SPCG คาดผลงานไตรมาส 2 โต! รับยอดติดตั้งโซลาร์รูฟพุ่ง หนุนรายได้ปีนี้ 5.5 พันลบ.
SPCG ร่วมงาน Opportunity Day มองแนวโน้มผลงานไตรมาส 2 โต! หลังยอดติดตั้งโซลาร์รูฟพุ่ง-คงเป้าพอร์ตไฟฟ้าแตะ 5 พันเมกฯ ในปี 80
น.ส.รุ่งฟ้า ลาภยืนยง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชี และการเงิน บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG นำเสนอข้อมูลสรุปผลประกอบการไตรมาส 1/2564 สิ้นสุด 31 มี.ค.2564 และเปิดเผยแผนดำเนินการในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 24 พ.ค.2564
โดยเปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2564 มีรายได้รวมจากการขายและให้บริการราว 1,172.7 ล้านบาท ลดลง 19% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 1,454.7 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทฯ มีกำไรสุทธิได้ 782.3 ล้านบาท ลดลง 7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรอยู่ 837.8 ล้าน สาเหตุรายได้ปรับตัวลงเป็นผลจากเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จำนวน 8 บาทต่อหน่วย บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (สกลนคร 1) จำกัด ที่มีกำลังผลิตราว 7.46 เมกะวัตต์ (ซึ่งเป็น 1 ใน 36 โซลาร์ฟาร์มของบริษัท ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564
นอกจากนี้บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR (บริษัทในเครือ SPCG) มีรายได้ที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ลูกค้าชะลอการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof)
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 จะเติบโตกว่าไตรมาส 1 ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงดังกล่าว ขณะที่มองว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 จะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป โดยคาดการณ์รายได้จากโซลาร์บนหลังคาทั้งปีที่ระดับ 700 ล้านบาท เติบโตทั้งจากไตรมาสก่อน และจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน
“ผลประกอบการไตรมาส 2 จะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังจากที่บริษัทฯ ได้มีการขยายการติดตั้งโซลาร์รูฟเป็นจำนวนมาก โดยการติดตั้งโซลาร์รูฟร่วมกับการทำลิสซิ่งทำให้มีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาติดตั้งเพิ่มขึ้น” น.ส.รุ่งฟ้า ลาภยืนยง กล่าว
ขณะที่บริษัทมีการตั้งเป้าหมายรายได้รวมปี 2564 อยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท โซลาร์ฟาร์มผลิตจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 385 ล้านหน่วย โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายลงทุนโครงการใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับโซลาร์ฟาร์มบนพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยบริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวน 300 เมกกะวัตต์ และในปี 2566 จะสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ได้ครบจำนวน 500 เมกกะวัตต์ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4/2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้แผนงานล่าช้าออกไปเล็กน้อย
ด้าน นายพิพัฒน์ วิริยธรานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน SPCG เปิดเผยว่า สำหรับแผนการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคตนั้น ยังคงเป้าหมายมีกำลังการผลิต 5,000 เมกกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2580 โดยบริษัทฯ ได้มุ่งเน้นดำเนินโครงการพลังงานสะอาด โดยเน้นธุรกิจโซลาฟาร์มเป็นหลัก และโซลาร์รูฟเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีโครงการในประเทศไทยทั้งหมด 36 โครงการ และอยู่ระหว่างการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น โครงการคุกิชิมะ 480 เมกกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง