีนี้และอนาคตได้

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/64 คาดว่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 4/63 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ยังไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของดีมานด์และซัพพลาย โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบิน (JET A-1) แต่บริษัทก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้นำเรือไปขนส่งน้ำมันดีเซลและเบนซินแทน เพื่อให้เรือได้ใช้งาน

Back to top button