SCB วางงบการตลาด 100 ลบ. ดันยอดผู้ถือ “บัตรเดบิต” ปีนี้เพิ่ม 3 ล้านใบ

SCB วางงบการตลาด 100 ลบ. ดันยอดผู้ถือ "บัตรเดบิต" ปีนี้เพิ่ม 3 ล้านใบ


นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้ามีบัตรเดบิตใหม่เพิ่มขึ้น 3 ล้านบัตร จากปัจจุบัน 10 ล้านบัตร และ คาดว่าจะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตเพิ่มขึ้น 30% จากปัจจุบันยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตเฉลี่ยอยู่ที่ 4,000 บาท/เดือน/บัตร โดยธนาคารได้ตั้งงบการตลาดบัตรเดบิตปีนี้ไว้ที่ 100 ล้านบาท

โดยที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปัจจุบันพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้จ่ายชำระสินค้า และ บริการต่างๆ ผ่านบัตรเดบิตมากขึ้น ซึ่งจะหนุนให้ภาพรวมตลาดบัตรเดบิตของไทยในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวเติบโตมากยิ่งขึ้น

ล่าสุดธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นบัตรเดบิต “Lets SCB Mastercard” โดยร่วมมือกับ มาสเตอร์การ์ด เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ภายใต้แนวคิด “เลือกช้อยส์ที่ใช่ไว้ใช้ชีวิต” ซึ่งสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ถือบัตรได้ใน 3 หมวดหลัก คือ กิน-ช้อป-เพลย์ เพื่อที่จะเป็นการตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในยุค New Normal ในปีนี้ ธนาคารจึงมุ่งมั่นพัฒนาและ คิดค้นการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้บริการที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าในทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ กลุ่ม Yong Gen

ด้านนางสาวไอลีน ชูว ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ มาสเตอร์การ์ด กล่าวถึง ภาพรวมตลาดบัตรเดบิตทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทิศทางเดียวกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ทั้งนี้ จากการสำรวจ พบว่า ในปี 63 ที่ผ่านมามีจำนวนบัตรเดบิตรวมอยู่ประมาณ 64 ล้านใบ หรือ คิดเป็นจำนวนบัตรเกือบ 1 ใบต่อประชากร 1 คน ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าจำนวนบัตรต่อประชากรทั่วโลกและในเอเชีย-แปซิฟิก

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ส่งผลให้พฤติกรรมของคนไทยในการชำระค้าสินค้ามีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป หลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสดและหันมาชำระแบบคอนแทคเลสเพิ่มสูงขึ้นกว่า 30% สะท้อนให้เห็นโอกาสในการเติบโตของตลาดบัตรเดบิตในเมืองไทย

ส่วนของบัตรเดบิตไทยพาณิชย์มาสเตอร์การ์ด มีอัตราการเติบโตของจำนวนธุรกรรมผ่านบัตรในช่วงปี 60-63 ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 33% ต่อปี และจำนวนธุรกรรมต่อบัตรในปี 63 สูงกว่าปีก่อนหน้ากว่า 25%

Back to top button