TWPC เซ็น MOU กับสภาอุตฯ-29 องค์กรนำร่อง ขยายผลจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์

TWPC เซ็น MOU กับสภาอุตฯ-29 องค์กรนำร่อง ขยายผลจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์


นายโฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)  หรือ TWPC ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง  และผู้นำตลาด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นสดและวุ้นเส้นแห้ง เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 บริษัทได้เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 29 องค์กรนำร่อง ในโครงการ “ขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรของประเทศ และช่วยลดปัญหาโลกร้อนในระยะยาว จัดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ณ ห้องประชุม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ บริษัทฯ เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนำร่องในภาคอุตสาหกรรม ที่จะขับเคลื่อนและรณรงค์ การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากทุกกิจกรรมในโรงงาน จึงได้ร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อเป็นการขยายผลให้เกิดการคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม นำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหาร จัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้เป็นการทวนสอบ พร้อมกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว สอดคล้องกับนโยบายของไทยวาและภาครัฐ ในการรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยลดโลกร้อน มุ่งสู่การบริหารจัดการสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ในปีนี้ บริษัทไทยวา มี 2 โรงงานที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมเป็นโรงงานนำร่อง ได้แก่ โรงงานแป้งมันสำปะหลังที่จังหวัดอุดรธานี และโรงงานอาหารที่จังหวัดนครปฐม

ถือเป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ในนโยบายหลักของบริษัทฯ ที่นอกจากจะผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านการเพาะปลูกแล้ว ไทยวาฯ ยังส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ซึ่งปีนี้มี 2 บริษัทฯในกลุ่ม โดยจะต้องมีการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization : CFO) เพื่อแสดงข้อมูลและตั้งเป้าลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงงาน อาทิ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง โดยวัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับโรงงาน สู่ระดับสากล” นายโฮ เรน ฮวา กล่าว

สำหรับการร่วมเป็นองค์กรนำร่องในโครงการดังกล่าวนี้ จะสอดรับกับแผนพัฒนาองค์กรยั่งยืนในเรื่องของการรักสิ่งแวดล้อมในอนาคต เพราะ Carbon Footprint เป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้ภาคการผลิต การบริการ และภาคเอกชน ให้เกิดความตื่นตัว รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้อุปโภคและผู้บริโภค ในการช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อน

นอกจากนี้ ในปี 2564 นี้ บริษัทฯ ยังคงกำหนดกลยุทธ์ที่จะมุ่งเน้นไปที่การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาขับเคลื่อนความเร็วและประสิทธิภาพตลอดกระบวนการทำงานของทั้งองค์กรและนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อช่วยผลักดันกำไรขั้นต้นให้สูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นพลาสติกที่ผลิตจากพืชผลทางการเกษตร และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100% โดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

Back to top button