ดักเก็บ NER ก่อนขึ้น XD พรุ่งนี้ จับตาผลงาน Q1 โตแจ่ม – เล็งอัพกำไรเพิ่ม
ดักเก็บ NER ก่อนขึ้น XD พรุ่งนี้ จับตาผลงาน Q1 โตแจ่ม – เล็งอัพกำไรเพิ่ม
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้น บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน ก่อนบริษัทเตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD (ไม่ได้รับสิทธิปันผล) ในวันที่ 22 เม.ย. 64 ก่อนจ่ายปันผลจากงวดดำเนินงานวันที่ 1 ต.ค. – 31 ธ.ค.64 เป็นเงินสด 0.15 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 7 พ.ค. 64
ด้าน บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น NER ให้ราคาเป้าหมาย 7 บาทต่อหุ้น โดยมองว่า NER จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มราคายางสูง เนื่องจากมีธุรกิจหลักเพียงธุรกิจเดียวคือการขายยางธรรมชาติ ทำให้ประเมินว่าอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2564 ของ NER จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 11.0% จาก 10.8% ของปีก่อนหน้า กอปรกับปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 1,433 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 67% จากปีก่อน)
ขณะที่ สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ARPC) คาดการณ์ปี 2564 ความต้องการใช้ยางธรรมชาติของโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 8-10% (เทียบกับปี 2563 ปรับตัวลดลง -15%) ขณะที่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มองว่าสถานการณ์ผลผลิตยางพาราโลกในปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 จะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยางธรรมชาติกลับมาดำเนินธุรกิจกันใหม่ และต่างเดินเครื่องกันเต็มกำลังการผลิต
โดยก่อนหน้านี้ ได้ปรากฏชื่อนักลงทุนรายใหญ่คนดังพอร์ตลงทุนระดับหมื่นล้านบาทอย่าง นายสถาพร งามเรืองพงศ์ หรือ “เซียนฮง” ฉายาเซียนหุ้นอัจฉริยะ โผล่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 จากการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค.64 โดยถือครองหุ้นรวมกว่า 64 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.99% เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นชำระแล้วทั้งหมด
ขณะที่ภาพรวมผลประกอบการของ NER นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย.61 พบว่ารายได้และกำไรสุทธิแต่ละปีเติบโตทุบสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 61-63 บริษัทมีรายได้รวม 10,084 ล้านบาท, 13,107 ล้านบาท และ 16,364 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 486 ล้านบาท, 538 ล้านบาท และ 858 ล้านบาท ตามลำดับ สอดรับกับราคาหุ้น NER เป็นขาขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ล่าสุดราคาหุ้น NER ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 19 ก.พ.64 ที่ระดับ 5.50 บาท
ด้านนายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NER เปิดเผยว่า ยืนยันว่าไม่ได้รู้จักกับ “เซียนฮง” ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 เป็นการส่วนตัว แต่ก่อนหน้านี้มีผู้ลงทุนจำนวนมากทั้งรายบุคคลและสถาบันเข้ามาขอข้อมูลกับบริษัท ก็ต้องขอขอบคุณผู้ลงทุนทุกคนที่เชื่อมั่นในบริษัท และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้น
สำหรับเป้าหมายระยะยาวของ NER บริษัทตั้งเป้าว่าหุ้น NER ภายในปี 67 จะเข้าคำนวณในดัชนี SET100 มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ที่ 1.5-2 หมื่นล้านบาท สูงขึ้นเป็นเท่าตัวจาก Market Cap ปัจจุบันที่ประมาณ 8.2 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่และครอบครัว “จึงธนสมบูรณ์” ยืนยันว่าจะยังคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนล่าสุดที่ 57% แม้ก่อนหน้านี้แบ่งขายให้กับกองทุนญี่ปุ่น Daiwa (ไดวา) ไปบ้าง ทำให้ลดลงจากช่วงแรกที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ถือใน 61% แต่ก็เป็นการแบ่งขายหุ้นออกมาเพียงครั้งเดียว และในอนาคตหากจะมีการขายหุ้นอีกก็ต้องเป็นความจำเป็นในการนำพา NER ให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาวเท่านั้น
นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 7 พ.ย.61 ผลประกอบการของบริษัทเติบโตทุบสถิติใหม่ทุกปี เริ่มต้นจากการได้รับเงินระดมทุนราว 1,500 ล้านบาทมาสร้างโรงงานแห่งใหม่ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้ 170,000 ตัน/ปีก่อนจะก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อไตรมาส 3/63 ส่งผลให้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 460,000 ตัน จากเดิมที่มีกำลังการผลิต 290,000 ตัน ส่งผลให้ยอดขายปรับตัวสูงขึ้นตามตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การเติบโตเห็นชัดเจนอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ไตรมาส 4/63 จาก 2 ปัจจัยหนุนหลัก คือ ไตรมาส 1/63 มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ระยะแรกมีความกังวลว่าราคายางจะตกต่ำจากความต้องการลดลง แต่จากความต้องการถุงมือยางจำนวนมากทำให้ผลผลิตยางธรรมชาติถูกนำไปใช้ในการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ทิศทางราคายางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้น ทำให้บริษัทสามารถต่อรองราคาให้ได้ส่วนต่างกำไรสูงกว่าภาวะปกติ
ประกอบกับ เป็นช่วงที่บริษัทได้กำลังการผลิตใหม่เข้ามา จึงได้ปรับปริมาณการขายสินค้าเพิ่มเป็น 100,000 ตัน/ไตรมาส จากเดิมที่มีปริมาณการขายอยู่ราว 60,000 ตัน/ไตรมาส
นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากผลประกอบการไตรมาส 1/64 ออกมาแล้วบริษัทเตรียมทบทวนเป้าหมายรายได้ปี 64 ซึ่งอาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 5-10% จากเดิมคาดว่าจะมีรายได้ราว 22,000 ล้านบาท ตามปริมาณการขายยางพาราที่ 410,000 ตัน เนื่องจากขณะนี้ราคาขายยางพารายังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดือน พ.ย.63 สะท้อนจากความต้องการยางพาราในตลาดโลกมีสัญญาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าวัคซีนไวรัสโควิด-19 จะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
สำหรับความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมองว่าด้วยกำลังการผลิตใหม่เข้ามาทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทเกิดโมเดลประหยัดจากขนาด (Economy of scale) ซึ่งจะเห็นชัดเจนมากในปี 64 ส่วนโครงสร้างการจำหน่ายสินค้าแบ่งเป็นในประเทศ 60% และต่างประเทศ 40%
นอกเหนือจากบริษัทขยายตลาดต่างประเทศเน้นไปที่ญี่ปุ่นและจีน ยังมีแผนขยายสินค้าเข้าสู่ตลาดอินเดียเพิ่มเติม เล็งเห็นถึงโอกาสเติบโตในอนาคตจากจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคนเท่ากับจีน และมีอัตราการบริโภครถยนต์เกือบใกล้เคียงกับจีนเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทสามารถเข้าไปเปิดตลาดในอินเดีย