“ไอพีโอ” น้องใหม่ NSL เทรดวันแรกลุ้นชนเป้า 15.70 บ. ชูพื้นฐานแกร่ง ช่องทางขายเพียบ

NSL ผู้ผลิตแซนด์วิชขนมขบเคี้ยวจำหน่ายในร้าน 7-11 พร้อมเข้าเทรดวันนี้ ด้วยราคาไอพีโอ 12 บ. ฟากโบรกให้เป้า 15.70 บ. มองพื้นฐานแกร่ง กำไรปี 64-66 โตเฉลี่ย 19% ต่อปี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ หลักทรัพย์ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NSL จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นวันแรก ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดอาหารและเครื่องดื่ม

ทั้งนี้ NSL มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 225 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 75 ล้านหุ้น เสนอขายต่อบุคคลทั่วไป 53 ล้านหุ้น ผู้ลงทุนสถาบัน 7 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการะคุณของบริษัท 10 ล้านหุ้น และพนักงานบริษัทฯ 5 ล้านหุ้นในระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤษภาคม 2564 ในราคาหุ้นละ 12 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 900 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 3,600 ล้านบาท

โดยราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 24 เท่า โดยคำนวณจากผลประกอบการของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563) ซึ่งเท่ากับ 151.4 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขาย IPO คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (fully diluted EPS) เท่ากับ 0.50 บาท โดยมีบริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัดเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เป็นผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

ด้านนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับ บมจ. เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดอาหารและเครื่องดื่ม

โดย NSL ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป เช่น แซนด์วิชอบร้อน เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว วางจำหน่ายตามร้าน 7-11 และเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ ผักแช่แข็ง โดยแบ่งธุรกิจได้ 4 ประเภท ได้แก่ 1) เบเกอรี่แบรนด์ของ 7-11 ที่ NSL ผลิตให้ 2) แบรนด์ขนมขบเคี้ยวที่ NSL พัฒนาเอง 3) ธุรกิจ Food Service นำเข้าและแปรรูปเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักแช่แข็ง พร้อมนำไปประกอบอาหาร และ 4) รับจ้างผลิตเบเกอรี่ หรือ OEM

ด้านนายสมชาย อัศวปิยานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NSL เปิดเผยว่า NSL มุ่งเน้นผลิตสินค้าเบเกอรี่ให้แก่ร้าน 7-11 ทั่วประเทศและพัฒนาสินค้าในแบรนด์ของ NSL เอง เพื่อให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบสนองทุกช่วงวัยของชีวิต บริษัทฯ มีแผนงานที่จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทฯ

โดยบริษัทจะลงทุนในเครื่องจักรและก่อสร้างอาคารโรงงานแห่งใหม่ซึ่งจะเน้นการผลิต 3 ผลิตภัณฑ์ใหม่ได้แก่ อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน อาหารพร้อมรับประทานแบบไม่ต้องแช่เย็น และอาหารแห้งกึ่งสำเร็จรูป โดยมุ่งเน้นตลาดในประเทศเป็นหลักและขยายสู่ตลาดทั่วโลกต่อไป นอกจากนี้ เงินที่ได้จากการระดมทุนยังจะช่วยปรับโครงสร้างทางการเงินจากการชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ NSL มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 50% โดยพิจารณาจากงบการเงินเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย ทั้งนี้ อาจพิจารณาจ่ายเงินปันผลแตกต่างไปจากนโยบายที่กำหนดไว้ได้ ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ สภาพคล่องทางการเงิน ความจำเป็นและความเหมาะสมอื่นใดในอนาคต และปัจจัยอื่นๆ

พร้อมกันนี้ หลังขายไอพีโอ NSL จะมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรก ได้แก่ นายสมชาย อัศวปิยานนท์ ถือหุ้น 75% นางสาวจุไรลักษณ์ เจียมวงษา ถือหุ้น 0.72% และนายอรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย ถือหุ้น 0.56%

ด้านบล.ฟินันเซีย ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาเป้าหมายปี 2564 เท่ากับ 15.7 บาท อิงวิธี Relative PE ที่ 21 เท่า เทียบเคียงกับ PE เฉลี่ยของ TACC แม้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่ม ต่างจาก NSL ที่เป็นกลุ่มอาหาร แต่ทั้ง 2 บริษัทมีโมเดลธุรกิจคล้ายคลึงกัน

ทั้งนี้ที่ Target PE 21 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มอาหาร Food Processor ที่ 17.5 เท่า แต่มองเหมาะสมกับ NSL ที่มีจุดแข็งจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีมายาวนานกับ CPALL และมีช่องทางการจำหน่ายทั่วประเทศ ถือเป็นข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่ง และหากเทียบกับ อัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ย 3 ปี สามารถ Implied เป็น PEG อยู่ที่เพียง 1.2 เท่า

ดังนั้นคาดกำไรสุทธิปี 2564 จะกลับมาโตราว 49.3% จากปีก่อน เป็น 226 ล้านบาท และคาดกำไรปี 2564-66 จะโตเฉลี่ยปีละ 19.1% CAGR

ขณะที่จุดแข็งคือความเชี่ยวชาญในธุรกิจ และมีช่องทางจำหน่ายมากสุดในไทย บริษัทถือเป็นผู้พัฒนาและผลิตแซนด์วิชอบร้อนประกอบเสร็จเจ้าแรกได้เริ่มจำหน่ายให้กับ CPALL ตั้งแต่ปี 2552 ถือว่ามีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี บริษัทมีสัดส่วนรายได้ขายให้กับ CPALL ราว 94.3% ของรายได้ปี 2563 ซึ่งมองเป็นจุดแข็งของบริษัทจากการมีช่องทางการจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อที่มีสาขามากที่สุดในไทยราว 1.2 หมื่นสาขา และยังมีแผนเปิดสาขาใหม่ปีละไม่น้อยกว่า 700 สาขา ขณะที่มีการปิดความเสี่ยงด้วยการเซ็น MOU ทำข้อตกลงทางการค้ากับ CPALL ฉบับปัจจุบัน ครอบคลุมเวลา 7 ปีไปจนถึงปี 2569 และยังมีแผนเพิ่มสัดส่วนรายได้ Non 7-11 ให้ มากขึ้นโดยมีเป้าหมายที่ 30% ของรายได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า

Back to top button