3 แบงก์แบไต๋ Q3 ขาดทุน 2 หมื่นล้าน?
SCB-KTB-TISCO โดนพิษ SSI ตั้งสำรองหนี้ Q3 เพิ่มอีกรวมกว่า 20,000 ลบ. ฟากนักวิเคราะห์คาดกำไร Q3/58 ทั้ง 3 แบงก์อ่อนแอ มีแววฉุดกำไรทั้งปีแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีข่าวบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ที่ต้องปิดโรงงานถลุงเหล็กใน UK ซึ่งมีผลต่อเจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้รายใหญ่ 3 ราย คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของ SSI และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของ SSI และบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO
โดยธนาคารทั้ง 3 แห่งจะทำการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นให้เต็มจำนวน 100% ซึ่งจะมีการตั้งสำรองภายในไตรมาส 3/58 จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรในไตรมาสดังกล่าวเป็นอย่างมาก
ด้าน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ระบุว่า ยอดหนี้รวมของ SSI และบริษัทย่อยในประเทศอังกฤษคิดจากจำนวนเงินรวมกันกว่า 22,000 ล้านบาท
สำหรับเงินกู้ที่ให้แก่บริษัทย่อยในประเทศอังกฤษนั้นจะมีการตั้งสำรองเต็มจำนวนโดยอยู่บนสมมุติฐานว่าหลักประกันที่มีอยู่จะถูกตีมูลค่าเป็นศูนย์ ในขณะที่ SSI ในฐานะบริษัทแม่ในประเทศไทยจะถูกตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนถึงการลดลงในมูลค่าหลักประกันที่มีอยู่เนื่องจากบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ทั้งนี้ การตั้งสำรองหรือตัดหนี้สูญของ SSI และบริษัทในเครือจะมีกจำนวนรวมกันประมาณ 10,000 ถึง 11,000 ล้านบาท
ขณะที่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ระบุว่า ธนาคารได้มียอดหนี้รวมแก่ SSI และบริษัทย่อยในประเทศอังกฤษ รวม 22,908 ล้านบาท ณ 30 มิถุนายน 2558 ธนาคารได้มีการตั้งสำรองสำหรับยอดหนี้ที่ให้แก่บริษัทย่อยในประเทศอังกฤษ ครบถ้วนเต็มจำนวน
โดยมีสมมติฐานที่ว่าสามารถใช้เครื่องจักรเป็นหลักประกันได้โดยใช้มูลค่าตามราคาตลาด อย่างไรก็ดีเมื่อบริษัทย่อยในประเทศอังกฤษ หยุดดำเนินการชั่วคราว ธนาคารจึงพิจารณาตั้งสำรองเพิ่มเติมโดยมีสมมติฐานว่าหลักประกันที่มีอยู่ถูกตีมูลค่าเป็นศูนย์
ขณะที่บริษัทในประเทศไทยจะถูกตั้งสำรองเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อสะท้อนภาระในฐานะผู้ค้ำประกันบริษัทย่อยที่หยุดการผลิตชั่วคราว และธนาคารได้มีการตั้งสำรองสำหรับยอดหนี้สุทธิของบริษัทและบริษัทย่อยในประเทศอังกฤษ ไปแล้วร้อยละ 54 โดยธนาคารมีภาระการกันสำรองเพิ่มเติมจำนวนประมาณ 9,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามกรณีนี้จะส่งผลให้อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ลดลงจากร้อยละ 124 ณ 30 มิถุนายน 2558 เป็นร้อยละ 92 ดังนั้น ในไตรมาสที่ 3/2558 ธนาคารจะพิจารณาตั้งสำรองทั่วไปเพิ่มเติมเพื่อรักษาระดับ Coverage Ratio ให้ไม่ตํ่ากว่า ร้อยละ 100 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ความระมัดระวังต่อไป โดยการตั้งสำรองเพิ่มดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 3/58 ประมาณ 6,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ระบุว่า ธนาคารเป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ SSI และบริษัทย่อย สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค (SSI UK) โดยเป็นยอดหนี้รวมของธนาคารทิสโก้ประมาณ 4.4 พันล้านบาท แบ่งเป็น SSI จำนวน 821 ล้านบาท และ SSI UK จำนวน 100 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 3,570 ล้านบาท
