SCGP คาดผลงาน Q2 โตต่อ รับดีมานด์ตลาดตปท.สูง-ลุ้นปิดดีลเวียดนามกลางปี
SCGP มองแนวโน้มผลงาน Q2 โตต่อเนื่อง หลังไตรมาส 1 โตแกร่ง รับดีมานด์ตลาดตปท.สูง-ลุ้นปิดดีลเวียดนามกลางปี
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า แนวโน้มในช่วงไตรมาส 2/64 ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ยังอยู่ในระดับที่สูง จากคำสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์ของกลุ่มลูกค้าหลักในกลุ่มสินค้า Consumer เข้ามาในระดับที่สูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่สถานการณ์แพร่รระบาดโควิด-19 ชะลอตัวลง และมีการเร่งฉีดวัคซีนแล้ว เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศหลักที่บริษัทมีฐานการผลิตอยู่
ขณะเดียวกันแนวโน้มการฟื้นตัวของการบริโภคเริ่มกลับมามากขึ้น และยังมีการซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยมากขึ้น ทำให้กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเพื่อสุขอนามัย มีการเติบโตที่ดี ทำให้บริษัทได้รับอานิสงส์จากการสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์จากผู้ผลิตในกลุ่มสินค้าดังกล่าวไปด้วย โดยที่คาดว่ารายได้ในช่วงไตรมาส 2/64 จะใกล้เคียงกับไตรมาส 1/64 ที่ทำได้ 2.7 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ภายหลังจากที่บริษัทเน้นการขยายตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในอาเซียนที่เป็นเป้าหมายหลักในการขยายตลาด ทำให้สัดส่วนรายได้ของบริษัทในช่วงไตรมาส 1/64 ที่ผ่านมา รายได้ที่มาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 51% มากกว่าสัดส่วนรายได้ที่มาจากประเทศไทยที่มีสัดส่วนลดลงเป็น 49% เป็นครั้งแรก ซึ่งสะท้อนทิศทางของธุรกิจที่เน้นการขยายและสร้างฐานลูกค้าในต่างประเทศมากขึ้น และเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ อย่างในปัจจุบันที่ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้ธุรกิจในประเทศอาจจะมีการกระทบมาก แต่การที่มีสัดส่วนรายได้ในประเทศที่ลดลงไป ส่งผลให้ผลกระทบจากในประเทศไม่ได้มีผลกระทบมาก และได้รับอานิสงส์บวกจากการกลับมาฟื้นตัวขึ้นของตลาดในต่างประเทศที่เข้ามาช่วยหนุนภาพรวมของผลการดำเนินงานในปี 64 และยังมั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้แตะ 1 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะเน้นไปที่ธุรกิจปลายน้ำ ซึ่งเป็นแผนการขยายธุรกิจของบริษัท โดยที่ดีลการเข้าถือหุ้น 70% ใน Duy Tan ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกแปรรูปในเวียดนาม บริษัทมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 64 และจะเข้ามาหนุนผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยที่บริษัทยังมีวงเงินลงทุนเหลือ 9 พันล้านบาท ที่มาใช้รองรับในการปิดดีลเข้าซื้อ Duy Tan เวียดนาม และยังมองโอกาสในการเข้าลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆในอาเซียนเพิ่มเติม
นอกจากนี้บริษัทยังมีการขยายกำลังการผลิตรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ทั้งในไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยที่โรงงานในอินโดนีเซีย ได้ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษเพิ่มอีก 400,000 ตัน/ปี และเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ไปแล้วในช่วงเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งจะเข้ามาหนุนรายได้ในช่วงไตรมาส 2/64 ส่วนโรงงานในฟิลิปินส์ อยู่ระหว่างการเตรียมสั่งซื้อเครื่องจักรเข้ามาติดตั้งขยายกำลังหารผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษเพิ่มอีก 220,000 ตัน/ปี จะเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4/64 และโรงงานผลิตในไทยจะเพิ่มกำลังการผลิตกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่มีความยืดหยุ่นอีก 53 ล้านตารางเมตร/ปี จะเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 4/64 ซึ่งหากกำลังการผลิตแห่งใหม่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้เต็มปีจะสร้างรายได้เข้ามาเต็มปีในปี 65 ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทยังมองถึงปัจจัยบวกของการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 หากสามารถมีการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว จะเป็นผลบวกให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาได้เร็วมากขึ้น จากความมั่นใจในการเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มลูกค้าท่องเที่ยวถือว่าได้หายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเดิมถือว่ากลุ่มลูกค้าในธุรกิจท่งอเที่ยวมีความต้องการสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์เป็นจำนวนมากรองจากกลุ่มลูกค้า Consumer หากการเปิดประเทศที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง จะเป็นปัจจัยหนุนให้กับผลงานของบริษัทให้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ โดยที่ปัจจุบันบริษัทยังคงหวังการเร่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วขึ้น เพื่อทำให้สามารถเปิดประเทศได้อีกครั้ง
ส่วนทิศทางราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์เร่งปรับตัวสูงขึ้น ยอมรับว่ามีผลต่อการปรับตัวขึ้นของราคาขายที่สูงขึ้นตาม และอาจจะกระทบต้นทุนของบริษัทบ้าง แต่บริษัทยังคงควบคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริหารจัดการการสั่งซื้อวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์ และการผลิตที่พยายามให้กำลังการผลิตให้มากที่สุด ทำให้บริษัทเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) และลดค่าใช้จ่ายบางอย่างลง ทำให้บริษัทสามาถรควบคุมต้นทุนได้ดี และไม่ปรับเพิ่มราคาขายให้สูงมาก ทำให้ลูกค้ายังสั่งซื้อบรรจุภัณณฑกับบริษัทต่อเนื่อง และทำให้มาร์จิ้นของบริษัทยังสามารถทรงตัวอยู่ได้ในระดับ 20% ซึ่งทำให้บริษัทยังคงมีความสามารถในการทำกำไรที่ดี