เปิดโผ 4 หุ้นไทย รับอานิสงส์เศรษฐกิจ “สหรัฐฯ” โตแรงรอบ 37 ปี

เปิดโผ 4 หุ้นไทย รับอานิสงส์เศรษฐกิจ “สหรัฐฯ” โตแรงรอบ 37 ปี


นักเศรษฐศาสตร์จากหลากหลายสำนักต่างลงความเห็นว่า ในชาวงปี 2564 เศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาจะเติบโตสูงสุดในรอบ 37 ปี หลังสภาคองเกรสอนุมัติแผนใช้จ่ายงบประมาณอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกันไว้รัสโควิด-19 ให้กับประชาชนที่ทำได้รวดเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

โดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ จะเติบโตเป็น 6.4% จากเดิมช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาคาดเติบโต 5.1% สาเหตุมาจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุก และความคืบหน้าในเชิงบวกของการฉีดวัคซีน

ส่วน “เจพี มอร์แกน”  ประเมินว่า จีดีพี สหรัฐฯ ปีนี้จะเติบโตระดับ 6.5% โดยมองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตมากเป็นพิเศษในปีนี้และปีหน้า หลังสภาคองเกรสอนุมัติแผนใช้จ่ายงบประมาณอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนที่ทำได้รวดเร็วกว่าเป้าหมาย โดยในปัจจุบันชาวอเมริกัน 1 ใน 5 คนได้รับวัคซีนครบแล้ว มีการยกเลิกมาตรการต่างๆ มากขึ้น ประชาชนเริ่มเดินทางมากขึ้น ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านและเข้าพักในโรงแรมมากขึ้น

สอดคล้องกับ “แบงก์ ออฟ อเมริกา” ที่ระบุว่า มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 67% ในช่วงระหว่างปลายเดือนมี.ค. – ปัจจุบัน โดยชาวอเมริกันมีเงินในบัญชีธนาคารประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ มาจากการออมและจากเช็กที่ได้จากรัฐบาล ซึ่งไม่เคยมีเงินขนาดนี้ก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา และเงินดังกล่าวเริ่มไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้จ้างงานในเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 916,000 ตำแหน่ง ซึ่งมากกว่าที่คาด โดยข้อมูลการเปิดรับสมัครงานของกระทรวงแรงงานมีการเปิดรับ 7.4 ล้านตำแหน่งเมื่อปลายเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ ม.ค.62 และสูงกว่าระดับก่อนการระบาด 5.1%

ขณะเดียวกัน นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่า จีดีพีสหรัฐฯ ปีนี้จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 6.5% สูงสุดในรอบ 37 ปี ซึ่งมีปัจจัยหนุนหลักคือแผนใช้จ่ายงบประมาณอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะการจ่ายเช็คเงินสดช่วยเหลือประชาชนจำนวน 1,400 ดอลลาร์ มูลค่ารวมประมาณ 4.1 แสนล้านดอลลาร์ จะช่วยทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง เห็นได้จากการดำเนินมาตรการจ่ายเช็คเงินสดช่วยเหลือในรอบแรกจำนวน 900 ดอลลาร์ ที่ส่งผลให้ดัชนีค้าปลีกสหรัฐ (Retail & food services, total) ในเดือน ม.ค.64 ขยายตัวถึง 9.5% โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง เช่น เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม และยารักษาโรคและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เป็นต้น

ขณะที่ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนสามารถทำได้รวดเร็วกว่าเป้าหมายเดิมค่อนข้างมาก ณ 2 เม.ย. ฉีดไปแล้ว 153.6 ล้านโดส หรือมีอัตราส่วนการได้รับวัคซีนอยู่ที่ 23.6 คน ต่อประชากร 100 คน จากผลของความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มทยอยกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น

นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ ยังประเมินว่า ด้วยปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดังกล่าว จะส่งผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากคาดการว่า แนวโน้มการส่งออกไปสหรัฐฯ จะเติบโตถึง 6% สูงสุดในรอบ 30 ปี