โดยธนาคารได้ทยอยตั้งเงินสำรองหนี้สูญเพื่อรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นมาโดยตลอด โดยจะตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีก 1,400-1,500 ล้านบาทให้ครบ 100% ในไตรมาสที่ 3 นี้ การตั้งสำรองดังกล่าวเป็นการตั้งสำรองโดยหักมูลค่าหลักประกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยหลักประกันในส่วนของ SSI UK จะกำหนดให้มีมูลค่าเป็นศูนย์เนื่องจากไม่สามารถประเมินราคาได้อย่างชัดเจนในภาวะปัจจุบัน ภาระการตั้งสำรองดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานประจำปีของบริษัทบ้างแต่ไม่เป็นนัยสำคัญ
เนื่องจากได้กันเงินสำรองไปก่อนหน้านี้แล้วอย่างเพียงพอ ประกอบกับภาวะคุณภาพสินทรัพย์สินส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อที่มีแนวโน้มดีขึ้นทำให้ภาระการกันเงินสำรองที่เกี่ยวข้องลดลง นอกจากนี้บริษัทยังมีการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ที่จะสามารถสนับสนุนผลการดำเนินงานได้
ทั้งนี้การตั้งสำรองในไตรมาส 3/58 ของ SCB จะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ถึง 11,000 ล้านบาท ส่วน KTB ตั้งสำรองเพิ่มส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 3/58 ประมาณ 6,000 ล้านบาท และTISCO จะตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีก 1,400-1,500 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเหมือนจะเป็นการส่งสัญญาณว่าทั้ง 3 ธนาคารอาจจะมีผลขาดทุนในไตรมาส 3/58 สูงถึง 20,000 ล้านบาท
ฝ่ายวิเคราะห์บล.ธนชาต ระบุในบทวิเคราะห์ (22 ก.ย.) ว่าหุ้นในกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้เรียกร้องเรียกให้ SSI UK ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ตามเงื่อนไขการกู้เงิน SSI UK ถูกเรียกให้ชำระหนี้ KTB, SCB และTISCO เรียกค้ำประกันจาก SSI เป็นไปตามคาด
ทั้งนี้ธนาคารจะตั้งสำรองหนี้ของ SSI เพิ่มเป็น 100% คาดกำไรไตรมาส 3/58 จะอ่อนแออย่างมาก โดยการตั้งสำรองนี้จะส่งผลกระทบต่อกำไรไตรมาส 3/58 และสำรองดังกล่าวคิดเป็น 24% ของกำไรของ KTB และ 25% ของกำไรของ TISCO และ 17-19% ของประมาณการกำไรทั้งปีสำหรับ SCB ที่ 51.3 พันล้านบาท เนื่องจาก SCB จะรับรู้กำไรจากการลงทุน 7-8 พันล้านบาท ผลกระทบทางลบที่มีต่อกำไรจึงน้อยกว่าของ KTB และ TISCO
ส่วน SSI จะเข้าสู่แผนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งได้แก่แผนการเลิกกิจการโรงงานในสหราชอาณาจักร และชำระหนี้บางส่วน จากนั้นคาดว่าผู้ให้กู้จะแปลงหนี้เป็นทุน และ 3 ธนาคารจะดูแลการดำเนินงานของ SSI จนกว่าบริษัทจะสามารถคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้
ทั้งนี้กรณี SSI จะทำให้เซนติเมนต์การลงทุนใน KTB ,SCB และ TISCO เป็นลบ แม้ไม่คาดว่าจะมีการตั้งสำรองเพิ่มเติมไปอีก แต่ SSI ทำให้ฐานะการเงินของธนาคารมีคุณภาพที่แย่ลง (NPL เพิ่มขึ้น และมี loan loss coverage ratio ที่ต่ำลง)
*ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน