BA เล็งเปิดบินตปท. กลางปีนี้ เดินหน้าลดค่าใช้จ่าย ประคองธุรกิจ คาดปี 67 พลิกมีกำไร

BA เล็งเปิดบินตปท. กลางปีนี้ เดินหน้าลดค่าใช้จ่าย ประคองธุรกิจ คาดปี 67 พลิกมีกำไร


บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA คาดรายได้ปี 64 อยู่ที่ 3.4 พันล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนที่มี 5.6 พันล้านบาท หรือลดลง 40% โดยคาดไตรมาส 1/64 มีอัตราขนส่งบรรทุกผู้โดยสาร(Load Factor) เฉลี่ย 60% ผลประกอบการจึงต่ำกว่าไตรมาส 1/63 ที่มี Load Factor กว่า 90% ซึ่งอยู่ในช่วงไฮซีซั่นก่อนที่โควิด-19 จะระบาด

โดยปีนี้ช่วงไฮซีซั่นได้รับผลกระทบโควิดระบาดรอบ 2 แต่เชื่อว่าทยอยฟื้นกลับมาในช่วงสงกรานต์ได้ ส่วนเที่ยวบินต่างประเทศ BA วางแผนจะเริ่มบินจากสมุย-สิงคโปร์ และ สมุย-ฮ่องกง ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ และคาดว่าในไตรมาส 4/64 น่าจะกลับมาบินเส้นทางกรุงเทพ – พนมเปญ , กรุงเทพ-ย่างกุ้ง โดยคาดว่าเส้นทางระหว่างประเทศจะเริ่มทยอยกลับมาทำการบิน

ทั้งนี้ประเมินในปี 65 สายการบินทั่วโลกจะบินเพิ่มเป็น 30-35% และในปี 66 เพิ่มเป็น 60-80% และกลับมา 100% ในปี 67 ที่บริษัทคาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไร ระหว่างนี้บริษัทยังคงลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะเครื่องบินเช่าที่จะปรับลดเหลือ 30 ลำในปี 65 จากปี 63 อยู่ที่ 39 ลำ รวมทั้งมองหาแหล่งทุนเพื่อเติมสภาพคล่องให้บริษัท โดยขอเงินกู้จากสถาบันการเงินราว 2.5-3.5 พันล้านบาท ขณะเดียวกันก็ยังหวังว่ารัฐบาลจะให้เงินกู้ซอฟท์โลน

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA เปิดเผยว่า จากช่วงต้นปี 64 ที่มีการระบาดโควิด-19 รอบสองที่ส่งผลกระทบให้จำนวนผู้โดยสารลดลง โดยลงไปต่ำสุดที่ 200 กว่าคน/วันจากเมื่อเดือน พ.ย. และ ต้นธ.ค. 63 มียอดจองถึงวันละ 5,000 คน อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารค่อยๆกลับมาประมาณ 1,000 คน/วัน หลังจากที่ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น

ในช่วงสงกรานต์นี้ มีการเดินทางมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสารราว 2,000 กว่าคน/วัน  ซึ่ง BA มีการเพิ่มเที่ยวบินไปสมุย โดยเดิมทำการบินเพียง 8 เส้นทางจากที่เคยมี 17 เส้นทางในประเทศ ใช้เครื่องบิน 15 ลำจากทั้งหมดที่มี 39 ลำ ทั้งนี้ในช่วงสงกรานต์เส้นทางกรุงเทพ-สมุย เพิ่มจาก 8 เที่ยวบิน/วันเป็น 25 เที่ยวบิน/วัน อย่างไรก็ดี ราคาตั๋วไปสมุยซึ่งเป็นเส้นทางที่ทำรายได้หลัก กลับลดลงไป 30% จากการแข่งขันสูงติดต่อกันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากที่เคยสูง 3,000 กว่าบาท/เที่ยว ลดมาประมาณ 2,000 บาท/เที่ยว หรือบางทีไม่ถึง 2,000 บาท/เที่ยว รวมทั้งความต้องการลดลง

นอกจากนี้ ในเดือนมิ.ย.64 BA จะเพิ่มเส้นทางใหม่ กรุงเทพ-แม่สอด ทำการบิน 3 เที่ยวบิน/วัน ซึ่งเลื่อนมาจากต้นปี 64 ส่วนที่กลับมาทำการบินได้แก่ ก.ค.นี้ ภูเก็ต-สมุย และ ภูเก็ต-อู่ตะเภา และ ต.ค.นี้ เส้นทางเชียงใหม่-ภูเก็ต และ เชียงใหม่- กระบี่

ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศเริ่มเห็นว่าภาครัฐผ่อนคลายมาตรการโดยลดวันกักตัว เริ่มวันที่ 1 เม.ย.นี้ และใน 1 ก.ค.นี้ก็ไม่ต้องกักตัวเมื่อมาอยู่ในพื้นที่กำหนด ซึ่ง BA วางแผนจะมีทำการบินจากสมุย-สิงคโปร์ และสมุย-ฮ่องกง ในวันที่ 1 ก.ค. 64 วันละ 1 เที่ยวบินที่จะมีการทำ Travel Bubble ระหว่างกัน หลังจากนั้นในเดือนต.ค. 64 มีแผนจะกลับมาบินเส้นทาง กรุงเทพ-พนมเปญ และ กรุงเทพ-ย่างกุ้ง ขณะเดียวกันพันธมิตรสายการบินที่ทำ Code Share ก็เริ่มกลับมาบินเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จาก Code Share ที่ 20% จากเดิม 24-25%

สำหรับในปี 64 คาดว่าจะมีรายได้ 3.4 พันล้านบาท ลดลง 60% จากปี 63 ที่ 5.6 พันล้านบาท ซึ่ง 2 เดือนแรกปี 63 เป็นช่วงที่ดีมาก ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด มีจำนวนผู้โดยสาร 1.88 ล้านคน แต่ในช่วงเดียวกันของปี 64 คาดว่ามีจำนวนผู้โดยสาร 1.61 ล้านคน เพราะเกิดระบาดรอบ 2 ในช่วงครึ่งเดือนหลัง ธ.ค.63 ถึง ก.พ.64 ขณะที่ปี 62 ก่อนเกิดโควิด รายได้ขึ้นไปถึง 1.9 หมื่นล้านบาทมีจำนวนผู้โดยสาร 5.86 ล้านคน ทั้งนี้ รายได้จากเส้นทางระหว่างประเทศ 50% และเส้นทางในประเทศ 50%

แม้ว่ารายได้ในปี 64 จะลดลงแต่บริษัทหันมาลดค่าใช้จ่าย ซึ่งต้นทุนหลักๆมาจากค่าเช่าเครื่องบิน ค่าซ่อมบำรุง โดยบริษัทได้ลดการเช่าเครื่องบินไปเมื่อปีก่อน 1 ลำ และปี 64 จะลดลงอีก 3 ลำ และในปี 65 ลดลงอีก 6 ลำ จะทำให้เหลือเครื่องบินที่เช่าอยู่ 30 ลำ จากปี 63 ที่มี 39 ลำ ซึ่งเครื่องบินที่ไม่เช่าต่อเป็นเครื่องบินที่หมดสัญญาเช่า นอกจากนี้ยังรอขายเครื่องบินใบพัด ATR-72-500 จำนวน 2 ลำ

ในปี 65 คงยังไม่ฟื้นกลับมาแต่แนวโน้มเริ่มดีขึ้นจากเริ่มเปิดประเทศ โดยคาดว่าปี 65 จะทำการบินขึ้นมา 30-35% ในปี 66 เพิ่มขึ้นเป็น 60-80% และในปี 67 คาดว่าจะกลับมาบินได้ 100% ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)  และคาดว่าในปี 67 บริษัทจะกลับมามีกำไร

โดยในระหว่างนี้บริษัทจะดูแลต้นทุนให้ได้ดี และจะหาแหล่งเงินทุนเข้ามาเสริมสภาพคล่อง โดยอยู่ระหว่างขอวงเงินกู้ จำนวน 2.5-3.5 พันล้านบาท จากสิ้นปี 63 มีกระแสเงินสด 2.1 พันล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายปัจจุบันอยู่ที่ 400 ล้านบาท/เดือน จาก 700 ล้านบาท/เดือน

