TIDLOR เปิดจองซื้อไอพีโอ 22-26 เม.ย.นี้ ปักหมุดเทรด 10 พ.ค.

TIDLOR เปิดจองซื้อไอพีโอ 22-26 เม.ย.นี้ ปักหมุดเทรด 10 พ.ค.


นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายงานตลาดทุน บล.เกียรตินาคินภัทร ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เปิดเผยว่า หุ้น TIDLOR คาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 10 พ.ค. 64 หลังจากเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 22-26 เม.ย.นี้ ผ่านช่องทางออนไลน์ของธนาคารกรุงศรี (BAY) ธนาคารกสิรไทย (KBANK) และบล.กรุงศรี ซึ่งจะมีการประกาศผลการจัดสรรภายในวันที่ 28 เม.ย. 64 ผ่านทาง https://www.settrade.com

สำหรับการเสนอขาย IPO ของ TIDLOR ในครั้งนี้ถือว่าเป็น IPO ที่มีมูลค่าการเสนอขายสูงที่สุด 5 ลำดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย ซึ่งมีการเสนอขาย IPO จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 907,428,600 หุ้น และกำหนดช่วงราคาจองซื้อไว้ที่ 34-36.50 บาท/หุ้น ซึ่งทำให้บริษัทมีมูลค่าตลาด (Market Cap) หลังเข้าตลาดราว 7.88-8.46 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่านักลงทุนจะให้การตอบรับในการจองซื้อหุ้น IPO กันอย่างคึกคัก จากศักยภาพของบริษัทที่มีประสบการณ์ในการดำเนินสินเชื่อทะเบียนรถมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีทีมงานและผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจโดยตรง เข้าใจความต้องการของลูกค้า ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าออกไปได้มาก ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังมีธุรกิจนายหน้าซื้อขายประกันวินาศภัยที่เข้ามาต่อยอดธุรกิจ ส่งผลให้ธุรกิจมีการเติบโตต่อเนื่องและไม่หยุดอยู่กับที่

ขณะที่ช่วงราคาเสนอขาย IPO ที่ 34-36.50 บาท/หุ้น ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่ง TIDLOR ถือว่ามีความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด โดยเฉพาะการที่บริษัทไม่ได้ทำธุรกิจให้สินเชื่อทะเบียนรถเพียงอย่างเดียว แต่ได้มีการต่อยอดในการทำธุรกิจนายหน้าซื้อขายประกันวินาศภัยให้ลูกค้ารายย่อยเพิ่มเติม ทำให้บริษัทมีรายได้ใหม่ๆ ที่เติบโตอย่างมากเข้ามาเสริม และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น และการเสนอขาย IPO ในครั้งนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญในการนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจ ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ จากภาพของธุรกิจที่ได้กล่าวมาข้างต้นสะท้อนภาพของความสนใจของนักลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone ทั้งไทยและต่างประเทศที่สนใจเข้ามาจองซื้อหุ้น IPO ของ TIDLOR มากถึง 32 ราย คิดเป็นสัดส่วน 69% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ ทำให้มั่นใจว่านักลงทุนรายย่อยจะให้การตอบรับในการจองซื้อ IPO เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน ซึ่งหากมีความต้องการจองซื้อ IPO เป็นจำนวนมากก็ยังมีหุ้นส่วนเกินที่จัดสรรไว้ราว 136 ล้านหุ้นที่อาจจะนำมาจัดสรรเพิ่มเติมให้กับนักลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ตามการจัดสรรหุ้นส่วนเกินนั้นจะพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งบริษัทต้องการให้การซื้อขายหุ้นTIDLOR ในตลาดหลักทรัพย์มีความเสถียรภาพ

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TIDLOR กล่าวว่า การเสนอขาย IPO และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างการต่อยอดในการเตรียมความพร้อมเพื่อเติบโตให้กับธุรกิจ และสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นในการรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจนายหน้าประกันภัยสำหรับรายย่อย ด้วยความตั้งใจที่จะส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนให้เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียม โปร่งใส และเป็นธรรม

โดยเฉพาะเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เรียบง่าย สะดวก รวดเร็ว และเหมาะสมต่อลูกค้า โดยเงินติดล้อมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลาย เช่น สินเชื่อรถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถบรรทุก รถไถ รถแทรกเตอร์ เป็นต้น โดยมีฐานลูกค้าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท มีเงินหมุนเวียนไม่แน่นอนและประวัติข้อมูลทางการเงินจำกัด ผ่านการให้บริการด้วยความจริงใจของพนักงานของบริษัท

หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตเฉลี่ย 15-20% ต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยที่จะมีการขยายการเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการขยายสาขาเพิ่มอีก 500 สาขาในช่วง 2-3 ปีนี้ จากปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 1,500 สาขา และการขยายสินเชื่อควบคู่ไปกับการบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บริษัทจะนำมาใช้ให้บริการในด้านสินเชื่อ

อีกทั้งรายได้เสริมที่มาจากธุรกิจนายหน้าขายประกันวินาศภัยลูกค้ารายย่อยจะยังเห็นการเติบโตราว 40% ในช่วง 2-3 ปีต่อเนื่อง ทำให้เป็นอีกปัจจัยผลักดันการเติบโตของรายได้ให้กับบริษัทหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯไปแล้ว โดยในปี 63 บริษัทมีรายได้รวมที่ 1.05 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ 92% และรายได้จากธุรกิจนายหน้าขายประกันวินาศภัยลูกค้ารายย่อย 8%

บริษัทยังมองโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งต้นน้ำและกลางน้ำที่จะเข้ามาต่อยอดและเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจหลักที่เป็นธุรกิจปลายน้ำ โดยมองหาโอกาสในการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และการขยายธุรกิจออกไปในประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งมีหลายประเทศที่บริษัทให้ความสนใจ และตรงกับเกณฑ์การขยายธุรกิจของบริษัท ได้แก่ เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก ประชากรอายุเฉลี่ยน้อย เศรษฐกิจเติบโตแข็งแรงแต่มีประชากรบางส่วนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งหลังจากเข้าตลาดบริษัทจะมีการพิจารณาการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอีกครั้ง

ขณะที่แนวโน้มในการตั้งสำรองฯในช่วงที่ผ่านมาถือว่าบริษัทมีการตั้งสำรองในระดับที่สูงกว่าบริษัทอื่นๆ ที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันในตลาดอยู่มาก ซึ่งในปี 63 บริษัทมีอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ 325% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่ 133.2% แม้ว่าจะมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่ำเพียง 1.7% ซึ่งต่ำกว่าอุตสากกรรมที่ 2.3% สะท้อนภาพที่บริษัทมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งมาก

แต่อย่างไรก็ตามบริษัทก็มองโอกาสในการที่จะตั้งสำรองลดลงมาหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ซึ่งการลดระดับการตั้งสำรองลงมานั้นจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ และจะลดการตั้งสำรองลงเมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น

Back to top button