UAC จับมือ 4 วิสาหกิจชุมชน ยื่นประมูล “โรงไฟฟ้า” 5 โครงการ 15MW

UAC จับมือ 4 วิสาหกิจชุมชน ยื่นประมูล “โรงไฟฟ้าชุมชุน” 5 โครงการ 15MW


นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยถึงกรณีร่างระเบียบรับซื้อโรงไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก(โครงการนำร่อง) ว่า หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อย เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ระหว่างวันที่ 21-23 เม.ย.2564 และพร้อมประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการภายในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้

และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมตามเกณฑ์คุณสมบัติ ได้มีการส่งบริษัท ยูเอซี ท็อป เอนเนอร์ยี่ (UAC Top Energy) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ลงนามความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ จำนวน 4 แห่ง เพื่อให้สอดรับกับเงื่อนไขของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า บริษัทผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จะต้องร่วมทุนกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชนและต้องมีข้อกำหนดการร่วมทุนระหว่างผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ในสัดส่วน 90% และวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในสัดส่วน 10%

อีกทั้งการจัดหาเชื้อเพลิงจะต้องมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งปริมาณการรับซื้อพืชพลังงานที่จะนำมาใช้ต้องได้มาจากการปลูกโดยวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรบริเวณใกล้เคียง อย่างน้อย 80% และผู้ประกอบการสามารถจัดหาเองได้ไม่เกิน 20% ซึ่งจากแผนดังกล่าวส่งผลให้บริษัทฯ มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการประมูลมีการแข่งขันสูง เนื่องจากรัฐเปิดรับซื้อนำร่องเพียง 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความพร้อมด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานจากก๊าซชีวภาพมากว่า10 ปี และยังมีโรงไฟฟ้าต้นแบบอยู่ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นตัวนำร่องยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนในครั้งนี้  โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะยื่นประมูล 5 โครงการ รวมถึงโครงการในจังหวัดขอนแก่นที่กำลังดำเนินการกอสร้าง เฉลี่ยโครงการละ 3 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 15 เมกะวัตต์ โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือเงินลงทุนรวมประมาณ  1,500 – 2,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ บริษัทฯ เตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน เพื่อรองรับการเข้าประมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Back to top button