นอกจากนี้ BA เป็นสายการบินที่ได้เปรียบกว่ารายอื่นที่บริษัทยังมีสินทรัพย์มากกว่า เช่น สนามบิน 3 แห่ง โดยสิ้นปี 63 มีมูลค่าทรัพย์สิน 5.6 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม BA และกลุ่มสายการบินในประเทศยังอยู่ระหว่างการขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลนจากรัฐบาล ซึ่งได้ปรับลดวงเงินเหลือ 1.5 หมื่นล้านบาทจากเดิม 2.4 หมื่นล้านบาท

แต่ละสายการบินก็ต้องบริหารต้นทุน แต่ละสไตล์แต่ละสายการบินก็ไม่เหมือนกัน  การอยู่รอดไม่รอดว่าแต่ละสายเขาบริหารอย่างไร เช่นวิธีการได้เครื่องบินอย่างไร อย่างแอร์เอเชียก็มีต้นทุนไม่สูงเท่าคนอื่น ใครอยู่ใครไปพูดยาก ถ้าจะหายก็น่าจะหายไปนานแล้ว อยู่ไม่อยู่ก็ขึ้นกับซอฟท์โลนส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยให้หายใจดีขึ้น ทุกคนก็ต้องช่วยตัวเองไปก่อน ตอนนี้เริ่มมองเห็นว่ามีมาตรการ มีการเปิดประเทศเมื่อไร โอกาสที่จะกลับมาผมว่ามันมีโอกาส เป็นสิ่งที่ทุกคนมาวางแผนได้ จากก่อนหน้านี้ รัฐบาลยังไม่บอกว่าจะลดวันกักตัว ภูเก็ตทำ sand box ตอนนี้ก็เห็นทิศทางรอด จากก่อนหน้าไม่รู้จะรอดตรงไหน”นายพุฒิพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การระบาดโควิด-19 รอบสามหรือไม่ สิ่งที่ล็อกการเดินทางคือเรื่องกักตัวที่จะหยุดให้คนเดินทาง ซึ่งก่อนหน้าที่เดินทางข้ามจังหวัดต้องกักตัว ถ้าไม่มีกักตัวก็น่าจะดี ทั้งนี้เห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในไทยก็ยังไม่ค่อยน่ากลัว ไม่เหมือนในต่างประเทศที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงระดับหมื่นคน

ทั้งนี้ BA ยังเดินหน้าลงทุน โดยบริษัทสนใจโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยได้แจ้งความจำนงสนใจไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนการใช้พื้นที่ คาดจะยื่นเสนอแผนให้ สกพอ.พิจารณาภายในเดือน เม.ย.นี้

สำหรับโครงการ MRO นี้จะรองรับเครื่องบินลำตัวแคบ อาทิ เครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 4 ลำ คาดใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท หาก สกพอ.อนุมัติก็เริ่มทำ EIA ในปี 65 และเริ่มก่อสร้างในปี 66 แล้วเสร็จในปี 67 ซึ่งเป็นปีที่ธุรกิจการบินกลับมา โดยจะรองรับซ่อมเครื่องบิน ของสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ และของสายการบินของไทยด้วย และมองว่าจะดึงพาร์ทเนอร์ต่างประเทศในยุโรป เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส เข้าร่วมโครงการด้วยเพื่อรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินลำตัวกว้างเพิ่มเติม

ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ที่บริหารภายใต้บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ยังเดินหน้าตามแผน ซึ่งขณะนี้ได้ว่าจ้างบริษัทที่จะออกแบบอาคารผู้โดยสาร โดยสนามบินนาริตะซึ่งเป็นพันธมิตรได้เป็นผู้ให้ข้อมูลเสนอแนะให้ด้วยเพราะมีประสบการณ์การบริหารสนามบินในญี่ปุ่น ที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างสนามบินนาริตะ และสนามฮาเนดะได้ดี หากสามารถบริหารสนามบินในกรุงเทพและสนามบินอู่ตะเภาก็จะดี ส่วนจะให้กลุ่มผู้บริหารสนามบินนาริตะ มาช่วยบริหารสนามบินอู่ตะเภาหรือไม่ต้องรอดู

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก  เฟสแรก มูลค่าลงทุน 3 หมื่นล้านบาท มีอาคารผู้โดยสารรองรับ 15.9 ล้านคนซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 65 และคาดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 68 สอดรับกับธุรกิจการบินที่ฟื้นตัวกลับมาในปี 67

Back to top button