โดยผู้อำนวยการ สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะส่งผลดีต่อการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยประเมินว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ จะเติบโตถึง 6% สูงสุดในรอบ 30 ปี สะท้อนจากช่วง 2 เดือนแรกของปี 64 มีมูลค่า 5,943 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวสูงถึง 16.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวในระดับ 2 หลัก เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน

นอกจากนี้ พบว่า 44.2% ของมูลค่าสินค้าไปสหรัฐฯ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสินค้าสำคัญ เช่น อุปกรณ์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์, รถยนต์, เครื่องปรับอากาศ, รถจักรยานยนต์, ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง, เฟอร์นิเจอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วน นายนพดล ทองมี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ค ประเมินว่า การส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ จะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ สินค้าอาหารเกษตรและอาหารแปรรูป, สินค้าอาหารทะเลและสินค้าแปรรูปแช่แข็ง, ธุรกิจบริการร้านอาหารในรูปแบบ Takeout/Delivery, สินค้าในกลุ่มสันทนาการ และกลุ่ม Digital Content เป็นต้น

เช่นเดียวกับ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และอดีตรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดหลักของไทย มีสัดส่วนตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทย 14.89% ของการค้าต่างประเทศทั่วโลก โดยโอกาสการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะยังสดใสต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบด้านการขนส่งจากการแพร่ระบาดโควิด-19 บ้าง แต่คาดว่าจะคลี่คลายได้ตามลำดับ เนื่องจากขณะนี้สหรัฐเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากที่สุดในโลก ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวนมากที่ธุรกิจมีสัดส่วนรายได้จากสหรัฐ โดยมี 4 บจ. ที่น่าจับตามอง ได้แก่ TU, EPG, WICE และ ECF

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง โดยเน้นอาหารทะเล ยอดขายปี 63 อยู่ที่ 1.32 แสนล้านบาท มาจากสหรัฐฯ และแคนาดา ถึง 43% รองลงมาคือยุโรป 29% อื่น ๆ 18% และ ไทย 10%

บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายฉนวนยางกันความร้อนและความเย็น ภายใต้เครื่องหมายการค้า “AEROFLEX”, ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ชิ้นส่วนตกแต่งรถยนต์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “AEROKLAS” รวมถึงผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้เครื่องหมายการค้า “EPP”

โดยข้อมูลงบการเงินงวด 9 เดือนปี 63/64 (สิ้นสุด มี.ค.) มีรายได้จาการขาย 6,875 ล้านบาท มาจาก 1.แบรนด์ “AEROKLAS” ยอดขาย 3,126 ล้านบาท มีสัดส่วนจากต่างประเทศถึง 76% โดยมีฐานอยู่ที่ สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, มาเลเซีย และ อเมริกาใต้ 2.แบรนด์ “AEROFLEX” ยอดขาย 1,921 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนจากต่างประเทศถึง 69% โดยมีฐานอยู่ที่ สหรัฐฯ, อินเดีย และจีน 3.แบรนด์ “EPP” ยอดขาย 1,828 ล้านบาท มีสัดส่วนจากต่างประเทศ 5.8% มีฐานอยู่ที่ออสเตรีเลย, สหรัฐฯ และ ยูเออี

บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศทั้งทางทะเลและทางอากาศแบบครบวงจร (International Logistics Services and Solutions Provider) ทั้งการนำเข้าและส่งออก และการให้บริการด้านพิธีการศุลกากร และการขนส่งในประเทศ ข้อมูลงบปี 63 มีรายได้รวม 3,996 ล้านบาท เป็นรายได้จากต่างประเทศ 3,067 ล้านบาท สัดส่วน 77% และมาจากสหรัฐฯ สัดส่วน 31%

บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์จากไม้ปาร์ติเคิลบอร์ดและไม้ยางพารา กระดาษปิดผิว ไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้ง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ และเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์อันดับต้นๆ ของประเทศไทย ปี 63 มีรายได้จากการขายสุทธิ 1,384 ล้านบาท โดยมาจากต่างประเทศถึง 869 ล้านบาท หรือ 62% โดยมีรายได้จากสหรัฐถึง 103 ล้านบาท สัดส่วน 12%

Back to top button